• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการหวัด

อาการหวัด


อาการหวัดเป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และตลอดปี ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อาการที่พบบ่อย คือ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อาจจะมีไข้ต่ำๆ และมักหายไปภายในเวลา 2-3 วัน เมื่อได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาการหวัดไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีไข้สูง และรุนแรงจนล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกไม่ขึ้น และอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

ต้นเหตุของอาการหวัดยังไม่ทราบกันดี มักเกิดในเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็น ไปตากลมเปียกฝน อาบน้ำตอนดึก นอนไม่ห่มผ้า จนแทบเรียกได้ว่า อาการหวัดมักจะมาเยือนเมื่อร่างกายไม่แข็งแรง ทางการแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่า สาเหตุของอาการหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งและเป็นโรคติดต่อ เชื้อไวรัสเป็นกาฝากที่ต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเพื่อขยายพันธุ์ เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มักชอบลงไปในเซลล์กล้ามเนื้อทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ถ้าไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการไม่สบาย มักจะถูกวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเสมอๆ ซึ่งอาจเป็นข้อดี เพราะอย่างน้อยมีตัวต้นเหตุที่ถูกกล่าวหาได้ ทำให้แพทย์สบายใจและผู้ป่วยสบายใจ แต่เนื่องจากยังไม่มียาตัวใดฆ่าเชื้อไวรัสได้ การรักษาจึงมุ่งไปตามอาการของโรคเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีเป็นหวัด ถ้ามีไข้ก็ให้กินยาลดไข้ น้ำมูกไหลก็กินยาลดน้ำมูก คัดจมูกก็กินยาให้จมูกโล่ง ปวดเมื้อยกล้ามเนื้อก็กินยาแก้ปวด

ทางการแพทย์แผนโบราณเชื่อกันว่าต้นเหตุของอาการหวัด คือ รูขุมขนขยายตัว มีการแทรกแซงจากพิษหรืออากาศภายนอก การรักษาจึงมุ่งไปทางให้เหงื่อออกด้วยการกินของร้อนๆ ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น โดยเฉพาะบริเวณคอและหัวไหล่ ห้ามอาบน้ำ ห้ามโดนลม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนๆ เดียวกันเมื่อมีอาการมาจากหวัดจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันและไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยทางฝ่ายแพทย์ตะวันตกมองว่า ต้นเหตุคือเชื้อไวรัส และฝ่ายแพทย์แผนตะวันออกมองว่า เป็นการแทรกแซงของอากาศ ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ อาการหวัดอาจเป็นเครื่องบ่งบอกว่าร่างกายไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สมดุลกัน คือ เกิดการขาดดุลระหว่างภายในและภายนอกของร่างกาย ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในเรื่องของอุณหภูมิ

ปัจจัยที่สำคัญ คือ ร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์ และมีพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่งกายไม่ถูกกาลเทศะ อาบน้ำผิดเวลา ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้น เมื่อสภาพภายนอกมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกกะทันหัน อากาศเปลี่ยนแปลงจากร้อนกลายเป็นเย็นอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบการรักษาความสมดุลภายในร่างกายปรับตัวไม่ทัน เชื้อไวรัสซึ่งฝังตัวอยู่ในฝุ่นละอองในดิน ในอากาศ จึงแทรกเข้าสู่ร่างกายโดยทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รูขุมขน บนผิวหนัง หรือแม้แต่ที่อยู่ในร่างกายแล้ว เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความบกพร่อง เชื้อไวรัสจึงเข้าไปอยู่ในเซลล์ได้อย่างง่ายดายและแบ่งตัวขยายพันธุ์ โดยอาศัยอาหารในเซลล์ และกลไกของเซลล์เป็นตัวช่วย

ดังนั้น ไม่ว่าการรักษาที่มุ่งเน้นอาการที่เกิดขึ้นก็ดี การรักษาที่มุ่งเน้นในการกระตุ้นให้เหงื่อออกเพื่อขับพิษของเชื้อไวรัสออกก็ดี ล้วนแต่แก้ที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างเสริมภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ดังนั้น ในช่วงเป็นหวัดต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ นอนในอากาศที่ถ่ายเทสะดวก แต่มีอุณหภูมิพอเหมาะ

การนอนในห้องปรับอากาศมีแต่จะทำให้อาการหวัดหายช้าลง เพราะอากาศไม่ถ่ายเท และเต็มไปด้วยเชื้อโรค กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที เช่น อาหารพวกแป้ง และซุปเนื้อ ลดอาหารไขมันลง กินผักสดให้มากขึ้น เพราะวิตามิน และเกลือแร่ กินผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม มะนาว เครื่องดื่มไม่ควรเย็นเกินไป เพราะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ปัสสาวะมากและบ่อยขึ้น การที่เหงื่อออกเป็นเรื่องดีแต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงเป็นหวัด เพราะอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ การอบไอน้ำหรือแช่น้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้โดยไม่ต้องกินยาแก้ปวด การอาบน้ำเย็นในช่วงดึก เวลากลางคืน หรือเช้าตรู่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอุณหภูมิกายในช่วงเวลากลางคืนจะลดลงมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมาก ระบบต่างๆ ทำงานไม่สะดวก

การรักษาความสมดุลของร่างกายไม่ไห้สูญเสียความร้อนต่อสภาพแวดล้อมมากเกินไป และควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส โดยการใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นตอนกลางคืน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันและรักษาอาการหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลสื่อ

170-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข