• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บอกเล่าเก้าสิบ

เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่า ประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกนได้ประกาศถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลอเมริกันในการป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งถือเป็นศัตรูหมายเลข 1 กับสุขภาพของชาวอเมริกัน ท่านถือว่าโรคนี้เป็นแล้วรักษาไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือไม่ไปเป็นมันซะเลยดีกว่า

ท่านสำทับว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องเดินเครื่องเกี่ยวกับโรคนี้อย่างเต็มที่ จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนถึงโรคนี้
“เรื่องการป้องกันโรคเอดส์จะต้องเริ่มจากโรงเรียน จากผู้ปกครองและครู ไม่ใช่อยู่ๆก็โยนมาถึงรัฐบาลเอาดื้อๆ”

ท่านไม่ได้พูดเปล่าๆ รัฐบาลได้ให้งบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และอีก 26,000 ล้านบาทในปีหน้า เพื่อใช้ในการรณรงค์ป้องกันโรคร้ายชนิดนี้

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของเราก็มีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า
“ในขณะนี้ได้มีการส่งเสริมในด้านการศึกษาวิจัยโรคบางชนิด เช่น มะเร็ง โดยได้ทุ่มเทงบประมาณของรัฐดำเนินการเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่เรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนเพียงส่วนน้อย โดยที่ประเทศเรามีงบประมาณจำกัด จึงควรนำเงินงบประมาณที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจนที่มีปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรจัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอนามัยด้วยการบริโภคอาหารที่สะอาดและถูกสุขลักษณะรวมทั้งการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ”

คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบและมอบให้กระทรวงสาธารณสุขกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

ก็นับว่าว่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้นำประเทศได้เล็งเห็นปัญหาสุขภาพของคนไทย และได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหา คือ “กันไว้ดีกว่าแก้”

ในฉบับนี้หมอชาวบ้านได้รวบรวมข้อมูลและทัศนะของนักวิชาการต่างๆเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่สำคัญๆซึ่งสามารถพบได้ในบ้านเรา

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่ามีอยู่หลายโรคทีเดียวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดระเบียบการกินอยู่หลับนอน พฤติกรรมให้เหมาะสม

จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ นักบริหารสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชนต่างๆ ตลอดจนนักการเมืองทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่นจะได้ร่วมมือกันแปรเจตนารมณ์ดังกล่าวของท่านให้เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน (ตามความสำคัญของปัญหาในแต่ละท้องถิ่น) เช่น การรณรงค์ไม่ให้กินปลาดิบเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งตับ การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เพื่อป้องกันมะเร็งปอด เป็นต้น

การมีเจตนารมณ์ของทางการเมือง ผนวกกับการร่วมมือ ร่วมแรงของบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการแปรเจตนารมณ์ให้เป็นการกระทำ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างแน่นอน

 

ข้อมูลสื่อ

97-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ