• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหู-หูชั้นกลาง อักเสบเฉียบพลัน

ปวดหู-หูชั้นกลาง อักเสบเฉียบพลัน


ข้อน่ารู้

1. หูชั้นกลาง เป็นส่วนหนึ่งของช่องหูที่อยู่ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นใน อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไปเป็นช่องที่บรรจุกระดูกอ่อน 3 ชิ้น (กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน) ที่รับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง หูชั้นกลางมีช่องทางติดต่อกับลำคอและโพรงจมูก ที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (eustachian tube)

2. เมื่อมีการติดเชื้อในลำคอเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด เป็นต้น เชื้อโรคสามารถลุกลามจากลำคอผ่านทอยูสเตเซียนเข้าไปในหูชั้นกลาง เกิดการอักเสบทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม ท่อนี้จะอุดตัน ถ้าการอักเสบนั้นมีเชื้อแบคทีเรียเป็นต้นเหตุ ก็จะเกิดเป็นหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง คนไข้จะมีอาการไข้สูง ปวดหู และหูอื้อ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ปริมาณของหนองจะสะสมมากขึ้นจนเกิดแรงดันให้เยื่อแก้วหูเกิดรูทะลุได้ หนองที่ขังอยู่ภายในหูชั้นกลางก็จะไหลออกมา กลายเป็นหูน้ำหนวก พอถึงตอนนี้คนไข้จะหายปวดหู และไข้ลดลงโดยอัตโนมัติ จะเห็นได้ว่า หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในลำคอ มิได้เกิดจากน้ำเข้าหูดังที่เคยเข้าใจกัน ทั้งนี้เนื่องจากมีเยื่อแก้วหูบังไว้มิให้เชื้อในน้ำเข้าไปในหูชั้นกลางได้ แต่ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูเช่น ในรายที่เป็นหูน้ำหนวก ก็ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหู

3. โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบบ่อยในเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากท่อยูสเตเชียนในเด็กจะมีขนาดสั้นและตีบแคบกว่าของผู้ใหญ่ทำให้มีการติดเชื้ออักเสบในหูชั้นกลางได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

4. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะหายขาด แต่ถ้าปล่อยปละละเลยไม่รักษาอย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจกลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง (หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง) เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูโหว่ ทำให้มีอาการหูอื้อ หูหนวกได้ บางรายอาจมีการลุกลามของเชื้อโรคเข้าไปในสมอง ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นฝีในสมอง เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ขาดอาหารหรือร่างกายอ่อนแอ อาจเป็นโรคแทรกเหล่านี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่แข็งแรง ตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษาในชนบท และชุมชุนแออัด อาจพบเด็กที่เป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ดังนั้นครูและเจ้าหน้าที่อนามัยโรงเรียนจึงควรตรวจเช็กเด็กตามชั้นเรียน หากพบโรคนี้ก็ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพเด็กในภายหลัง

5. การป้องกัน โรคชั้นหูกลางอักเสบเฉียบพลันอยู่ที่ระวังอย่าให้เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ และฉีดวัคซีนป้องกันหัด ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ก็ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ และถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ก็ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้กลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดหู หูอื้อ มักมีไข้สูงร่วมด้วย ส่วนมากจะเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ ออกหัด หรือโรคติดเชื้อในลำคอ เด็กเล็กอาจมีอาการไข้สูงร่วมกับร้องกวนดึก (เพราะเจ็บปวดในหู) และงอแง บางคนอาจเอานิ้วดึงที่ใบหู เด็กมีอาการไข้หวัด ปวดหู หูอื้อ อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น

1. มดหรือแมลงเข้าหู จะมีอาการปวดหูข้างเดียวรุนแรงเกิดขึ้นเฉียบพลัน (เช่น ขณะนอนอยู่เฉยๆ ก็มีอาการปวดหู) คนไข้จะรู้สึกว่ามีตัวอะไรอยู่ในหู หากสงสัยให้รีบเอาน้ำมันพืชหยอดหู แล้วพาไปพบแพทย์

2. หูชั้นนอกอักเสบ มีอาการปวดหู เวลาดึงใบหูจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น (หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เวลาดึงใบหูจะไม่เจ็บมากขึ้น) อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ มักเป็นหลังใช้ไม้แคะหู หากสงสัยควรไปพบแพทย์รวดเร็ว

3. โรคเชื้อราในช่องหู จะมีอาการหูอื้อ คันในช่องหูมาก บางครั้งมีอาการปวดหูร่วมด้วย เกิดจากมีเชื้อราขึ้นในช่องหู หากสงสัยให้ใช้ไม้พันสำลีซุบทิงเจอร์ใส่แผลสด (merthiolate) เช็ดหูวันละ 3-4 ครั้ง มักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน หากไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์

4. ขี้หูอุดตันรูหู จะมีอาการหูอื้อ และอาจปวดหูร่วมด้วย มักเป็นทันทีหลังเล่นน้ำ สระผม น้ำเข้าหู เนื่องจากขึ้หูอุ้มน้ำพองจนอุดรูหู คนไข้จะรู้สึกว่าเหมือนมีน้ำเข้าหู แต่ไม่ยอมหายนานเป็นวันๆ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์


เมื่อไรควรไปพบแพทย์

1. คนที่มีอาการปวดหู หูอื้อ และเป็นไข้หรือสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

2. คนที่มีอาการปวดหู หูอื้อ โดยไม่มีไข้ และไม่สงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด


แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะใช้เครื่องส่องหู (otoscope) ตรวจดูภายในช่องหู ดูลักษณะของเยื่อแก้วหูว่า มีการอักเสบหรือเป็นรูทะลุหรือไม่ หากวินิจฉัยว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาลดไข้และยาปฎิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรมัยซิน) ถ้าดีขึ้นจะให้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลา 10 วัน ในรายที่ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้เข็มเจาะระบายเอาหนองออกจากเยื่อแก้วหูเพื่อลดการอักเสบ รูเจาะตรงเยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

ในรายที่มีเยื่อแก้วหูทะลุจากการอักเสบ (อาจมีน้ำหนวกไหล) เมื่อให้ยาปฏิชีวนะแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจดูเป็นระยะจนกว่าจะแน่ใจว่ารูทะลุปิดสนิทได้เองตามธรรมชาติ ขณะที่มีรูทะลุที่เยื่อแก้วหู แพทย์จะแนะนำคนไข้ว่าอย่าเล่นน้ำ หรือระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าไปในหูชั้นกลางได้

ในรายที่เยื่อแก้วหูมีรูโหว่มากปิดเองไม่ได้ แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อแก้วหูให้ปิดได้สนิท เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

โดยสรุป เมื่อมีอาการปวดหู หูอื้อ และมีไข้ ควรสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยปละละเลย อาจทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง และมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้


การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อมีอาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ เกิดขึ้นหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิบอักเสบ ออกหัด หรือเป็นโรคติดเชื้อในลำคอ พึงสงสัยว่าจะเป็นหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ระหว่างที่รอพบแพทย์ อาจให้การรักษาขึ้นต้น ดังนี้

1. กินยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล

2. กินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ขนาด 250 มก. วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ผู้ใหญ่ครั้งละ 1-2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ 1-2 ช้อนชา

ถ้าเคยมีประวัติแพ้ยา (กินแล้วมีอาการลมพิษ ผื่นคัน หรือหายใจหอบ) ห้ามกินยานี้ และควรรีบไปพบแพทย์

ข้อมูลสื่อ

178-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ