• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหัว-ปวดหู ลองย้อนดูฟัน

ปวดหัว-ปวดหู ลองย้อนดูฟัน


หัวข้อเรื่องนี้เมื่อเห็นแล้วอาจชวนให้เกิดความรู้สึกคล้ายๆ ชื่อหัวเรื่องขึ้นมาก็ได้ แต่ขออย่าเพิ่งท้อใจ ทนอ่านต่อไปอีกหน่อย และเมื่อถึงบางอ้อ ความรู้สึกนั้นก็จะหายไปเอง ท่านที่เคยปวดหัวและ/หรือปวดหูอย่างเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะได้รับการรักษากินยาไปหลายครั้งแล้วก็ยังไม่หาย ให้ลองไปพบทันตแพทย์ดู ท่านอาจจะแปลกใจว่า ฟันของท่านเองนั่นแหละเป็นที่มาของอาการปวดดังว่านั้น โดยเฉพาะ สุภาพสตรีมักจะเป็นมากกว่าเพศตรงกันข้าม และพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนกระทั่งวัยดึก

เพราะเหตุใดจึงปวดหัว-ปวดหู

สาเหตุหนึ่งที่เกี่ยวพันกับฟันของท่าน คือ การสบฟันที่ผิดปกติ ท่านอาจจะมีฟันเกฟันล้มเอียง ฟันบิ่น ฟันกร่อน หรือฟันที่ได้รับการบูรณะไว้อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะไม่ว่าจะโดยอุดหรือทำครอบฟัน การใส่ฟันปลอม ทำให้เกิดจุดสูงในขณะที่ฟันสบกัน หรือเกิดการสะดุดในขณะบดเคี้ยวไปมา ทำให้รู้สึกระคายเคืองอยู่เนืองๆ จึงเกิดความผิดปกติของระบบบดเคี้ยว ทั้งโดยขนาดของแรงที่ใช้ในการบดเคี้ยวและทิศทางการเคลื่อนที่ของฟัน ณ จุดสูง หรือจุดสะดุดนั้นๆ ส่งผลให้มีความเครียดในกล้ามเนื้อบดเคี้ยว, ข้อต่อขากรรไกรและประสาทส่วนคอและศีรษะ

หากไม่ได้รับการแก้ไขทันเวลา ย่อมพัฒนาไปสู่อาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อกระดูกขากรรไกรในที่สุด และหากทิ้งไว้เนิ่นนานไป ก็จะเกิดความผิดปกติของอวัยวะในระบบบดเคี้ยวบางส่วน หรือทั้งหมด (ได้แก่ ฟัน, เนื้อเยี่อปริทันต์, กระดูกขากรรไกรและข้อต่อกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้ยังพบว่า ในผู้ป่วยจำนวนมาก สาเหตุทางด้านจิตใจและอารมณ์ก็มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก ซึ่งมักพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างนี้ คือ การขบกรามและการนอนกัดฟันเป็นกิจวัตร การขบกรามจะเกิดขึ้นในขณะตื่น ส่วนการกัดฟันเกิดขึ้นในขณะหลับโดยเป็นไปอย่างโดยไม่รู้ตัว จึงไม่อาจควบคุมหรือหยุดพฤติกรรมนี้ได้ในทันที่ที่เกิดขึ้น

จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมดังกล่าวนี้จะทำให้มีการเคลื่อนที่ของขากรรไกรล่างอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อบดเคี้ยวมีการทำงานมากกว่าปกติ และจะเกิดเป็นจังหวะติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในรายที่นอนกัดฟัน ผลลัพธ์คือ ด้านบดเคี้ยวของฟันเกิดการสึกกร่อนในอัตราที่มากกว่าปกติหลายเท่าตัว กล้ามเนื้อในระบบบดเคี้ยวมีการเกร็งตัว ทำให้รู้สึกเมื่อยหลังตื่นนอน เมื่อฟันสึกมากจนถึงชั้นเนื้อฟัน จะเริ่มเสียวฟันเมื่อกินของเปรี้ยวของเย็น หรือกระทั่งเวลาเคี้ยวอาหารแข็งหน่อย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันฟันและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง จึงต้องหยุดการเคลื่อนที่ของขากรรไกรล่าง ด้วยการให้ผู้ป่วยใส่เฝือกฟันด้านบดเคี้ยว (Occlusal splint) ซึ่งทำจากวัสดุคล้ายพลาสติก เรียกว่า อะคริลิกเรซิ่น รูปร่างคล้ายเกือกม้า ร่วมกับการแก้ไขจุดสูงบนตัวฟันซี่ที่เป็นต้นเหตุและอาจให้ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับเท่าที่จำเป็น รวมทั้งยาแก้ปวด

ลักษณะอาการปวดหัว-ปวดหู

ลักษณะเด่นของอาการปวดหัวและ/หรือปวดหูที่ว่ามานี้ คือ มักจะปวดบริเวณด้านข้างเหนือใบหูใกล้ๆ ขมับข้างเดียวหรือสองข้าง และกดเจ็บ หรือปวดด้านหน้าหูร่วมกับการกดเจ็บและมีเสียงดังเวลาอ้าปาก หุบปาก ในบางคนอาจพบว่า มีอาการกดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอยบริเวณเหนือมุมขากรรไกรหรือบริเวณข้างฟันกล้ามซี่ที่ 2 ด้านแก้ม อาการปวดจะรุนแรงขึ้นตามการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเคี้ยวของแข็งหรือเหนียว

วิธีป้องกันฟัน-เหงือก

การป้องกันนั้นสามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี ถ้ามีฟันซ้อนเกควรปรึกษาทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อทำการแก้ไข ในกรณีที่มีการอุดฟัน ทำครอบฟันหรือใส่ฟันทุกครั้งควรสังเกตว่ามีจุดสูงหรือสะดุดในขณะสบฟันหรือเคี้ยวอาหารหรือไม่ ถ้ามีให้กลับไปรับการแก้ไขโดยเร็ว สำหรับผู้ที่เครียดหรือกังวลง่าย ควรหมั่นฝึกทำสมาธิก่อนนอนประมาณ 10-15 นาทีทุกวัน ทำให้หลับสนิทไม่เกิดนิสัยนอนหลับกัดฟัน และช่วยให้ห่างไกลไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ ในกรณีที่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกร ให้งดอาหารแข็ง หรือเหนียวเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้าง เช่น หาวนอน หรือหัวเราะ ใช้ผ้านุ่มซุบน้ำอุ่นจัดๆ ประคบบริเวณที่ปวดวันละ 2-5 ครั้งๆ ละ 5-10 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอาการเกร็งตึงและลดปวด ถ้าต้องการยาแก้ปวด อาจเลือกใช้แอสไพรินหรือพาราเซตามอล

การรักษา

ผู้ป่วยที่มีปัญหาความเจ็บปวดเรื้อรังร่วมกับพฤติกรรมนอนกัดฟัน หรือขบกรามมาเป็นเวลาหลายปี จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ระบบบดเคี้ยวโดยเฉพาะระยะเวลาในการรักษามักจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ผู้ป่วยต้องมีความอดทนที่จะไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล ดังนั้น เราควรใส่ใจป้องกันและรับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ

ข้อมูลสื่อ

172-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536