• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพฟันกับสิ่งแวดล้อม

สุขภาพฟันกับสิ่งแวดล้อม


ในช่วงที่เพิ่งจะผ่านพ้นปีใหม่มาไม่นานนี้ ท่านผู้อ่านคงจะยังมีความสุขสบายใจมากพอที่จะแบ่งปันไปยังคนอื่นๆ ในสังคม และมีแรงที่จะช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมสังคมของเราให้น่าอยู่มากขึ้น เรื่องที่จะเล่าให้ฟังในครั้งนี้ก็หวังจะให้เป็นการกระตุ้นให้มีการสังเกตสังกาในความผิดปกติก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

เป็นที่น่ายินดี ก็คือ ขณะนี้มีการตื่นตัวกันไม่น้อยในต่างประเทศรวมทั้งในบ้านเราด้วยเกี่ยวกับภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ ในส่วนของสุขภาพฟันและช่องปากที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่งตอนนี้ คือ การสึก(กร่อน) ของฟัน หรืออันที่จริงเป็นการสูญเสียผิวฟัน โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ

การสึก (กร่อน) ของผิวฟันจากสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน โดยที่ไม่มีเจ้าตัวเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียเข้ามาเป็นตัวร่วมเหมือนกับการเกิดฟันผุนี้ มีชื่อเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษว่า อีโรชั่น (Erosion) ได้พบว่า มีการเกิดฟันสึกจากสาเหตุนี้เพิ่มมากขึ้นในต่างประเทศและในประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการอยู่ในสิ่งแวดล้อมบางอย่างนานๆ โดยเมื่อวิเคราะห์หาต้นเหตุแล้ว พบว่า เป็นต้นเหตุที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีผลให้เกิดการสึกของฟันได้ ที่ประมวลมาบางอย่าง ได้แก่

1. การศึกษาในต่างประเทศที่มีการสึกของฟันมากๆ พบในผู้ที่มีประวัติการดื่มน้ำผลไม้สดคั้น (เข้มข้น) หรือกินผลไม้สดรสเปรี้ยวจัดบ่อยๆ เป็นนิสัย สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการไปต่างประเทศก็คงจะคุ้นชินกับน้ำผลไม้สดคั้นบรรจุในกล่องหรือในกระป๋อง ซึ่งจะมีทั้งแบบที่ผสมน้ำตาลและไม่ผสมน้ำตาล ซึ่งกำลังแพร่ระบาดมายังบ้านเราด้วย ผู้ที่เคยชิมจะรู้ทีเดียวว่า ถ้าเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวแล้วจะให้รสที่เข้มข้นมาก หรือผลไม้สดพวกส้มก็จะมีรสชาติเปรี้ยวจัด ในผู้ที่ลดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน จะดื่มน้ำผลไม้และกินผลไม้สดบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ซึ่งก็ควรระวังการเกิดฟันสึกไว้บ้าง เพราะมีการรายงานว่ามีผู้ป่วยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยในกรณีเช่นนี้

2. อีกกลุ่มหนึ่งที่พบ คือ กลุ่มนักกีฬาว่ายน้ำเป็นเวลานานอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งถ้าเป็นฤดูกาลแข่งขันก็ต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 5-6 ชั่วโมง ปัญหาคือ ในบางแห่งพบว่าทางสระว่ายน้ำเติมคลอรีน ปริมาณที่มากเกินไปเพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำให้น้ำใสเพื่อจูงใจให้อยากว่ายน้ำ ทำให้มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนผิวฟันไปได้มาก

3. กลุ่มคนงานที่ทำงานที่โรงงานทำแบตเตอรีรถยนต์ เนื่องจากในกระบวนการผลิตนั้นมีการนำกรดซัลฟุริกมาใช้ด้วย ทำให้บรรยากาศของสถานที่ทำงานมีไอฟุ้งของกรด มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนผิวฟัน พบว่า คนงานในกลุ่มนี้จะมีสภาพฟันสึกกร่อนมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานในบริเวณนั้น หากไม่มีเครื่องป้องกันที่ดีพอ ในส่วนของฟันสึกจากสภาพสิ่งแวดล้อมคงจะมีอีกจากหลายสาเหตุ ซึ่งจะได้เล่าให้ฟังต่อไป ถ้ามีการศึกษาอื่นๆ ที่น่าสนใจ การตรวจสังเกตด้วยตนเองเพื่อให้รู้ว่าฟันสึกแต่เนิ่นๆ ทำให้การแก้ไขรักษาทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลือง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฟันสึก

การตรวจดูอาการระยะแรกๆ ก็คือ หมั่นสังเกตตัวฟันของเราว่าผิดปกติหรือไม่ มีสีขาวขุ่นด้านหรือสีฟันด้านในไม่เป็นมันหลังทำสะอาดแล้วหรือไม่ หรือผิวฟันมีลักษณะไม่เรียบ ขรุขระไปจากเดิมที่เคยเรียบ ถ้าผิวขรุขระมักจะมีเศษอาหารติดง่ายหรือติดสีเครื่องดื่ม ทำให้มีสีเข้มเป็นจุดๆ ที่ผิวฟันได้ง่าย ลักษณะเช่นที่ว่าเป็นอาการของการสึก

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจก่อน ซึ่งในระยะนี้การแก้ไขทำได้ไม่ยาก คือ ลดหรืองดการสัมผัสสารเคมีหรือต้นเหตุไปสักระยะหนึ่งแล้วใช้สารฟลูออไรด์ช่วย ได้แก่ การทาหรือเคลีอบฟันด้วยฟลูออไรด์ หรือการอมน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกคืน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผิวฟันมีการเสริมสร้างส่วนที่สูญเสียไปให้เร็วขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การสังเกตอาจทำได้ยากหากใช้ตาเปล่า เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นระดับที่เล็กมาก ถ้าเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีอาการเสียวฟันหลังจากสัมผัสกับสารเคมีนั้นใหม่ๆ ในรายที่ค่อนข้างมาก อาการเสียวฟันจะอยู่นาน และถูกกระตุ้นให้เสียวได้ไม่ว่าจะเป็นลม ความเย็น หรือของหวาน ในรายที่เป็นมากขึ้น คือ ผิวฟันจะหายไปเผยให้เห็นส่วนเนื้อฟัน ซึ่งมีสีเหลืองเข้มๆ โผล่ออกมา บางคนจะรู้สึกหรือเห็นได้ว่าฟันของตัวเองสั้นลง แหลมขึ้น ฟันจะเสียรูปร่างไป ทำให้ตัวฟันมีลักษณะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ในรายที่เป็นมากๆ คือ การสูญเสียเนื้อฟันไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันซี่นั้นๆ ตายไป และหลังจากนั้นเจ้าเชื้อโรคในปากก็จะเข้าร่วมในกระบวนการทำลาย ทำให้มีอาการปวดบวมได้เพราะมีช่องทางที่จะเข้าสู่คลองรากฟันได้แล้ว

การแก้ไขรักษา ก็คือ พยายามลดหรืองดการสัมผัส การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแบบนั้น นอกจากนี้ยังต้องได้รับการดูแลเกี่ยวกับการเสริมสร้างความแข็งแรงของผิวฟันด้วย หมออยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการดูแลระมัดระวังในเบื้องแรก รวมทั้งหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติต่างๆ ทั้งนี้ถ้าพบสาเหตุเหล่านี้แต่เนิ่นๆ เราสามารถร่วมกันป้องกันได้ หากท่านพบเห็นสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพช่องปากหรือสุขภาพทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมบางอย่าง กรุณาแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ทันตแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยงานของรัฐฯ เพื่อสอบสวนหาสาเหตุและป้องกันแก้ไขต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเราให้มากขึ้น

ข้อมูลสื่อ

178-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2537
หมอปุ้ย