• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลุ่มอาการหายใจเกิน

กลุ่มอาการหายใจเกิน

 

                                        

ข้อน่ารู้

1. คนบางคนเมื่อมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ จะเกิดอาการหายใจหอบลึกและเร็วโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปโดยไม่รู้ตัวหรือโดยจิตใต้สำนึก จัดเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งซึ่งมีสาเหตุทางด้านอารมณ์และจิตใจ โดยไม่มีความผิดปกติทางกายแต่อย่างใด มักพบในหญิงสาวอายุ 15-30 ปี ที่อาจมีปัญหาในครอบครัวหรือขาดความอบอุ่น หรือมีเรื่องขัดใจ ตกใจ หรือโมโหฉุนเฉียว ก็จะเกิดอาการกำเริบขึ้นทันทีทันใด

2. โรคนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “กลุ่มอาการหายใจเกิน” (hyperventilation syndrome) บ้างก็เรียกว่า “โรคหอบจากอารมณ์”

คำว่า “กลุ่มอาการ” (syndrome) นี้มีความหมายว่า จะมีอาการหลายอย่างปรากฏพร้อมกัน กล่าวคือเมื่อมีอาการหายใจหอบลึกและเร็วอยู่สักพักใหญ่ จะทำให้เกิดอาการมือและเท้าทั้ง 4 จีบเกร็งคล้ายเป็นตะคริวขึ้นพร้อมกัน ทั้งนี้เป็นไปตามปฏิกิริยาลูกโซ่(อิทัปปัจจยตา)ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย คือ เมื่อมีการหายใจมากเกิน(หอบลึก เร็ว)อยู่นานๆ จะทำให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากเกินปกติ เมื่อก๊าซนี้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดมีอยู่ในเลือดน้อยลง ก็ทำให้เลือดมีความเป็นด่างมากขึ้น เมื่อเลือดเป็นด่าง แคลเซียมในเลือดจะจับกับสารโปรตีน ทำให้มีแคลเซียมในรูปอิสระน้อยลง เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว ในที่สุดจึงทำให้เกิดอาการมือเท้าจีบเกร็งร่วมด้วย (ดูตามแผนภูมิ)



3. เนื่องจากปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นเร็ว โดยจิตใต้สำนึกของคนไข้ และเป็นอาการประหลาดๆ ที่คนทั่วไปหาเหตุอธิบายไม่ได้ชัดเจน คนบางกลุ่มจึงเชื่อว่าเกิดจาก “ผีเข้า” และพาคนไข้ไปให้หมอไสยศาสตร์หรือพระรดน้ำมนต์ หรือทำพิธีไล่ผี หรือทำพิธีกรรมตามความเชื่อแบบดั้งเดิม
น่าแปลกที่บางครั้งพิธีกรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้โรคทุเลาได้ ทั้งนี้เป็นเพราะคนไข้มีความรู้สึกได้รับความสนใจ จึงหายเครียด และหยุดยั้งปฏิกิริยาลูกโซ่ดังกล่าว จึงทำให้อาการต่างๆหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามก็ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุของโรคนี้ และหลีกเลี่ยงพิธีกรรมที่อาจไม่ปลอดภัยต่อคนไข้

4. ปัญหาที่พบบ่อย ก็คือ ญาติพี่น้องและเพื่อนใกล้ชิดที่พบอาการของโรคนี้เป็นครั้งแรกมักจะตกอกตกใจ เพราะคนไข้มักจะร้องเอะอะโวยวายดิ้นไปมา หรือไม่ก็นอนแน่นิ่งเหมือนเป็นลม มือเท้าเกร็งเป็นตะคริว แล้วจะพากันช่วยนวดมือนวดเท้า ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้ผล

5. อาการแสดงของโรคนี้ดูเหมือนร้ายแรง แต่จริงๆไม่มีอันตรายอะไรทั้งสิ้น ญาติควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาล สืบหาและแก้ไขสาเหตุของการขัดข้องใจของคนไข้ อาการมักจะเป็นอยู่สักพักใหญ่ เมื่อคนไข้รู้สึกสบายใจขึ้น(หายเครียด)ก็มักจะหายได้เอง


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่จะเป็นโรคนี้มักมีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน เช่น ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก เป็นต้น เมื่อมีเรื่องขัดใจ ตกใจ วิตกกังวล หรืออารมณ์ตึงเครียด ก็จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เริ่มแรกจะมีอาการหายใจหอบลึกและเร็ว ต่อมาจะมีอาการมือเท้าทั้ง 4 ข้างจีบเกร็ง บางคนอาจบ่นว่า เวียนศีรษะ ใจสั่น แน่นอึดอัดในอก ชาตามมือตามเท้า บางคนอาจมีอาการร้องเอะอะโวยวาย ดิ้นไปมา บางคนอาจแสดงอาการแน่นิ่งเหมือนเป็นลม หลับตามิด แต่มักขยิบหนังตาแน่นผิดธรรมชาติ
โดยทั่วไปคนที่มีอาการแบบนี้ หากได้ประวัติว่าเกิดหลังมีเรื่องขัดใจหรืออารมณ์เครียดก็มักจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นกลุ่มอาการหายใจเกิน ยิ่งถ้าเคยมีประวัติว่าเคยเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็มักจะบอกได้ง่ายขึ้นว่าไม่ได้เป็นโรคอะไรอื่น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการหายใจเกินนอกจากจะมีสาเหตุจากอารมณ์แล้ว ก็ยังอาจเกิดจากอาการเจ็บปวดรุนแรง (เช่น ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน เป็นต้น) ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้คนที่มีอาการหายใจหอบลึก โดยที่ไม่มีอาการมือเท้าจีบเกร็งร่วมด้วย ก็ควรคิดถึงสาเหตุอื่นๆเช่น

1. ภาวะเลือดเป็นกรด จะมีอาการหายใจลึกและเร็วคล้ายกลุ่มอาการหายใจเกิน แต่จะไม่ได้ประวัติการขัดใจก่อนมีอาการ มักพบในคนที่เป็นเบาหวานหรือโรคไตพิการมานาน หรือไม่ก็อาจพบในคนที่มีอาการท้องร่วงรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการซีด(โลหิตจาง)รุนแรง เป็นต้น

2. ภาวะหัวใจวาย จะมีอาการหายใจหอบ เท้าบวม และหลอดเลือดดำที่คอโป่ง นอนราบไม่ได้ เพราะจะเหนื่อยหอบมาก ต้องหนุนหมอนสูงๆ หรือลุกขึ้นนั่ง
ทั้งสาเหตุ 1 และ 2 จัดเป็นโรคร้ายแรง หากสงสัยต้องรีบไปโรงพยาบาล

3. โรคหืด จะมีอาการหายใจหอบ มีเสียงดังวี้ดๆ เนื่องจากมีการตีบตัวของหลอดลม คนไข้มักจะพูดคุยรู้เรื่อง และมักมีประวัติเป็นโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้อยู่ก่อน
ส่วนคนที่มีอาการมือจีบเกร็งโดยไม่มีอาการหายใจหอบร่วมด้วยก็อาจเกิดจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ คนไข้ที่ผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ อาจเกิดผลแทรกซ้อนจากการตัดเอาต่อมพาราธัยรอยด์ที่อยู่ข้างเคียงออกไปด้วย ต่อมนี้ทำหน้าที่รักษาดุลของแคลเซียมในร่างกาย เมื่อถูกตัดออกไปบางส่วนจึงทำให้เกิดภาวะในเลือดต่ำ มือเท้าจีบเกร็งเป็นตะคริวได้    
 


เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ไม่ได้ประวัติว่ามีเรื่องขัดใจก่อนมีอาการ
2. มีเพียงอาการหายใจหอบโดยไม่มีอาการมือจีบเกร็ง หรือมีเพียงอาการมือจีบเกร็ง แต่ไม่หายใจหอบ
3. มีการเจ็บป่วยทางกายอยู่ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคไตพิการ ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหาร ซีด เท้าบวม เป็นต้น
4. ให้การดูแลรักษาเบื้องต้น(ปฐมพยาบาล)แล้วยังไม่ทุเลา
5. ไม่แน่ใจหรือมีความวิตกกังวล


แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะตรวจร่างกายโดยเฉพาะความผิดปกติของหัวใจและปอด รวมทั้งซักถามสาเหตุของโรคทางกายต่างๆ และปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ
หากแน่ใจว่าเป็นกลุ่มอาการหายใจเกิน ก็จะให้การปฐมพยาบาลดังกล่าว หากไม่ได้ผล อาจให้ยากล่อมประสาท (ให้กินหรือฉีด) เพื่อคลายเครียดหรือช่วยให้คนไข้หลับ
บางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องขอร้องให้ญาติและคนใกล้ชิดออกห่างจากคนไข้ เพื่อพูดคุยซักถามคนไข้ถึงสาเหตุของการขัดใจ (ซึ่งอาจจะมีปัญหากับญาติหรือคนใกล้ชิดที่นำคนไข้มาส่ง)
เมื่ออาการทุเลาแล้ว แพทย์อาจให้ยากล่อมประสาทไปกินต่อที่บ้าน ในรายที่เป็นบ่อย แพทย์อาจนัดคนไข้มาพูดคุยเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตของคนไข้ให้เข้มแข็งขึ้น


โดยสรุป กลุ่มอาการหายใจเกินจะมีอาการโดดเด่นจำเพาะ ได้แก่ อาการหายใจหอบลึกและมือเท้าจีบเกร็งเกิดขึ้นทันทีทันใดหลังมีความเครียดทางอารมณ์ เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ต้องการการบำบัดทางสุขภาพจิต ซึ่งมักจะหายขาดได้เมื่อคนไข้สามารถพัฒนาจิตใจจนสามารถเผชิญกับความเครียดได้
 

                                                             การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการหายใจหอบลึกร่วมกับมีอาการมือเท้าจีบเกร็ง หากแน่ใจว่าเป็นจากกลุ่มอาการหายใจเกิน เนื่องจากความเครียด เช่น มีเรื่องขัดใจก่อนมีอาการ หรือเคยเป็นๆหายๆ อยู่เป็นประจำ ก็ควรให้การดูแลดังนี้

1. ญาติหรือคนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจ และสืบสาวหาสาเหตุของการขัดใจ แล้วหาทางแก้ไขไปตามเหตุผลอันเหมาะสม ควรปลอบและให้กำลังใจคนไข้ แต่ก็ไม่เอาใจหรือตามใจคนไข้จนเกินเหตุ

2. ไม่ต้องตกอกตกใจต่ออาการที่เกิดกับคนไข้ เพราะจะไม่มีอันตรายอะไรทั้งสิ้น

3. แก้ไขอาการด้วยการให้คนไข้สูดดมแอมโมเนีย โดยเอาสำลีชุบแอมโมเนียจ่อที่จมูกคนไข้ติดต่อกันสัก 10-15 นาที ความฉุนของแอมโมเนียอาจทำให้คนไข้กลั้นหายใจ ซึ่งจะแก้ไขปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นให้กลับสู่ดุลอันปกติ ทำให้อาการมือเท้าจีบเกร็งหายเป็นปกติได้เอง

4. ถ้ายังไม่ได้ผล และแน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น ก็ควรใช้กระดาษทำเป็นรูปกรวยเปิดรูตรงปลายกรวยไว้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร แล้วเอาปากกรวยครอบตรงปากและจมูกของคนไข้ ให้คนไข้หายใจในกรวยกระดาษนี้นาน 10-15 นาที เพื่อนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่กระแสเลือด จะช่วยให้เลือดลดความเป็นด่างลง และแคลเซียมในเลือดกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะทำให้มือเท้าหายจีบเกร็งในที่สุด

5. ควรหาทางป้องกันด้วยการเสริมสร้างสุขภาพจิตของคนไข้ และฝึกให้คนไข้รู้จักเผชิญกับปัญหาต่างๆให้ดีขึ้น รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อม(ครอบครัว คนรอบข้าง)ที่อาจเป็นต้นเหตุของปัญหาการขัดใจของคนไข้
 

ข้อมูลสื่อ

188-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 188
ธันวาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ