• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การอาพาธของท่านพุทธทาสมหาเถระ

การอาพาธของท่านพุทธทาสมหาเถระ


ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนล่วงเข้ากลางเดือนมิถุนายน 2536 คนที่ป่วยแล้วดังที่สุด คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ ท่านอายุครบ 87 ปี เมื่อ 27 พฤษภาคม 2536 ภายในไม่ถึง 2 ปีหลังท่านอาพาธหนัก 3 ครั้ง คือ เมื่อ

27 ตุลาคม 2534 หัวใจวาย และน้ำท่วมปอด มีอาการหอบเหนื่อย

28 กุมภาพันธ์ 2535 เส้นเลือดในสมองอุดตัน มีอาการจำอะไรไม่ได้ชั่วคราว

25 พฤษภาคม 2536 เส้นเลือดในสมองแตก มีอาการไม่รู้สึกตัว

เกิดประเด็นว่า ควรหรือไม่ควรนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล และควรรักษาด้วยเครื่องไม้เครื่องมือมากน้อยเท่าใด เพราะท่านไม่ยอมไปโรงพยาบาลเมื่อคราวป่วยหนักครั้งตุลาคม 2534 โดยใช้คำว่า “ไม่หอบสังขารหนีความตาย”

ระหว่างที่ท่านนอนไม่รู้สึกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช สื่อมวลชนทำข่าวเกี่ยวกับท่านทุกวัน ลูกศิษย์ลูกหาก็แจกหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์เป็นการใหญ่ เรียกว่าขนาดไม่รู้สึกตัว ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ยังสอนธรรมะได้ มูลนิธิโกมลคีมทองได้พิมพ์หนังสือชื่อ ธัมมานุสติ : จากเจตนารมณ์ยามอาพาธของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อ 9 มิถุนายน 2536 และมีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 11 มิถุนายน 2536 โดยมีผู้อภิปราย 3 คน คือ ส.ศิวรักษ์ ประเวศ วะสี ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ โดยมีคุณอรศรี งามวิทยาพงศ์ และนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เป็นผู้ดำเนินรายการ เกี่ยวกับการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระมีประเด็นทางธรรมะทางการแพทย์ และทางสังคมวิทยามากหากนำมาทำความเข้าใจกันและแจ่มแจ้ง ก็จะเป็นการก้าวกระโดดทางสติปัญญาของทุกฝ่าย

นิตยสารหมอชาวบ้าน ดำเนินการโดยมิได้หวังผลกำไรทางการค้า คณะบรรณาธิการและผู้เขียนทุกท่านช่วยกันทำเป็นวิทยาทาน โดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะถ่ายทอดวิทยาการไปสู่ประชาชนมากที่สุด รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและเสียภาษีมอบให้แก่มูลนิธิหมอชาวบ้าน เพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ

ข้อมูลสื่อ

171-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
ศ.นพ.ประเวศ วะสี