• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิของผู้ป่วย (patient’s rights)

สิทธิของผู้ป่วย (patient’s rights)


ความหมายของคำว่า “สิทธิ” และ “ผู้ป่วย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของ “สิทธิ” ว่า “อำนาจอันชอบธรรม ความสำเร็จ” แต่ในความหมายที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป “สิทธิ” หมายถึง “สิ่งพึงมีพึงได้” ตามธรรมชาติ ตามกฎหมาย ตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออื่นๆ สิทธิมนุษย์ หรือที่เรียกกันว่า “สิทธิมนุษยชน” (human rights) นั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization) เพื่อป้องกันการเกิดสงครามโลกขึ้นอีก โดยบรรจุคำนี้ไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ.  2488

ต่อมาใน พ.ศ. 2491 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”  (Universal Declaration of Human Rights) เพื่อรับรองสิทธิของมนุษย์ทั่วโลกไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐฯ หรือผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้กำหนดสิทธิของประชาชนชาวไทยไว้มากมาย เช่น ในหมวด 3 ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ในมาตรา 24-49 บัญญัติให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง การนับถือศาสนา การทำมาหาเลี้ยงชีพ การเลือกที่อยู่อาศัย การพูด การเขียน การโฆษณา การชุมนุมโดยสงบ และการฟ้องร้องรัฐฯ เป็นต้น แต่ไม่ได้กล่าวถึง “สิทธิของผู้ป่วย” หรือ “ผู้ป่วย” แต่อย่างใด

คำว่า “ผู้ป่วย” ไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพราะคำว่า “ผู้ป่วย” เป็นคำที่ใช้กันในวงการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปจะใช้คำว่า “คนไข้” ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่สบาย อาจจะไม่สบายทางกาย (ไข้กาย) หรือทางใจ (ไข้ใจ) ก็ได้ ปัญหามีว่า ถ้าคนที่ป่วยรู้สึกว่าเป็นปกติหรือสบายดี เขาย่อมไม่ไปหาหมอ หมอจะถือว่าเขาเป็น “ผู้ป่วย” หรือ “คนไข้” ได้หรือไม่ ถ้าได้ ย่อมหมายความว่า ประชาชนคนดีๆ (คนปกติ) ทุกคนก็ต้องเป็น “ผู้ป่วย” ของหมอทั้งนั้น เพราะต้องไปให้หมอตรวจดูก่อนว่ามีอะไรผิดปกติไหม และถ้าหมอตรวจให้ละเอียดจริงๆ แล้ว คนทุกคนจะมีความผิดปกติมากบ้างน้อยบ้างในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือจิตใจอยู่เสมอ เช่น

  • อาการเจ็บเหงือกปวดฟัน (โรคเหงือกโรคฟัน)
  • อาการปวดหัวเวียนหัวหรือหลับไม่สนิท (โรคเครียด กังวล หรืออื่นๆ)
  • อาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเดิน (โรคกระเพาะลำไส้)
  • อาการสิวฝ้าด่างดำ (โรคผิวหนัง)
  • ตามัวตาพร่า (โรคตา)
  • คัดจมูก แน่นจมูก (โรคหวัด ภูมิแพ้) เป็นต้น

เมื่อมนุษย์ทุกคนจะมีอาการ (มีโรค) มากบ้างน้อยบ้างเช่นนี้ เราจะให้มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ป่วย หรือเป็นคนไข้หมดทุกคนหรือ ถ้าไม่ เมื่อไรเราจะมอบความเป็น “ผู้ป่วย” ให้แก่มนุษย์คนใดคนหนึ่ง โดยทั่วไป “ผู้ป่วย” หรือ “คนไข้” หมายถึง คนที่คิดว่าตนเองป่วย หรือญาติมิตรคิดว่าป่วยและพาไปหาหมอ เมื่อไปหาหมอ จะกลายเป็น “ผู้ป่วย” หรือ “คนไข้” ไปทันทีโดยอัตโนมัติ เพราะต้องทำบัตรหรือขึ้นทะเบียนว่าเป็นผู้ป่วย แม้เจ้าตัวจะยืนยัน “ปกติดี มาขอตรวจร่างกายเพื่อทำใบรับรองไปสมัครงาน” เท่านั้นก็ตาม นอกจากนั้นบางครั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าป่วยโดยญาติมิตรหรือสังคมอาจจะไม่ได้ป่วย แต่ถูกกล่าวหาเพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะเจตนากลั่นแกล้งก็ได้ เช่น ผู้คัดค้านหรือต่อต้านผู้ที่มีอำนาจ อาจจะถูกจับกุมขังไว้ในโรงพยาบาล โดยถูกกล่าวหาว่าป่วยเป็นโรคจิต (วิกลจริต) ได้

คนที่มีอาการเล็กๆ น้อยๆ (โรคเล็กๆ น้อยๆ) แล้วรู้สึกว่าตนสบายดี แข็งแรงดี มีความสุข และทำงานได้ดีตามอัตภาพ ย่อมไม่ยอมรับว่าตนเองเป็น “ผู้ป่วย” และแม้แต่คนที่ไม่สบายมาก แต่ไม่ยอมไปหาหมอ หมอจะถือว่า คนๆ นั้นเป็น “ผู้ป่วย” หรือเป็น “คนไข้” ของตนก็ย่อมไม่ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม บางครั้งสังคมหรือ “คนนอก” อาจจะวุ่นวายมาก และยึดถือเอาผู้ป่วยที่ไม่ยอมไปโรงพยาบาลไปเป็น “ผู้ป่วย” ของตนและโรงพยาบาลได้ ดังในกรณีท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น
 

สิทธิของผู้ป่วย

สิทธิของผู้ป่วย อาจจะแบ่งออกเป็น

1. สิทธิที่จะยอมรับ “ความเป็นผู้ป่วย” ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นในเรื่องความหมายของ “ผู้ป่วย” สิทธิที่จะยอมรับ “ความเป็นผู้ป่วย” จึงขึ้นกับ

1.1 ความต้องการหรือการยอมรับของเจ้าตัว ที่จะกล่าวหาตนเองหรือถูกกล่าวว่าป่วยในกรณีที่เจ้าตัวยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่มีสติสัมปชัญญะหรือไม่สามารถตัดสินได้ ก็ต้องอาศัยความต้องการหรือการยอมรับของผู้อื่น

1.2 ความต้องการหรือการยอมรับของญาติ โดยทั่วไปญาติที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ป่วยมากที่สุด (ซึ่งส่วนใหญ่จะ ได้แก่ บิดา มารดา สามี หรือภรรยา และลูก) จะมีความสำคัญมากกว่าญาติที่ห่างออกไป และมิตรสหายตามลำดับรองลงไป

1.3 ความต้องการหรือการยอมรับของสังคม คำว่า “สังคม” ในที่นี้อาจหมายถึงเพียงเพื่อนบ้านหรือคนในละแวกเดียวกัน หรืออาจจะหมายถึงคนทั้งประเทศหรือทั้งโลกก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยนั้น “ดัง” เพียงใด (“ดัง” ในที่นี้อาจหมายถึง ความดังในด้านความร่ำรวย ความมีเกียรติยศชื่อเสียง หรืออื่นๆ)

1.4 ความต้องการหรือการยอมรับของแพทย์และพยาบาล ซึ่งควรจะมาในอันดับท้ายสุด เพราะแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็น “คนนอก” (คนที่รู้จักชีวิตและจิตใจของผู้ป่วยน้อยที่สุด) และยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโดยตรง ไม่ว่าในด้านทรัพย์สิน เงินทอง หรือเกียรติยศชื่อเสียง ดังนั้น แพทย์และพยาบาลจึงไม่ควรนำความต้องการหรือความคิดความเชื่อของตนไปครอบงำผู้ป่วย ญาติ และสังคม เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติหรือสังคมทำตามความต้องการของตน

แพทย์และพยาบาลควรใช้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ตนทราบและให้ได้แก่ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถตัดสินใจได้ว่า จะยอมเป็น “ผู้ป่วย” หรือไม่ ผู้ป่วยและญาติมีสิทธิที่จะขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์อื่นหรือบุคคลอื่น (พระ เพื่อน ครู หมอพื้นบ้าน หมอดู ฯลฯ) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่า จะยอมรับเป็น “ผู้ป่วย” ของหมอคนใด

ข้อพึงระวังสำหรับผู้ป่วยและญาติ คือ ให้นึกถึง “กาลามสูตร” อยู่เสมอ นั่นคือ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องตรวจสอบและพิสูจน์จากการกระทำและผลของการกระทำ (ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นใหม่) เสมอถ้าได้ผลดีตามที่คาดหมาย จึงจะเชื่อถือและปฏิบัติตามได้

2. สิทธิที่จะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด เมื่อผู้ป่วยและ/หรือญาติยอมรับ “ความเป็นผู้ป่วย” แล้ว สิทธิต่อไป คือ สิทธิที่จะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วย เช่น

2.1 ป่วยเป็นอะไร หรือป่วยเป็นโรคอะไร โรคนี้เป็นอย่างไร

2.2 รักษาได้ไหม รักษาอย่างไร

2.3 รักษาหายขาดไหม รักษานานเพียงใด

2.4 เสียค่าใช้จ่ายเท่าใด

2.5 ควรจะปฏิบัติรักษาตัวอย่างไร ให้หายได้เร็วและไม่เป็นใหม่ และไม่แพร่กระจายโรคให้ผู้อื่น

สิทธิที่ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสิทธิมนุษยชน เพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติจะต้องใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะรักษาหรือไม่ ถ้าจะรักษาควรจะรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสมกับกำลังใจ กำลังกาย กำลังความต้องการ และความเชื่อถือ (ตามลัทธิศาสนา หรืออื่นๆ) ของตน ผู้ป่วยและญาติต้องกล้าที่จะถามคำถามเหล่านี้กับแพทย์และพยาบาลเพื่อรักษาสิทธิของผู้ป่วยและเป็นการช่วยให้แพทย์และพยาบาลได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่พบเห็นกันอยู่เนืองๆ

3. สิทธิที่จะแสดงความเห็นและความต้องการของตน รวมทั้งสิทธิที่จะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรักษาพยาบาลและอื่นๆ สิทธิเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยและญาติจะต้องกล้าที่จะแสดงสิทธินี้และยืนหยัดในสิทธินี้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่แพทย์และพยาบาลสามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ จนสามารถเปลี่ยนความเห็นและความต้องการของผู้ป่วยและญาติได้

4. สิทธิที่จะอนุญาตหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาล แม้จะยอมรับว่า “ความเป็นผู้ป่วย” แล้ว แต่ผู้ป่วยก็ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการรักษาพยาบาลได้ เมื่อแพทย์และพยาบาลได้อธิบายข้อเท็จจริงทั้งหมด และตอบข้อสงสัยของผู้ป่วยและญาติจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติจึงจะยินยอมหรืออนุญาตให้ทำการรักษาพยาบาลในรูปแบบที่ตกลงกันไว้ ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่อยู่ในสภาพที่จะรับทราบข้อเท็จจริงและตัดสินใจได้ แพทย์และพยาบาลจึงมิสิทธิที่จะให้การรักษาพยาบาลไปก่อน เพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วย แต่แพทย์และพยาบาลจะต้องรับผิดชอบจากการเสี่ยงทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้รับอนุญาตก่อน

แม้ว่าผู้จะอนุญาตให้ทำการรักษาพยาบาลในรูปแบบที่ตกลงกันไว้แล้ว แต่ถ้าเวลาต่อมาผู้ป่วยเห็นว่าการรักษานั้นไม่เหมาะกับตน (ตนทนไม่ไหว หรืออื่นๆ) ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลได้ สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลนี้ ย่อมไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่ผู้ป่วยตัดสินใจโดยอารมณ์ หรือไม่มีเหตุผลอันสมควร (ที่ญาติและสังคมยอมรับได้) การฆ่าตัวตายหรือต้องการฆ่าตัวตายเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ไม่ใช่เหตุผลที่ญาติหรือสังคมจะยอมรับได้ แต่เหตุผลที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลแบบที่หยิบยืมจากชีวิตของคนอื่น หรือที่เป็นไปตามลัทธิความเชื่อถือทางศาสนา มักเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้

5. สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเกี่ยงงอนในเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ วรรณะ และอื่นๆ ในสังคมปัจจุบัน อำนาจเงินทำให้มาตรฐานในการรักษาพยาบาลมีความแตกต่างกันมากมาก ซึ่งเป็นการผิด “จรรยาแพทย์” อย่างหนึ่ง

การรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันในที่นี้ หมายถึง การรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่างๆ สำหรับการหายจากอาการเจ็บป่วย ไม่ได้หมายถึงสิ่งฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อที่เป็นสิ่งประกอบ เช่น ห้องพิเศษ พยาบาลพิเศษ เตียงพิเศษ เครื่องปรับอากาศและฟอกอากาศพิเศษ (นอกจากในกรณีที่จำเป็นสำหรับโรคบางอย่าง)โทรทัศน์ เครื่องเล่น หรืออื่นๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับการรักษาพยาบาล

“ในสังคมปัจจุบันอำนาจเงินทำให้มาตรฐานในการรักษาพยาบาลมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นการผิด “จรรยาแพทย์” อย่างหนึ่ง”

ผู้ป่วยและ/หรือญาติที่ชอบอวดมั่งอวดมี หรือชอบเอาเปรียบสังคม (เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาลได้) มักจะชอบสั่งให้แพทย์ทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดและมากมาย ทำให้ได้รับการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็นต่างๆ
การตรวจรักษาที่ไม่จำเป็น นอกจากจะทำให้เจ็บตัวและเสียเงินเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวครึกโครมกรณี “แบเรียมเป็นพิษ” ทำให้คนดีๆ ที่ไปตรวจเอกซเรย์โดยใช้แป้งแบเรียมเสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกันถึง 4 คน (ถ้านับเด็กในท้องด้วยก็เป็น 5 คน) นับว่าเป็น “ความตายที่ไม่จำเป็น” อย่างหนึ่ง การได้รับการตรวจรักษามากๆ (เกินความจำเป็น) จึงมักจะให้โทษมากกว่าให้ประโยชน์เสมอ

6. สิทธิที่จะออกจากสถานพยาบาลและกลับเข้าไปใหม่ โดยทั่วไป การจะเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือการจะออกจากโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการออกไปประเดี๋ยวประด๋าว (เช่น ไปซื้อของใช้ส่วนตัว ไปตัดผม) หรือการออกไปนานๆ (เช่น กลับบ้าน) จะต้องได้รับคำอนุญาตจากแพทย์และพยาบาลเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้ในบางกรณีได้ลืมสิทธิของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาพยาบาล และต้องการกลับบ้าน แต่แพทย์และพยาบาลไม่ยอมให้กลับทั้งที่ญาติก็มารอรับผู้ป่วยอยู่ หรือผู้ป่วยที่หายจากการป่วยแล้ว แต่ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล แพทย์และพยาบาลจึงไม่ยอมให้กลับ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างเหล่านี้ อันที่จริง แพทย์และพยาบาลไม่มีสิทธิ์กักขังหน่วงเหนี่ยวหรือทำให้ผู้ป่วยเสียอิสระเสรีภาพ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระนั้น สามารถฟ้องร้องให้ชำระได้ในภายหลัง และการกักขังหน่วงเหนี่ยวอาจทำให้ถูกข้อหาทางอาญาได้

“แพทย์และพยาบาลไม่สิทธิ์กักขังหน่วงเหนี่ยวหรือทำให้ผู้ป่วยเสียอิสระภาพ และการกักขังหน่วงเหนี่ยวอาจทำให้ถูกข้อหาทางอาญาได้”

นอกจากนั้นผู้ป่วยที่เคยปฏิเสธการรักษาพยาบาลและออกจากโรงพยาบาลไป ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจและกลับมารักษาใหม่ แพทย์และพยาบาลไม่ควรปฏิเสธที่จะรับไว้รักษาใหม่ นอกจากว่าผู้ป่วยยังดึงดันที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือไม่ยอมให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล เป็นต้น

7. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง เช่น

7.1 สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการรักษาพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะต้องคุ้มครองผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากพิษให้ปลอดภัยจากพิษของยาและภาวะแทรกซ้อนจากการักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ

7.2 สิทธิที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ

7.3 สิทธิที่จะได้รับ ความเมตตากรุณา ความสรสาร และความอดทนอดกลั้นจากแพทย์และพยาบาลตามสมควร

7.4 สิทธิที่จะได้รับการปกปิดความลับ อาการเจ็บป่วยและสาเหตุอาจเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการปกปิด ความลับอื่นๆ ของผู้ป่วยที่แพทย์และพยาบาลได้รับรู้จากการรักษาพยาบาล ล้วนเป็นสิ่งที่แพทย์และพยาบาลจะนำไปเปิดเผยมิได้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเท่านั้น

8. สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือก่อนคนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บหนักหรือช่วยตนเองไม่ได้ เช่น ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยควรจะให้การปฐมพยาบาล และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เลยก็ตาม ในบางประเทศถึงกับมีกฎหมายลงโทษผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือ

9. สิทธิที่จะตาย คือ สิทธิที่ผู้ป่วยได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมีเหตุผลสมควร (ที่สังคมยอมรับได้) ในการที่จะขอตายโดบปฏิสธการรักษาพยาบาลที่ตน ไม่ปรารถนา หรือขอหยุดการรักษาพยาบาลที่ทำให้ตน “ตายก็ตายไม่ได้ เป็นก็เป็นไม่ได้” เสีย อันที่จริง สิทธิที่จะตายนั้นมีมาแต่โบราณกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงสังขารและทรงปฏิเสธการรักษาพยาบาลเมื่อทรงอาพาธครั้งสุดท้าย พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินโปรดมนุษย์และสัตว์ทั้งวันจนค่ำ และทรรงดันขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่า โดยพระราชทานปัจฉิมโอวาทให้มนุษย์พึงตระหนักว่า สังขารนั้นไม่เที่ยงและไม่ควรยึดมั่น ให้ดำรงตนโดยไม่ประมาทเสมอ

แต่เดิมชาวบ้านที่แก่ชราหรือรู้ว่าตนเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตมักจะขออยู่กับบ้าน หรือถ้าไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วมักจะขอกลับบ้าน เพื่อขอตายที่บ้าน ตายในที่ที่ตนรัก ท่ามกลางลูกหลานและญาติมิตรที่ตนรักและปรารถนาจะอยู่ใกล้เป็นการตายที่อบอุ่นและไม่เกิดเป็นปัญหามากมานดังในปัจจุบัน

เมื่อการแพทย์เจริญทางวัตถุจนสามารถยืดความตายได้ และการยึดมั่นถือมั่นตาม “จรรยาแพทย์ฝรั่ง” ที่ว่าจะต้องช่วยชีวิตให้ยืดยาวที่สุด ไม่ว่าผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไรก็ตาม ซึ่งเป็นการหลงผิดและก่อปัญหามากมาย เช่น ทำให้ผู้ป่วยและญาติจ้องรับความทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำลายทรัพยากรทั้งบุคคล (ศักดิ์ศรีของความเป็นคนทั้งของผู้ป่วยและของแพทย์พยาบาล) และวัตถุ เบียดเบียนผู้ป่วยอื่นและสังคม และทำให้ทรัพยากรมหาศาลถูกนำไปใช้สำหรับการยืดการตาย (การเพิ่มความทุกข์ทรมาน) อย่างไร้ประโยชน์

ประชาชนในต่างประเทศ (ประเทศฝรั่ง) จึงต้องเขียน “พินัยกรรมเพื่อชีวิต” (living will) ไว้เพื่อป้องกันและห้ามแพทย์ไม่ให้ยืดการตายของตน ในหลายๆ ประเทศในปัจจุบันได้มีกฎหมายรองรับ “พินัยกรรมเพื่อชีวิต” แบบต่างๆ เพื่อป้องกันหรือยุติกระบวนการยืดชีวิตของแพทย์แผนปัจจุบัน “พินัยกรรมเพื่อชีวิต” และ “กฎหมายอนุญาตให้ตายได้” จึงเป็นเครื่องประจานถึงการขาดวิจารณญาณและคุณธรรมของแพทย์ในประเทศนั้น

10. สิทธิที่จะฟ้องร้อง ในกรณีที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรือจิตใจจากการรักษาพยาบาลต่างๆ ประเทศใดที่มีการฟ้องร้องแพทย์มากย่อมเป็นการประจานถึงการขาดวิจารณญาณและคุณธรรมของแพทย์ในประเทศนั้นเช่นเดียวกัน ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างสำคัญๆ ของ “สิทธิผู้ป่วย” ที่ผู้ป่วยพึงมีพึงได้ตามธรรมชาติและตามสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ในประเทศไทยยังไม่ได้บัญญัติ “สิทธิของผู้ป่วย” เหล่านี้ไว้เป็นการเฉพาะ เพียงแต่อาจอนุโลมให้ใช้ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญและสิทธิตามกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาทั่วไป มาประยุกต์ใช้เพื่อการนี้ได้”

ถ้าการแพทย์และพยาบาลในประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาไปในลักษณะธุรกิจที่มุ่งค้ากำไร โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยว่าเป็นประโยชน์สูงสุด (สูงกว่าความต้องการของแพทย์และพยาบาล) แล้ว ต่อไปในอนาคตประชาชนจะต้องเข้ามาควบคุมดูแลแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิดและคงจะต้องออกกฎหมายมาควบคุมและลงโทษแพทย์และพยาบาลอย่างจริงจังและเข้มงวดด้วย ในสภาวะใดก็ตาม การมีสิทธิย่อมต้องควบคู่ไปกับการมีหน้าที่เสมอ “สิทธิของผู้ป่วย” จึงต้องควบคู่ไปกับ “หน้าที่ของผู้ป่วย” ตลอดเวลา

บทความนี้ถูกขอให้เขียนเกี่ยวกับ “สิทธิของผู้ป่วย” จึงไม่ได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่อง “หน้าที่ของผู้ป่วย” ซึ่งจะขอสรุปไว้สั้นๆ แต่เพียงว่า “หน้าที่ของผู้ป่วย” โดยย่อๆ คือ หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติรักษาตนตามคำสั่งของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตนหายหรือดีขึ้นจากความเจ็บปวดโดยเร็วที่สุด ไม่ให้ความเจ็บปวดแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ไม่ให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ (ทั้งในการรักษาพยาบาล การเดินทาง การขาดงาน และอื่นๆ) โดยไม่จำเป็นและไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคขึ้นมาอีกได้ เมื่อตระหนักถึง “สิทธิและหน้าที่” กันเป็นอย่างดีแล้ว การรักษาพยาบาลต่างๆ ย่อมจะให้ผลดีที่สุด และเป็นประโยชน์ที่สุดแก่ผู้ป่วย ญาติ และสังคม ตลอดจนแพทย์ พยาบาล และสถานพยาบาลด้วย

ตัวอย่างพินัยกรรมเพื่อชีวิตของ Euthanasia Education Council เมื่อ พ.ศ. 2512 “การตายเป็นความจริง (ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) เช่นเดียวกับการเกิด การเจริญเติบโต และการแก่ชรา ความตายเท่านั้นเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิต เมื่อใดที่ข้าพเจ้า นาย นาง หรือนางสาว...ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในอนาคตของข้าพเจ้าเองได้ เมื่อนั้นขอให้เอกสารนี้เป็นเครื่องแสดงความต้องการของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้ตั้งใจทำขึ้นในขณะที่ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ (และในกรณีที่มีข้อสงสัย ข้าพเจ้าขอมอบให้นาย นาง หรือนางสาว...ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจข้าพเจ้าดีที่สุด เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจแทนข้าพเจ้า)

เมื่อใดที่ข้าพเจ้าอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความหวังอันชอบด้วยเหตุผลว่าจะฟื้นจากการไร้สมรรถภาพ ไม่ว่าจะในทางร่างกายหรือจิตใจแล้ว เมื่อนั้นข้าพเจ้าขอร้องให้ปล่อยข้าพเจ้าให้ตายเสีย อย่าพยายามยืดชีวิตของข้าพเจ้าด้วยเครื่องมือหรือวิธีการที่พิเศษพิสดารต่างๆ ข้าพเจ้ากลัวความตายน้อยกว่าความน่าสมเพชอันเกิดจากสภาพที่ทรุดโทรม ช่วยตนเองไม่ได้ หรือเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอร้องว่า กรุณาให้ยาที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานแก่ข้าพเจ้า แม้ว่ายานั้นจะทำให้ข้าพเจ้าตายเร็วขึ้นก็ตาม”

ข้อมูลสื่อ

172-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
บทความพิเศษ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์