• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้อาหาร

แพ้อาหาร


หลายๆ ครั้งความสำคัญในครอบครัวกลับมีอันต้องเปลี่ยนเป็นความชุลมุนวุ่นวายแทนเมื่อสมาชิกครอบครัวกลับมีอันต้องเปลี่ยนเป็นความชุลมุนวุ่นวายแทนเมื่อสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งเกิดมีอันต้อง “แพ้อาหาร” ขึ้นมา แล้วอย่างนี้คุณๆ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดจะทำอย่างไรกันดี

‘แพ้อาหาร’ คืออย่างไร

ถ้าเมื่อใดที่เกิดการแพ้อาหารขึ้น คุณสามารถจะรู้สึกเกือบทันทีเลยว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้น ร่างกายได้แสดงปฏิกิริยาไม่ต้อนรับออกมาแล้ว โดยแสดงอาการต่างๆ อาทิเช่น เกิดอาการชาที่ลิ้น บวม ร้อน หรือเป็นลมพิษ ซึ่งเป็นการแสดงอาการแพ้ทางผิวหนัง ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายถูกกระตุ้นจากอาหารที่เรากินเข้าไปทำให้เม็ดเลือดขาวปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมาที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” ซึ่งจะไปกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว จึงมีการโป่งพองและมีอาการบวมร้อนในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย

ถ้าสังเกตอีกสักนิดจะพบว่า การแพ้อาหารนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัวซึ่งมีประวัติของการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หรือเป็นหอบหืด ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย แต่การแพ้อาหารก็สามารถเกิดได้เป็นครั้งคราว แม้ไม่เคยแพ้อาหารชนิดนั้นๆ มาก่อนก็ตาม อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เกิดการแพ้ขึ้น ได้แก่ อาหารทะเล ถั่วลิสง ช็อกโกแลต และบางรายอาจแพ้ไข่ ซึ่งก็พบไม่บ่อยนัก

รู้ได้อย่างไรว่าแพ้

คนบางคนเมื่อกินอาหารทะเลเข้าไปเพียงปลายลิ้นสัมผัส ก็มีผื่นขึ้นเต็มตัว คนบางคนอาจกินปลาดิบ แล้วอาการปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือบางคนอาจกินช็อกโกแลตเกิดอาการไอ หอบ อาการเหล่านี้จัดเป็นการแพ้ อาหารที่ร่างกายได้แสดงปฏิกิริยาออกมา ซึ่งสามารถแสดงออกได้จากหลายระบบของร่างกาย แต่ที่พบมากและพบบ่อยที่สุด ได้แก่

อาการแพ้ที่แสดงออกทางผิวหนังที่ชัดที่สุด คือ เป็นลมพิษ โดยจะมีผื่นขึ้นมาและรู้สึกคันๆ ที่ผิวหนัง พอสักพักก็จะมีอาการบวม ผิวหนังนูนขึ้นมาเป็นแผ่นๆ และรู้สึกแสบร้อนซื่งไม่ใช่การอักเสบ แต่เป็นการแพ้อาหาร

อาการแพ้ที่แสดงออกทางระบบทางเดินอาหาร ก็จะเริ่มตั้งแต่ปาก คอ ค่อยๆ เลื่อยลงไปถึงกระเพาะและลำไส้เลยทีเดียว ส่วนการแพ้ก็จะมีอาการปากบวม น้ำลายไหลตลอดเวลา รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และบางรายมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

อาการแพ้ที่แสดงออกทางระบบทางเดินหายใจ ก็จะพบบ่อยเช่นกัน คือ จะมีอาการไอบางรายรุนแรงมาก คือ ไอมากจนมีอาการหอบ และถ้าหอบมากๆ ก็จะมีอาการตัวเขียวอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้

สำหรับการแพ้อาหารในเด็กก็มีอาการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้ว การแพ้อาหารก็มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอยู่แล้วโดยเฉพาะเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน เนื่องจากการย่อยอาหารทุกชนิดยังทำได้ไม่สมบูรณ์นัก เมื่ออาหารบางส่วนที่ย่อยไม่สมบูรณ์ผ่านเข้าไปในกระแสเลือด จะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวเกิดอาการแพ้ขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ ก็คือ การที่เด็กไม่มีโอกาสกินนมแม่ โดยเฉพาะในระยะ 1 เดือนแรก ทำให้เด็กมีอาการแพ้ง่ายขึ้น ซึ่งในบางรายก็ทำให้แพ้อาหารในเวลาต่อมา หรือบางรายก็แพ้ฝุ่นละอองหรือเป็นภูมิแพ้ไปเลย

รักษาได้อย่างไร

เมื่อเกิดอาการแพ้อาหารควรทำอย่างไรดี การรักษาตรงๆ ไปเลยนั้นยังไม่สามารถทำได้ แต่ที่รักษากันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ การรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการแพ้ทางผิวหนัง ก็กินยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาต้านสารฮิสตามีน หรือที่เรียกว่า ยาแอนติฮิสตามีน และที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ ยาคลอร์เฟนิรามีนขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งกินเพียง 1 เม็ด อาการแพ้ก็จะดีขึ้น แต่ถ้ารู้สึกคันมากหรือเป็นลมพิษ ก็ใช้คาลาไมน์โลชั่นทาให้ทั่ว หรือถ้าอาการรุนแรงถึงขนาดหอบมากๆ เป็นหอบหืด ท้องเสีย หรืออาเจียน ก็ต้องรีบไปรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน

แต่วิธีป้องกันอาการแพ้อาหารน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการแพ้ นั่นก็คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ถ้าจะลองก็ต้องลองชิ้นเล็กๆ หรือลองแตะๆ ที่ลิ้นซึ่งในขณะเดียวกันนั้นจะต้องเตรียมยาแก้แพ้ไว้ด้วย เพราะถ้ามีอาการรุนแรงตามมาก็จะต้องรีบกินยาทันทีหรือถ้าไม่สามารถควบคุมอาการหรือเป็นมาก ก็ควรไปพบแพทย์

เมื่อทราบอย่างนี้แล้วเวลาออกต่างจังหวัดหรือไปพักผ่อนตามที่ต่างๆ ก็ควรเตรียมยาแก้แพ้จำพวกแอนติฮิสตามีนและคาลาไมน์โลชั่นไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจหมดสนุกในการพักผ่อนได้ แล้วจะหาว่าไม่บอกก่อนไม่ได้นะคะ

ข้อมูลสื่อ

175-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536
รู้ก่อนกิน