• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตกับหัวใจ

จิตกับหัวใจ


‘จิต’ กับ ‘หัวใจ’ สองคำนี้ ฟังแล้วคล้ายจะเป็นคำเดียวกัน แต่แท้ที่จริงเป็นคนละคำ จิตนั้นเราไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นส่วนที่รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ซึ่งก็คือ การทำงานของสมองนั้นเอง ส่วนหัวใจ คือ อวัยวะที่เต้นตุ๊บๆ อยู่ในช่องอก สัมผัสได้โดยการแนบฝ่ามือลงบนหน้าอกด้านซ้าย จะรู้สึกถึงการเต้นของมันได้เป็นอย่างดี กระนั้นจิตกับหัวใจก็มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง

จากการวิจัยส่าสุดพบว่า บุคคลที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเอ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ที่มีความเครียดและกังวลค่อนข้างสูงนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจมากเป็นพิเศษ รายงานทางการแพทย์บันทึกไว้ว่า บุคคลกลุ่มนี้จะหลั่งสารบางชนิดที่มีผลดีต่อหัวใจน้อยกว่าปกติ จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 50

ลองทดลองดูว่าคุณมีพฤติกรรมของบุคลิกภาพแบบเอดังกล่าวนี้หรือไม่

- เป็นคนที่มีความพยายามในเรื่องต่างๆ สูง แต่ไม่เคยทำและประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่เคยมีการวางแผนล่วงหน้า

- ชอบการแข่งขัน

- ชอบแสดงความรุนแรง และต้องการความก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ

- กังวลกับเวลามากจนเกินไป ไปไหนมาไหนมักจะดูแต่นาฬิการาวกับว่ามันจะหลุดจากข้อมือไปอย่างนั้นแหละ

- เคร่งเครียดและตื่นตัว (ทางความคิด) อยู่ตลอดเวลา

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คุณมีบุคลิกแบบเอ ซึ่งพร้อมที่จะเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าผู้อื่น อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่บุคลิกภาพดังกล่าวจะเป็นตัวชี้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีปัจจัยตัวอื่น เช่น ติดบุหรี่ ออกกำลังกายน้อย ความดันโลหิตสูง และน้ำหนักตัวมาก ก็ล้วนมีผลต่อโรคหัวใจทั้งสิ้น

ข้อมูลสื่อ

173-002-03
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536
เรารักสุขภาพ
จรัส บุญยธรรมา, นพ.อำนาจ บาลี