• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กากใย-ไฟเบอร์ : อาหารต่ออาหาร

กากใย-ไฟเบอร์ : อาหารต่ออาหาร


“เมื่อคราวก่อนคุณหมอพูดถึงผักและผลไม้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา จึงอยากให้คุณหมอช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างหน่อยเถอะครับ” นายแดงปุจฉาขึ้นมาอีกครั้ง

“ข้อดีอันดับแรกสุด ก็คือ ผักและผมไม้ส่วนใหญ่กินมากเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เพราะให้พลังงานหรือแคลอรีน้อยมาก ไม่เหมือนอาหารพวกเนื้อ แป้ง น้ำตาล และไขมัน ที่ต้องกำจัดปริมาณให้พอเหมาะ” คุณหมอเริ่มสาธยาย

“คนที่ไม่อยากอ้วน หรือคนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนักก็ต้องหันมากินผักผลไม้ให้มากๆ ใช่ไหมครับ” นายแดงนึกถึงเจ้าลูกชาย อายุ 13 ปี หนัก 70 กิโลกรัม ที่นิยมกินอาหารฟาสฟู้ดแบบฝรั่ง เห็นทีจะต้องหาทางชักจูงให้หันมากินผักผลไม้ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเขาตั้งแต่เด็ก

“ถูกแล้วครับ” คุณหมอยืนยัน “แต่ต้องระวังอย่าเลือกกินแต่ผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย ผลไม้เชื่อมน้ำตาม เป็นต้น ขืนกินมากๆ ก็อาจอ้วนได้ครับ ทางที่ดีต้องเลือกกินผักผลไม้สดหลายๆ อย่างคละๆ กันไปในแต่ละมื้อ เรื่องนี้เคยมีแพทย์ไปศึกษาวิจัยกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ พบว่า มีน้ำหนักน้อยหรือผอมเกินไปด้วยซ้ำ แล้วยังพบว่า คนกลุ่มนี้มีระดับไขมันในเลือดต่ำอีกด้วย นี่ก็นับว่าเป็นข้อดีข้อที่สองของการรกินผักผลไม้ คือ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน”

“ข้อดีข้อที่สาม ก็คือ ผักผลไม้มีวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย และช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง สถิติทางการแพทย์พบว่า ฝรั่งที่นิยมกินอาหารพวกแป้ง ไขมัน และเนื้อสัตว์มาก แต่กินผักผลไม้น้อย ตายด้วยโรคหัวใจ และโรคมะเร็งกันมากมาย ในเวลานี้ฝรั่งจึงได้ตื่นตัวหันมากินอาหารธรรมชาติที่มีผักและผลไม้สดเป็นหลัก”

“ผักผลไม้ช่วยป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวารด้วย ข้อนี้อธิบายได้อย่างไรครับ” นายแดงสอดขึ้น

“ข้อนี้ก็เป็นประโยชน์ข้อที่สี่ของผักผลไม้” คุณหมออธิบายต่อ “เหตุผลก็คือ ผัก ผลไม้ ประกอบด้วยสารที่เป็นกากใยอยู่มาก ภาษาฝรั่งเรียกว่า ‘ไฟเบอร์’ (fiber) เป็นเส้นใยละเอียดเล็กๆ เมื่อกินเข้าไปกระเพาะลำไส้จะไม่ดูดซืมสารพวกนี้ แล้วถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ คนที่กินผักและผลไม้มากจะมีปริมาณอุจจาระมากและนุ่น ทำให้ท้องไม่ผูก ขับถ่ายง่าย เมื่อขับถ่ายคล่อง ไม่ต้องใช้แรงเบ่งมาก ก็ป้องกันโรคริดสีดวงทวารที่เกิดจากหลอดเลือดดำในทวารขอดและแตกปริเนื่องจากการเบ่งได้

“ตรงกันข้าม คนที่นิยมกินเนื้อกับแป้งมากๆ ซึ่งไม่มีกากใยไฟเบอร์ดังว่า อุจจาระมีปริมาณน้อยและเป็นก้อนแข็ง ขับถ่ายลำบาก ท้องผูก เป็นริดสีดวงทวารกำเริบได้บ่อย นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่กินผักผลไม้น้อยจะเป็นไส้ติ่งอักเสบและมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนที่นิยมกินผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์มาก”

“ฟังคุณหมออธิบายแล้วเพิ่งเข้าใจว่า ทำไมจึงมีการกล่าวขานว่าผักผลไม้เป็นอาหารต่ออายุ ทั้งนี้ก็เพราะมันมีวิตามิน เกลือแร่ และกากใยสูง แต่ให้แคลอรีต่ำ จึงสามารถป้องกันโรคอ้วน และโรคภัยได้มากมายหลายอย่าง ผมคิดว่าต่อไปจะต้องให้ลูกชายคนอ้วนของผมกินอาหารพวกนี้ให้มากๆ ขอปรึกษาว่าถ้าจะทำน้ำส้มคั้นกินเป็นประจำเลยดีไหมครับ” นายแดงปุจฉาต่อ

“การเอาส้มมาคั้นกินแต่น้ำนั้นดีเพียงครึ่งเดียว คือ ได้แต่วิตามินกับเกลือแร่ แต่ข้อดีอีกครึ่งหนึ่งที่เสียไปคือ ขาดกากใยไฟเบอร์ไป” คุณหมอตอบ “มีคนจำนวนมากเอาความสะดวกสบายเป็นที่ตั้ง ทำให้น่าเสียดายที่กินของดีไม่เป็น การกินส้มควรกินสดๆ ทั้งกาก จึงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่”

“ถ้าเช่นนั้นถ้าจะกินฝรั่ง พุทรา แตงกวา ก็ไม่ควรปอกเปลือก แต่ควรกินทั้งเปลือกเลยใช่ไหมครับ” นายแดงเริ่มเห็นคุณค่าของกากใยไฟเบอร์

“ถูกแล้ว ผักผลไม้ทุกชนิดควรกินสดๆ และถ้ากินทั้งเปลือกได้ก็ควรกินทั้งเปลือก เพียงแต่ต้องชะล้างให้สะอาดเสียก่อน” แล้วคุณหมอก็แกล้งพูดให้หัวเราะว่า “อย่างเช่นทุเรียนนี่ คงไม่มีใครมาซื้อไปกินทั้งเปลือกแน่นอน

นอกจากนี้กากใยไฟเบอร์ยังมีมากในเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ เมล็ดถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เมล็ดข้าวโพด เม็ดแมงลัก เมล็ดทานตะวัน ก็ควรหันมากินอาหารจำพวกนี้ให้มากขึ้นด้วย” คุณหมอกล่าวเพิ่มเติม

“คราวที่แล้วคุณหมอบอกว่า ถ้าต้องการกินฟาสต์ฟู้ดขอให้หันมากินข้าวโพดต้มสัก 2-3 ฟักแทนแฮมเบอร์เกอร์   ก็เพราะได้กากใยไฟเบอร์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนี่เอง” นายแดงเลยเกิดความคิดแว่บขึ้นว่า “ถ้าเช่นนั้นส้มตำอาหารพื้นบ้านไทยอีสานเราก็เป็นฟาสต์ฟู้ดชั้นดีราคาถูกน่ะสิครับ”

“ส้มตำจัดเป็นอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์สูงชนิดหนึ่ง นอกจากนี้อาหารพื้นบ้านไทย เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ ผักจิ้มน้ำพริก เหล่านี้ล้วนนับว่าเป็นอาหารต่ออายุทั้งสิ้น ดังนั้น จงภูมิใจกับอาหารไทยราคาถูกเหล่านี้เถิดครับ” คุณหมอกล่าวทิ้งทาย

ข้อมูลสื่อ

171-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
ภาษิต ประชาเวช