• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ กับการพัฒนาจิต

โยคะ กับการพัฒนาจิต ไปสู่สภาวะสูงสุด


มนุษย์ประกอบด้วยมิติต่างๆ ทางกาย ทางใจ และทางจริยธรรม  ในแต่ละมิติก็ยังประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย มิติทางใจอาจแบ่งออกเป็นเรื่องของอารมณ์ ความเฉลียวฉลาด เป็นต้น นอกจากนั้น มิติที่สำคัญทางใจอีกประการของมนุษย์คือ สภาวะจิตสูงสุด  อันเป็นสภาวะทางอุดมคติ ที่มนุษย์ค่อยๆ พัฒนาไปสู่คำว่าสภาวะจิตสูงสุด โดยแค่ชื่อฟังดูเป็นของสูง แต่ก็มิได้หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่อาจเอื้อมถึง ในทางปฏิบัติสภาวะจิตสูงสุด เป็นลักษณะของกระบวนการ เป็นขั้นตอน ที่ค่อยๆ เอื้อให้มนุษย์ได้ยกระดับจิตของตนเองให้สูงขึ้นๆ


ลักษณะสำคัญของสภาวะจิตสูงสุดคือ มันเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วในใจทุกคน  สำหรับบางคนเสียงเรียกร้องแห่งสภาวะจิตสูงสุดนี้อาจจะดังมาก และทำให้คนคนนั้น มุ่งแสวงหาอย่างจริงจัง ส่วนคนบางคน เสียงเรียกร้องแห่งสภาวะจิตนี้อาจจะค่อย แผ่วเบา ทำให้คนคนนั้นยังไม่ได้สนใจมิตินี้มากนัก  แต่ที่แน่ๆ เสียงเรียกร้องแห่งสภาวะจิตสูงสุดนี้ ไม่ว่าจะดังจะค่อย มันไม่เคยหยุด ไม่เคยสูญหายไปจากความเป็นมนุษย์เลย ตลอดมาและตลอดไป

จิตสูงสุดนี้ประกอบด้วย 2 ภาวะ เปรียบเหมือนด้านทั้ง 2 ของเหรียญอันหนึ่ง ในด้านหนึ่ง คือการค่อยๆ พัฒนา ยกระดับจิตของมนุษย์ ให้สูงขึ้นๆ ไปถึงที่สุด คือเป็นจิตที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้เต็มที่ ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง คือกระบวนการลดความเป็นอัตตา ของตนเองลงไปเรื่อยๆ สู่จุดต่ำสุด กล่าวคือ มนุษย์ที่มีศักยภาพทางจิตสูงสุด สามารถทำประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยปราศจาก อัตตาตัวตน 

ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องการพัฒนาจิตไปสู่สภาวะสูงสุดในตอนนี้ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทางวัตถุและทางใจไปในสัดส่วนที่ทัดเทียมกัน ทำให้สังคมสมดุล สงบสุข มาถึง ณ ปัจจุบัน มีความเจริญรุดหน้าทางวัตถุไปอย่างรวดเร็ว แต่ละทิ้งการพัฒนาทางจิต อันนำมาซึ่งปัญหาของสังคมที่ทวีทับถมสูงขึ้นมาก กระแสของสังคมมุ่งสู่เป้าหมายที่วัดกันเป็นตัวเลขแบบแยกส่วน ไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วผูกร้อย กันไว้อย่างเป็นองค์รวม ผลก็คือ ความสมดุลของสังคมอยู่ในขั้นวิกฤติ เรามิได้เป็นการปฏิเสธการพัฒนาทางวัตถุ แต่เราก็ไม่เชื่อว่าการโหมพัฒนาทางวัตถุเพียงด้าน เดียวจะแก้ปัญหาสังคมได้ ในทางตรงข้าม รังแต่จะเป็นการพอกพูนปัญหาเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ  ดังนั้น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ณ ขณะนี้ ไม่ใช่หยุดการพัฒนาทางด้านวัตถุ แต่ต้องพัฒนามิติอื่นๆ ควบคู่กันไปอย่างสมดุล โดยเฉพาะทางด้าน จิต ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับจิตของคนในสังคมให้สูงขึ้น
พร้อมๆ กับการขัดเกลาความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้น้อยลง

เราจะพัฒนาจิตสูงสุด ขึ้นได้อย่างไร
เป็นที่น่าสังเกตว่า สภาวะจิตสูงสุดนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ "อ่านเอา-ฟังเอา" อย่างเดียวไม่ได้  หมายความว่า ลำพังอ่านตำรา หรือฟังบรรยาย ว่าด้วยการพัฒนาจิตสูงสุด ไม่สามารถทำให้คนเกิดสภาวะจิตสูงสุดแต่อย่างใด  ทั้งการพัฒนาจิตสูงสุดก็ไม่ได้เกิดจากการประชุม ถกเถียง แลกเปลี่ยน ไตร่ตรอง คิด วิเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ แค่อ่าน-ฟัง คิด อาจช่วยให้เรา "เข้าใจ" เรื่องสภาวะจิตสูงสุดได้  แต่จะให้เกิด ให้เป็น มีอยู่หนทางเดียวคือ ด้วยการปฏิบัติการสร้างสภาวะจิตสูงสุด เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น เริ่มจากการเตรียมพื้นฐานของจิตให้พร้อมต่อการเกิดสภาวะสูงสุด ได้แก่ การหมั่นขัดเกลาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เจือปนด้วยกิเลสอันได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง  ได้แก่การเฝ้าระวังจิต ไม่ให้คิดไปในทางเบียดเบียน ไม่ให้เผลอติดอยู่กับความอยาก ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลง ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้ก็คือ การมีศีลนั่นเอง

นอกจากนั้น เรายังต้องหมั่นประคองจิตไว้ให้บริสุทธิ์  ต้องมีความมุ่งมั่น มีความจดจ่อในการนำพาจิตไปสู่สภาวะสูงสุด กล่าวคือ กระบวนการพัฒนาจิตต้องเป็นไปด้วยความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ลักษณะสำคัญมากอีกประการคือ สภาวะจิตสูงสุดไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้เอง แต่สภาวะจิตสูงสุดเป็น "ผล" จากการกระทำ กล่าวคือ มนุษย์สร้างสภาวะจิตสูงสุดโดยตรงไม่ได้ "เร่ง" ผลิตก็ไม่ได้  ทำแล้วยกให้คนอื่นก็ไม่ได้ สภาวะจิตสูงสุดเป็นเรื่องของคนแต่ละคน สร้างเหตุ สร้างปัจจัยที่เอื้อ  ครั้นสุกงอม สภาวะจิตสูงสุดก็จะเกิดขึ้นเอง

โยคะคือวิถีในการพัฒนาจิตไปสู่สภาวะสูงสุด
ก่อนที่จะอธิบายว่าโยคะคือ เครื่องมือที่เหมาะอย่างยิ่งในการพัฒนาจิตไปสู่สภาวะสูงสุด คงต้องทำความเข้าใจเรื่องโยคะให้ถูกต้องเสียก่อน  หลายคนยังมีความรับรู้ว่าโยคะเป็นเพียงการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาศาสตร์ นี้เพียงเฉพาะด้านกายภาพ และการฝึกโยคะของคนกลุ่มนี้ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง จึงทำให้คนทั่วไปรับรู้โยคะแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก  แก่นของโยคะคือการพัฒนาจิต และเป้าหมายของโยคะคือสมาธิ นี่คือหัวใจของศาสตร์ที่มีมากว่า 5,000 ปี 

ปตัญชลีโยคะสูตร อันถือว่าเป็นตำราแม่บทของโยคะ ชี้นำทางให้ผู้แสวงหาดำเนินชีวิตไปตามครรลองแห่งอัษฎางค์โยคะ หรือมรรค 8 อันได้แก่

1.ยามะ 5 ประการ ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังใจ วาจา กาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การปฏิบัติยามะ 5 นี้ ถือว่าเป็นการวางรากฐานของจิตให้พร้อม เพื่อการพัฒนาจิตต่อไป

2.นิยามะ 5 ประการ เป็นการฝึกฝน สร้างวินัยให้กับตนเอง เป็นรากฐานของการพัฒนากาย 

3.อาสนะ เป็นการฝึกกายให้เกิดความสมดุล ทำกายให้นิ่ง

4.ปราณยามะ เป็นการฝึกควบคุมลมหายใจ เพื่อให้อารมณ์สงบ

5.ปรัทยาหาระ เป็นการสงบจิต โดยการลดทอนข้อมูลที่จะผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (สำรวมอินทรีย์) 

6.ธารณะ หมายถึงการฝึกจิตให้มีความสามารถในการเพ่งจ้องขั้นต้น

7.ฌาน คือการฝึกให้จิตสามารถเพ่งจ้องขั้นสูง 

8.สมาธิ คือผลลัพธ์ที่ได้จากการฝึกมรรค ทั้ง 7 ข้างต้น ซึ่งโยคะถือว่า เป็นสภาวะจิตขั้นสูงสุด

ตำราโยคะสูตร ยังได้ชี้ถึงอุปสรรคที่คอยขัดขวางกระบวนการพัฒนาจิต คือ กิเลส ซึ่งมี 5 ประการ คือ
1. อวิชชา ไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง และอวิชชาก่อให้เกิดกิเลสอีก 4  ตัวที่เหลือ ได้แก่ 1 ราคะ ความอยาก 2 โทสะ ความไม่อยาก 3 อัสมิตา ความมีตัวตน 4 อภินิเวสายะ ความกลัวว่าตัวตนของตนเองจะสูญมลายไป โดยมรรค 8 ของโยคะเป็นไปเพื่อลดกำลังของกิเลสเหล่านี้

ตำราโยคะสูตรกล่าวว่า จิตสูงคือจิตที่ปราศจากการปรุงแต่ง และโยคะคือการฝึกฝนตนเองเพื่อดับการปรุงแต่งของจิตนั่นเอง ทั้งตำรายังระบุไว้ชัดเจน ว่านิโรธจิตได้มาด้วยการฝึก 2 ประการ คือ

1.อภายาสะ หรือความเพียรที่ต้องใช้เวลานาน โดยไม่มีการหยุด

2.ไวราคยะ คือการฝึกละวางจากการยึดติดในสิ่งทั้งหลาย

จะเห็นได้ว่า โยคะเป็นศาสตร์ที่สอนให้ผู้แสวงหาพัฒนาจิตไปสู่สภาวะสูงสุดโดยตรง โดยลักษณะสำคัญของการฝึกโยคะคือ มรรคทั้ง 8 เชื่อมกันอย่างเป็นองค์รวม มรรคทั้งหลายเรียงลำดับเป็นขั้นตอน ในแต่ละมรรคแบ่งแยกเป็นเทคนิควิธีอันหลากหลาย มีระดับความยากง่าย ซึ่งทำให้โยคะมีเสน่ห์ ดึงดูดคนเป็นจำนวนมากให้เข้ามาสนใจฝึกปฏิบัติ

 

วิธีทำการใช้โยคะสร้างจิตสูงสุดให้กับคนไทย
โยคะมีเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาจิตอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งเหมาะต่อการนำมาใช้ปรับสมดุลในสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะเราสามารถกำหนดวิธีการดังนี้

1. พัฒนาองค์ความรู้ ทางด้านโยคะอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และด้านการนำศาสตร์โยคะไปใช้ให้เกิดประโยชน์

2. ผลิตครูเพื่อสอนโยคะให้ประชาชนได้ฝึกปฏิบัติโยคะมากขึ้นๆ

3. เผยแพร่ สร้างทัศนคติที่ถูกต้องของโยคะศาสตร์ ต่อสังคมในวงกว้าง

4. สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่าย เพื่อให้องค์กร หน่วยงาน ชุมชนต่างๆ มีโอกาสฝึกโยคะอย่างแพร่หลาย

ข้อมูลสื่อ

303-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
โยคะ