• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กายภาพบำบัดกับการปรับภาวะสมดุลของร่างกาย

กายภาพบำบัดกับการปรับภาวะสมดุลของร่างกาย


การเกิดความเจ็บป่วยนั้นมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมภาวะสมดุลภายในร่างกายได้
กลไกทางภาวะสมดุลนั้นพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอกซึ่งเป็นผลจากการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย การทำงานหรือการทำกิจกรรมต่างๆ การทำลายจากเชื้อโรคพยาธิหรือไวรัส การแทรกแซงของสิ่งแปลกปลอมหรือมลพิษต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในเวลากลางวันกลางคืนและตามฤดูกาล ตราบใดที่ร่างกายยังสามารถปรับให้อยู่ในสภาพปกติได้แล้ว ตราบนั้นก็ยังไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น

การปรับตัวให้ร่างกายอยู่ภาวะสมดุลนั้น ความจริงไม่ว่าการแพทย์แผนตะวันตกหรือตะวันออกล้วนมีแนวคิดที่คล้ายกัน ในการแพทย์แผนตะวันตกได้อธิบายว่า ร่างกายควบคุมความสมดุลโดยใช้หลักการการป้อนกลับเชิงลบ เช่น เมื่อสารฮอร์โมนถูกผลิตมากเกินไป จะมีกระบวนการส่งสัญญาณให้ต่อมไร้ท่อหยุดการผลิต หรือลดการผลิตฮอร์โมนตัวนั้นให้น้อยลง ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำกว่าปกติ กระบวนการไปเร่งการผลิตให้มากขึ้นซึ่งทางการแพทย์แผนจีนจะอธิบายการเกิดความสมดุลนี้ระหว่างหยินและหยาง ขณะที่แผนไทยอธิบายว่า ร่างกายสามารถปรับความร้อนและความเย็นให้อยู่ในภาวะสมดุล

การรักษาเกือบทุกชนิดจึงได้ไปรักษาที่โรคภัยไข้เจ็บโดยตรง แต่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายปรับสภาพให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ การกินยานั้น ตัวยาไม่ได้ไปฆ่าเซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกาย แต่กระตุ้นให้ร่ายกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือผลิตสารต่างๆ ออกมาต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมนั้น การผ่าตัดเป็นเพียงวิธีที่ช่วยให้ร่างกายมีเงื่อนไขที่จะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้รวดเร็วขึ้น แต่อาจเกิดผลเสีย คือ ถ้ากระบวนการไปทำลายผ่าตัวนั้นระบบประสาท หลอดเลือดหรือเนื้อเยื่อต่างๆ มากเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติได้ การผ่าตัดจึงควรเป็นวิธีการสุดท้ายที่นำมาพิจารณาใช้รักษาร่างกายของมนุษย์

สำหรับแนวทางการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดยิ่งต้องคำนึงถึงความสมดุลของร่างกายเป็นหลัก และมุ่งที่จะปรับการทำงานของระบบต่างๆ ที่ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปให้เข้าสู่สภาพเดิมได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

วิธีการทางกายภาพบำบัด คือ วิธีการที่นำเอาพื้นฐานทางกายภาพ อันได้แก่ กลศาสตร์ แสง เสียง ความร้อน ความเย็น กระแสไฟฟ้า มาช่วยกระตุ้นให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ในกรณีที่ข้อต่อติดขัดเนื่องจากใช้งานมากเกินไป เกิดอาการฉีดขาดของพังผืดหรือกล้ามเนื้อ หรือเกิดการไม่ได้ใช้ข้อต่อนั้นเป็นเวลานาน เช่น อยู่ในเฝือก กายภาพบำบัดจะมุ่งทำให้ข้อต่อนั้นทำหน้าที่ตามปกติได้ โดยช่วยทำให้เคลื่อนไหว ถ้าผู้ป่วยขยับด้วยตนเองไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวเองโดยใช้เครื่องช่วย เช่น ลูกรอก เชือก แขวนส่วนนั้นไว้เพื่อลดน้ำหนักของแขนขาหรือลดความต้านทานแรงเสียดสีกับพื้นผิวของเตียงนอน หรืออาจให้ออกกำลังกายในน้ำโดยอาศัยแรงลอยตัวของน้ำด้วยความรู้ทางชีวกลศาสตร์ ความผิดปกติและศึกษาต้นเหตุของการติดขัดนั้น

นักกายภาพบำบัดจึงสามารถแนะนำวิธีการออกกำลังกายจึงสามารถแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องโดยให้ผู้ป่วยเป็นผู้ทำด้วยตนเองในช่วงที่สามารถทำเองช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด การให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันเพื่อให้ข้อต่อที่ติดขัดเคลื่อนไหวได้อีก และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หน้าที่ของข้อต่อแต่ละข้อมีความแตกต่างกันมาก ข้อต่อที่กระดูกคอ ข้อไหล่ ต้องการช่วงการเคลื่อนไหวมากจึงไม่มั่นคงนัก ขณะที่ข้อต่อที่กระดูกบั้นเองและขาต้องรับน้ำหนักมาก จึงต้องการความมั่นคงมาก และเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าข้อต่อที่กระดูกบั้นเองและขาต้องรับน้ำหนักมาก จึงต้องการความมั่นคงมากและเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าข้อต่อของแขน ดังนั้นวิธีการรักษาอาการปวดคอจะแตกต่างกับวิธีการรักษาอาการปวดหลังที่บั้นเอวมาก

การจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกคอในกรณีตกหมอน โดยกล้ามเนื้อเกร็งแข็งจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ขณะที่การจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกบั้นเอวกลับไม่มีปัญหาต่อชีวิตประจำวันมากนัก ในทางตรงข้ามการที่กระดูกบั้นเองไม่สามารถรับน้ำหนักของลำตัวได้ ในกรณีส่วนโค้งของหลังหายไปหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาจะสร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยมากกว่าส่วนโค้งของกระดูกคอเปลี่ยนไป

การรักษาทางกายภาพบำบัดจึงไม่ควรมุ่งรักษาแต่ข้อต่อที่ติดขัดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหน้าที่ของข้อต่อที่มีต่อชีวิตประจำวันด้วย ในกรณีที่กล้ามเนื้ออ่อนกำลังลงเนื่องจากเกิดความผิดปกติของสมองไขสันหลัง รากประสาท หรือตัวกล้ามเนื้อเอง วิธีการทางกายภาพบำบัดที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยให้กล้ามเนื้อนั้นได้อีกในระยะเวลาพอสมควร โดยอาจใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อเส้นประสาท ใช้เทคนิคพิเศษกระตุ้นระบบประสาท และให้ผู้ป่วยพยายามพลิกตัวลุกนั่ง เดิน โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนที่ยังแข็งแรงอยู่ช่วยตนเอง หรือหาเครื่องช่วยเดินที่เหมาะกับสภาพของกล้ามเนื้อ เช่น การฝึกเดินโดยใช้ไม้ยันใต้รักแร้ ไม้เท้า แม้กระทั่งเก้าอี้ล้อเข็น

การที่ผู้ป่วยพยายามใช้ส่วนที่อ่อนแรงลง สามารถกระตุ้นให้ส่วนต่างๆ ของสมองและไขสันหลังกลับสู่สภาพเดิม หรือมีการสร้างวงจรใหม่ในสมองขึ้นมาอีกเพื่อทดแทนสมองส่วนที่เสียไปได้ ความเชื่อที่ว่ากล้ามเนื้อที่อ่อนแรงต้องให้ผู้อื่นบีบนวดจึงแข็งแรงขึ้นค่อนข้างล้าสมัย เพราะไม่ได้ทำให้สมองผู้ป่วยออกคำสั่งให้กล้ามเนื้อบีบตัว ผู้ป่วยต้องออกกำลังกาย พยายามช่วยตนเองทุกวิถีทางจึงจะมีโอกาสฟื้นจากโรคอัมพาตได้

ในกรณีที่เกิดอาการเจ็บปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิธีทางกายภาพบำบัดจะมุ่งลดอาการเจ็บปวดนั้น โดยสืบค้นต้นเหตุของอาการเจ็บปวดและแก้ที่ต้นเหตุนั้น การรักษาอาจใช้กระแสไฟฟ้า คลื่นเสียงความร้อนลึกจากคลื่นวิทยุ แสงอินฟราเรด เลเซอร์ โดยต้องลดอาการเจ็บปวดนั้นควบคู่ไปกับการค้นหาต้นเหตุของการเจ็บปวดนั้น ตัวอย่างเช่น

  • อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่เกิดจากความตึงของกล้ามเนื้อคอ
  • อาการปวดร้าวลงแขนขามักมีต้นเหตุจากเส้นประสาทแขนและขาถูกตึงมากเกินไปหรือถูกกดทับ
  • อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักเกิดจากท่าออกกำลังกายหรือท่าทำงานที่ไม่ถูกต้อง
  • อาการปวดน่องเป็นเหน็บเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก

ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ แต่มุ่งรักษาอาการปวดที่ตำแหน่งที่ปวด ไม่เพียงแต่ทำให้อาการปวดไม่ทุเลาลง ยังอาจปวดยิ่งขึ้นจนผู้ป่วยทนไม่ได้ ทำให้ต้องกินยาลดปวดมาก เกิดอาการแทรกซ้อนทางกระเพาะลำไส้ หรือแก้ไขปัญหาโดยตัดส่วนที่เจ็บปวดออก เข้าทำนองปวดที่ไหนตัดที่นั่นออก ในที่สุดการผ่าตัดหลายครั้งอาการปวดก็ยังไม่ทุเลาลง

ที่สำคัญ คือ อาการปวดที่ใดที่หนึ่งอาจมีต้นเหตุมากมาย เช่น ผู้ป่วยที่ปวดหลังอาจเกิดจากข้อต่อ กระดูกหลังติดขัด กระดูกหัก กระดูกสันหลังเบี้ยว หลังค่อม โรคไต วัณโรค มะเร็งของกระดูก เส้นประสาทถูกกดทับ เลือดเลี้ยงไม่พอ กล้ามเนื้อฉีกขาดทำงานไม่สมดุล มีความผิดปกติของสมองหรือไขสันหลัง มีความผิดปกติของกระเพาะลำไส้ มดลูก หรือเกิดอารมณ์แปรปรวนของผู้ป่วย

นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดยังมีบทบาทในการฝึกผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น แขน ขา ให้ได้มีโอกาสใช้อวัยวะส่วนนั้นอีกโดยใส่แขนเทียม ขาเทียม แนะนำวิธีการทำงานที่ถูกต้องตามโรงงานต่างๆ เพื่อลดอาการปวดหลัง พัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กให้นั่ง เดิน วิ่ง ได้ตามอายุ ป้องกันภาวะแทรกช้อนของปอด หรือฝึกผู้ป่วยให้หายใจและไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝึกผู้ป่วยโรคหัวใจให้ออกกำลังกายเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจให้ดีขึ้น

คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ไม่ว่ายาวิเศษหรือวิธีการวิเศษ โดยให้เทคโนโลยีทันสมัย ยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่ตายไปแล้วฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก หรืออยู่ยงคงกระพัน อาจมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับกรณีที่หัวใจหยุดเต้นชั่ว คราวโดยไม่รู้สาเหตุชัดเจนและอาจถูกกระตุ้นให้ฟื้นขึ้นมาได้

วิธีทางกายภาพบำบัดมุ่งหวังที่จะให้ร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ปรับกลไกภาวะสมดุลให้ทำงานได้อย่างปกติหรือเกือบปกติโดยไม่ต้องพึ่งยากิน ยาฉีด หรือการผ่าตัด ซึ่งอาจต้องให้โอกาสร่างกายในระยะเวลานานพอสมควร และเมื่อร่างกายสามารถปรับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ย่อมให้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีอายุยืนนานขึ้นด้วยสุขภาพที่ดี

ข้อมูลสื่อ

178-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2537
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข