• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิกฤติการณ์จราจร

วิกฤติการณ์จราจร


เวลานี้การจราจรในกรุงเทพฯ ได้ถึงวิกฤตที่ก่อความทุกข์และความเสียดายให้กับทุกฝ่าย ที่จริงเรามีวิกฤติการณ์พร้อมๆ กันหลายอย่าง เช่น วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม วิกฤติการณ์ทางสังคม วิกฤติการณ์ทางศีลธรรม แต่วิกฤติการณ์จราจรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนกรุงเทพพฯ มากที่สุด

วิกฤติการณ์เหล่านี้แก้ไขได้ยาก เพราะต้นเหตุเกิดจากทรรศนะที่ผิด และการปฏิบัติที่ผิดซึ่งอาจเรียกว่ามิจฉาทรรศนะและมิจฉาปฏิบัติก็ได้ คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องทรรศนะนัก แต่สนใจกับการปฏิบัติเลย ที่จริงทรรศนะเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติทรรศนะก็อย่างเดียวกับทิฐิหรือคอนเซ็ท หรือแนวคิด

แนวคิดการแก้ปัญหาจราจรที่แล้วๆ มา คือ การเคลื่อนรถว่าทำอย่างไรจะเคลื่อนรถให้ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติขยายถนน สร้างสะพานลอย และอื่นๆ ที่จะทำให้เคลื่อนรถได้ แต่ก็ไม่รอด แต่วิกฤติการณ์จราจรไม่ได้

แนวคิดอีกแบบหนึ่งคือการเคลื่อนคน การเคลื่อนคนที่สำคัญที่สุด ก็คือ เคลื่อนทางปัญญา และเคลื่อนทางสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนคนโดยการสัญจรหลายรูปแบบ

หลักการแก้วิกฤติการณ์จราจรในกรุงเทพฯ คือ การเพิ่มการเดินทางโดยวิธีอื่น และลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

การเดินทางโดยวิธีอื่น เดินด้วยเท้า ขี่จักรยาน การใช้รถโดยสาร ซึ่งต้องเพิ่มรถเมล์ให้วิ่งให้มากพอและวิ่งได้คล่องตัว ซึ่งทำไม่ได้ถ้าไม่ลดการใช้รถส่วนตัว

ลองทดลองหยุดใช้รถส่วนตัวพร้อมกันสักวันหนึ่งดูเถิดครับ คนในกรุงเทพฯ จะมีความสุขขึ้นเยอะทีเดียว หรือถ้ามีทางจักรยานที่ปลอดภัย แล้วขี่จักรยานให้มาก ก็คงจะเดินทางได้เร็วกว่านั่งในรถที่ต้องใช้คอมฟอร์ด 100

การลดการใช้รถส่วนตัวต้องมีมาตรการหลายอย่าง ทั้งทางจูงใจ และทางบังคับ เช่น ห้ามวิ่งรถบางถนน บางชั่วโมง มีการเก็บเงินให้มากถ้าวิ่งเข้าบางถนนหรือบางช่วงเวลา การขึ้นราคาน้ำมันรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะถูกโจมตีอย่างหนัก จะทำได้ต่อเมื่อมหาชนรวมตัว มีเหตุผล มีความเห็นพ้อง แล้วรัฐบาลสนองตามมติมหาชนที่มีเหตุผล ก็จะทำให้ง่ายขึ้น

คนส่วนใหญ่ยังอยู่กับความคิดเชยๆ หรือความคิดล้าสมัย คืออะไรๆ ก็ให้รัฐบาลเป็นผู้ทำ ในสังคมสมัยใหม่ มีความหลากหลายและกลุ่มผลประโยชน์มากมาย รัฐบาลไม่สามารถทะอะไรได้มากนัก ถ้ามัวแต่คิดว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล แล้วรัฐบาลทำไม่ได้ก็จะเกิดความเสียหายขึ้น

ถ้ามหาชนรวมตัวกันมีเหตุผล แล้วบอกรัฐบาล หรือเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาล ก็สามารถทำให้แก้ปัญหายากๆ ได้ ความคิดเก่าๆ ก็คือ ถ้ามหาชนรวมตัวกันแล้วต้องเป็นการต่อต้านรัฐบาล ความคิดใหม่ก็คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับมหาชน

กุญแจของเรื่องนี้ คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับมหาชน

ถ้าใช้ภาษานักวิชาการ ก็อาจจะกล่าวว่านี้เป็นกระบวนทัศน์ใหม่แห่งการพัฒนา

ข้อมูลสื่อ

178-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2537
ศ.นพ.ประเวศ วะสี