• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การครอบฟัน (ตอนที่ 1)

การครอบฟัน (ตอนที่ 1)
 

หลายท่านคงรู้จักครอบฟัน (crown) หรือเคยทำครอบฟันมาแล้ว ในการทำครอบฟันนั้นมีวัสดุหลายชนิดที่สามารถเลือกใช้ได้ตามความประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาจจะเป็นการลำบากที่จะจดจำได้ทั้งหมดสำหรับคนไข้อย่างเราๆท่านๆ บางครั้งบางท่านอาจปล่อยให้เป็นไปตามวิจารณญาณของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยฝ่ายเดียว พูดง่ายๆว่า ตัดปัญหายุ่งยากที่จะต้องขบคิดเอง หรือบางท่านอาจเกรงใจหมอ ไม่อยากซักไซ้ให้เป็นที่จุกจิกกวนใจ เสียเวลา แม้หมอเองอยากจะอธิบาย อยากแนะนำอย่างเต็มที่เต็มใจก็ตาม โบรารณท่านว่า ‘รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม’ ไอ้ความรู้นั้นยิ่งรู้มากยิ่งเบาสมองนะเออจะบอกให้ เอ้า! ก็รู้ย่อมดีกว่าไม่รู้ จะได้ไม่ต้องเสียรู้ยังไงล่ะ เพราะเวลาเสียรู้น่ะมันเบาสมองหรือเปล่าล่ะ นอกจากหนักสมองแล้วบางทียังพาลเจ็บอกเจ็บใจอีกด้วยมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นมาเรียนรู้กันสักหน่อยดีกว่านะครับ


ก่อนอื่นขอทบทวนวิธีการทำครอบฟันโดยย่อ เพื่อประกันความงงงันสำหรับบางท่านที่อาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน หรือบ้างก็ส่งกลับคืน(ลืม)ไปหมดแล้ว
การทำครอบฟันนั้นจะต้องเริ่มจากการเตรียมรูปร่างฟันที่จะทำการครอบให้ได้รูปโฉม และขนาดที่พอ เหมาะพอตัวก่อน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างฟันหน้าสักซี่หนึ่งดังภาพที่ 1  

                                                                             

 
จะเห็นว่าเนื้อฟันที่ถูกกรอออกโดยรอบ(บริเวณที่เป็นจุดประ) นั้นทำให้ฟันที่เหลืออยู่เล็กลงไปไม่น้อย ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้คือ
1. ให้ได้รูปร่างและขนาดของฟันที่ถูกครอบพอเหมาะ
2. ให้ได้เนื้อที่โดยรอบมากพอที่จะทำครอบฟันมาสวมแล้วมีคุณสมบัติดังนี้
ก. มีความแข็งแรงมากพอ
ข. มีความสวยงามทั้งรูปทรงและสีสัน(โดยเฉพาะฟันหน้า) ที่แลดูเป็นธรรมชาติ
ค. มีขนาดพอดี ไม่ป่องหรือแฟบไป เพื่อจะได้ไม่ก่อปัญหาให้กับเหงือกและอวัยวะข้างเคียง


ถ้าฟันที่เตรียมไว้มีขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองทางคือ ขนาดเล็กไป หรือขนาดใหญ่ไป ถ้าขนาดเล็กไปจะทำให้ฟันซี่นั้นไม่แข็งแรงพอ และอาจขาดความมั่นคงในการรองรับครอบฟันให้ติดแน่นอยู่ได้นานๆ เพราะครอบฟันจะยึดติดอยู่ได้นานเพียงใดนั้น อาศัยความฝืดจากพื้นผิวที่สัมผัสแนบสนิทกันของผิวด้านในของครอบฟันกับเนื้อฟัน ดังนั้น ฟันยิ่งเล็กพื้นผิวสัมผัสก็ยิ่งน้อย โอกาสที่ครอบฟันจะหลุดออกก็ย่อมมีมาก
ส่วนฟันที่มีขนาดโตเกินไป (หลังจากกรอเสร็จแล้ว) ก็มีข้อเสียคือ เนื้อของครอบฟันโดยรอบจะบางเกินไป อาจแตกหักง่ายเมื่อถูกบดเคี้ยว หรือหากจะทำให้มีเนื้อของครอบฟันหนา ก็จะทำให้ครอบฟันนั้นโตเกินไป ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือกและอวัยวะโดยรอบ ดังภาพที่ 2
 

                                  


การที่จะกรอฟันมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับขนาดของฟันที่จะกรอเป็นสำคัญ ซึ่งมีผลสืบเนื่องไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่จะทำครอบฟันด้วย
ถ้าฟันมีขนาดเล็กและสั้นมากเกินไป ก็ไม่ควรที่จะทำครอบฟัน เช่น ฟันที่มีความสูงจากขอบเหงือกเพียง 4-5 มิลลิเมตร เป็นต้น

ตำแหน่งของฟันก็มีส่วนสำคัญในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุเพื่อทำครอบฟันด้วยเช่นกัน สำหรับฟันหน้าซึ่งในที่นี้หมายถึงฟันทุกซี่ที่เห็นได้ชัดเจนโดยง่ายขณะยิ้มเต็มที่ ดังนั้นจึงอาจหมายถึงฟันกรามน้อยซี่ที่ 2 ด้วยในบางคนที่มีรอยยิ้มกว้าง มิใช่เพียงหมายครอบคลุมแต่ฟันตัดด้านหน้ากับฟันเขี้ยวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าความสวยงามแลดูเป็นธรรมชาติย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความแข็งแรง ทนทาน แต่สำหรับฟันที่อยู่ด้านใน ประเด็นเรื่องความสวยงามจะเป็นรอง ทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักจะเน้นเรื่องความแข็งแรงคงทนมากกว่า ดังนั้นวัสดุที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้ทำครอบฟันใน 2 กรณีดังกล่าวย่อมแตกต่างกันไปบ้าง

ฉบับหน้าเราค่อยมาว่ากันต่อถึงการพิจารณาเลือกใช้วัสดุในการทำครอบฟันนะครับ


                                                                                                                           (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

183-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 183
กรกฎาคม 2537