• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตั้งครรภ์กับฟันผุ

การตั้งครรภ์กับฟันผุ


ก่อนที่จะถึงเดือนแห่งวันแม่ คือ เดือนสิงหาคม เราน่าจะมาคุยเรื่องก่อนที่จะเป็นแม่ คือ ภาวะการตั้งครรภ์กันดีกว่า บรรดาคุณผู้ชายก็อ่านได้นะคะ อย่างน้อยก็เก็บไว้เป็นความรู้รอบตัวเผื่อจะมีใครมาปรึกษา เป็นที่พูดกันมานานแล้วว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูก 1 คน จะต้องเสียฟัน (อย่างน้อย) 1 ซี่ เพราะเชื่อว่าทารกในครรภ์จะนำเอาแคลเซียมจากฟันแม่ไปใช้ ทำให้ฟันผุได้ง่ายซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่ทั้งหลายก็มักจะมีประสบการณ์นี้กันมาแล้ว ทำให้คำกล่าวนี้ดูจะเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

ครั้งนี้เราจะได้มาทำความเข้าใจกันถึงสาเหตุของคำกล่าวนี้กันดูว่าเท็จจริงเป็นหรือไม่ ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะไม่สามารถนำแคลเซียมหรือแร่ธาตุจากฟันแม่ไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตของทารกได้ เพราะหากว่ามีความจำเป็นจริงๆ แคลเซียมจากกระดูกจะถูกนำไปใช้ก่อน ดังนั้นการที่แม่เกิดฟันผุได้ง่ายจึงไม่ใช่เกิดจากการที่แคลเซียมในฟันของแม่ถูกนำไปใช้

การที่เกิดโรคฟันผุมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์นั้น สาเหตุที่แท้จริงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายซึ่งมีผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กินจุบจิบ กินอาหารบ่อยครั้งขึ้น ข้อสำคัญ คือ ทำให้เหงือกรอบๆ ตัวฟันบวมแดง มีเลือกออกได้ง่ายโดยเฉพาะเวลาแปรงฟัน ทำให้การทำความสะอาดฟันไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร เหตุโดยรวมที่กล่าวมาทำให้มีฟันผุมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ นอกจากฟันผุแล้ว ที่ควรให้ความเอาใจใส่อย่างมาก คือ เรื่องของการทำความสะอาดช่องปาก เพราะอย่างที่ทราบแล้วว่า ฮอร์โมนทำให้เหงือกอักเสบง่ายมากกว่าภาวะปกติ หากทำความสะอาดได้ไม่ดีอาการอาจลุกลามเป็นเหงือกอักเสบชนิดรุนแรงนอกจากจะมีเหงือกบวมมากแล้ว ยังมีกลิ่นปาก และอาจทำให้ฟันโยกเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก และมีอาการเจ็บอีกด้วย

มิใช่ว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะเป็นโรคในช่องปากเพิ่มขึ้นทุกคน หากว่าคุณแม่รู้วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง นั่นคือ ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ เพื่อทารกจะได้นำไปใช้ได้เต็มที่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแร่ธาตุและวิตามินมากๆ อาหารว่างระหว่างมื้อควรเป็นผลไม้สดหรือนมมากกว่าขนมที่มีน้ำตาลผสมเครื่องดื่มก็ควรจะหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ การดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ไม่ควรดื่มบ่อยครั้งเกินไปในแต่ละวัน ที่สำคัญควรทำความสะอาดฟันให้ทั่วทั้งปาก เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบได้

ถ้าจะให้ดีขณะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพของช่องปากและขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปาก เพราะหากพบความผิดปกติก็จะได้รีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้การรักษาง่ายขึ้นและไม่เสียเวลามากนัก ทั้งนี้ไม่ต้องกลัวว่าตั้งครรภ์แล้วจะรับการรักษาฟันไม่ได้ โดยปกติเมื่อแจ้งให้คุณหมอทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณหมอก็จะให้การดูแลตลอดจนระมัดระวังมากขึ้น และให้การรักษาเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาที่เหมาะสมกับการไปรักษาฟัน คือ ช่วงของการตั้งครรภ์ในระยะ 4-6 เดือน เนื่องจากในช่วงสามเดือนแรก ผู้ที่ตั้งครรภ์มักมีสภาวะจิตใจและอารมณ์ไม่ปกติ บางคนก็มีอาการแพ้มาก อาเจียนบ่อย อ่อนเพลีย

ส่วนในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอดนั้นอาจมีปัญหาเรื่องการนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำฟันนานๆ เพราะท้องใหญ่ไม่สะดวก อย่างไรก็ดีสามารถจะไปรับบริการได้ตลอดเวลาตั้งครรภ์ ขึ้นกับสภาพทางร่างกายและจิตใจของแต่ละคน และดุลยพินิจของทันตแพทย์ด้วย เมื่อไปรับบริการก็ไม่ต้องกังวลมากนัก หากกลัวการเสียวฟันขณะทำฟันก็ขอให้หมอเขาใส่ยาชาให้ได้ หากไม่จำเป็นไม่ควรลังเล หรือเลื่อนการไปพบทันตแพทย์หรือการไปรับการรักษาจนกว่าจะคลอด เพราะเมื่อคลอดใหม่ๆ คุณแม่จะไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ทำให้โรคที่เป็นอยู่ในมากขึ้น จนในที่สุดอาจไม่สามารเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ในปากได้

ข้อมูลสื่อ

171-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
หมอปุ้ย