• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดทะยัก

บาดทะยัก


ข้อน่ารู้
1.บาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพันธุ์หนึ่ง ในทีนี้ขอเรียกว่า “เชื้อบาดทะยัก” เชื้อนี้มีลักษณะพิเศษ คือ พบอยู่ตามดินทรายและมูลสัตว์ มีความคงทน สามารถมีชีวิตอยู่ตามดินทรายได้นานเป็นปี ๆ และแพร่พันธุ์ได้ดีในที่ ๆ ไม่มีออกซิเจน ดังนั้นโรคนี้จะเกิดกับผู้ที่มีบาดแผลแปดเปื้อนเชื้อบาดทะยัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดแผลที่มีปากแผลแคบ แต่ลึก (ซึ่งอากาศเข้าได้น้อยมาก) หรือบาดแผลที่เปื้อนดินทรายหรือมูลสัตว์ เช่น บาดแผลถูกตะปูหรือไม้ที่เปื้อนดินทรายทิ่มตำ
 

2. เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าทางบาดแผลสู่ภายในร่างกาย ก็จะมีการแบ่งตัวแล้วปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โรคนี้มีระยะฟักตัวระหว่าง 5วันถึง 15 สัปดาห์ (โดยเฉลี่ยประมาณ 8-12 วัน) มีข้อน่าสังเกตว่าระยะฟักตัวของโรคยิ่งสั้นเท่าไร อาการของโรคก็ยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเท่านั้น
 

3. โรคนี้จัดว่ามีอันตรายร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉลี่ยผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสรอดประมาณร้อยละ 40-50 ดังนั้นหากสงสัยควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้าหากได้รับการบำบัด รักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็มีโอกาสรอดและหายเป็นปกติได้มาก
 

4. หัวใจของโรคนี้อยู่ที่การป้องกันเป็นหลัก นับว่าโชคดีที่มีวัคซีนฉีดป้องกัน ซึ่งมีการนำมาใช้นานกว่า 20-30 ปีมาแล้ว ทำให้ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้น้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
วัคซีนป้องกันบาดทะยักนิยมฉีดให้เด็กเข็มแรกตอนอายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 ตอนอายุ 4 เดือน เข็มที่ 3 ตอนอายุ 6 เดือน แล้วฉีดกระตุ้นอายุ 1 ขวบถึง 1 ขวบครึ่งครั้งหนึ่ง และตอนอายุ 4-6 ปีอีกครั้งหนึ่ง แล้วต่อไปควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี

ในกรณีที่ไม่ได้ฉีดตามกำหนดอายุดังกล่าว เช่น ตอนเล็ก ๆ ไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อนเลย ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้เป็นจำนวน 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2ประมาณ 6-12 เดือน แล้วควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปีเช่นเดียวกัน ในกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้าหากเคยฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้งมาภายใน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีดกระตุ้น แต่ถ้าเกินกว่า 5 ปี ก็ต้องฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง
แต่ถ้าไม่เคยฉีดหรือฉีดวัคซีนมาไม่ครบ ก็ต้องฉีดวัคซีนควบคู่กับการฉีดเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก ซึ่งอย่างหลังนี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายสำหรับบางคน
ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้า นอกจากช่วยให้อุ่นใจที่มีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักแล้ว ยังไม่ต้องเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่มต้านพิษบาดทะยักอีกด้วย

5. สมัยก่อนทารกที่คลอดโดยหมอตำแยพื้นบ้านมีจำนวนไม่น้อยที่ตายด้วยโรคบาดทะยักซึ่งคนโบราณเรียกว่า “ตะพั้น” หรือ “สะพั้น” ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ไม้รวก (หรือตับจาก) ไม่สะอาดตัดสายสะดือ ทำให้เกิดการติดเชื้อบาดทะยักได้ง่าย ในปัจจุบันนี้สตรีนิยมคอดตาโรงพยาบาลมากขึ้น ปัญหานี้จึงนับว่าลดน้อยลงไปมาก ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไประหว่างฝากครรภ์หมอจะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้หญิงตั้งครรภ์ และการคลอดก็มีกรรมวิธีที่สะอาด โอกาสที่จะถูก “ตะพั้น” เล่นงานจึงมีน้อยมาก




⇒ รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นบาดทะยักมักมีประวัติว่ามีบาดแผลตามร่างกายมาก่อนปราณ 5 วันถึง 15 สัปดาห์ ซึ่งบาดแผลอาจหายสนิทจนลืมกันไปแล้วก็ได้ แล้วอยู่ ๆ ก็มีอาการตัวร้อนร่วมกับอาการขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ค่อยขึ้น กินอาหารลำบาก) แล้วต่อมาก็มีอาการชักเกร็งทั้งตัว ลักษณะการชักมีลักษณะเฉพาะคือ จะเกิดขึ้นชั่วขณะเมื่อถูกสัมผัสตามร่างกาย หรือเห็นแสงสว่าง หรือได้ยินเสียงดัง หากนอนอยู่เฉย ๆ ในห้องเงียบ ๆ แสงสลัว ๆ จะไม่ชัก คนไข้จะมีความรู้สึกตัวเป็นอย่างดี ไม่ซึม เพ้อ หรือหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาจะมีอาการหลังแอ่น เมื่อถึงขั้นนี้ก็ยากแก่การเยียวยารักษา

อาการขากรรไกรแข็ง กล้ามเนื้อชักเกร็งแบบนี้ อาจพบในกลุ่ม โรคติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า คนไข้จะมีอาการไข้ ซึม เพ้อ ชัก และในที่สุดจะหมดสติ (แตกต่างจากบาดทะยักที่ยังมีสติรู้ตัวตลอดเวลา) ส่วนโรคพิษสุนัขบ้าจะมีลักษณะเด่น คือ เริ่มต้นด้วยมีอาการชักเมื่อต้องลม ต่อมาจะมีอาการกลัวน้ำอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ อาจมียาบางชนิด เช่น ยาแก้อาเจียนที่มีชื่อว่า “เมโทโคลพราไมด์” (ยี่ห้อ “พลาซิล”) ยารักษาโรคจิต “กลุ่มฟีโนไทอาซีน” อาจทำให้เกิดอาการขากรรไกรแข็ง คอเอียง ลิ้นแข็ง (พูดอ้อแอ้) คล้ายอาการเริ่มแรกของบาดทะยักได้ มักเป็นอยู่นาน 4-6 ชั่วโมง จนกระทั่งหมดฤทธิ์ยาก็จะหายไปได้เอง โดยไม่เกิดอันตรายอะไร


⇒ เมื่อไรควรไปพบแพทย์
คนที่มีอาการขากรรไกรแข็ง หรือกล้ามเนื้อชักเกร็ง ควรจะไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาได้ทันท่วงที


⇒ แพทย์จะทำอะไรให้
- แพทย์จะซักถามประวัติการมีบาดแผล รวมทั้งประวัติการฉีดวัคซีน และการใช้ยาต่าง ๆ ทำการตรวจร่างกายโดยเฉพาะทางระบบประสาทและสมอง
ถ้าพบว่าเป็นบาดทะยัก จะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยากันชัก ยาต้านพิษบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ ให้การดูแลพยาบาลอย่างใกล้ชิด ในรายที่เป็นมากอาจต้องเจาะคอ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
แพทย์จะเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัยจริง ๆ จึงจะให้กลับบ้านได้

โดยสรุป บาดทะยักถึงจะเป็นโรคร้ายแรง แต่ก็รักษาได้ถ้าพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก(เมื่อเริ่มมีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากลำบาก) ข้อสำคัญโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน และทุกครั้งที่มีบาดแผลลึกและแคบ หรือบาดแผลสกปรก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันโรคนี้เสียแต่เนิ่น ๆ

 

                                                        การดูแลรักษาตนเอง

บาดทะยักเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง และอาจถึงแก่ชีวิตภายในไม่กี่วัน แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน ดังนั้น จึงควรยึดหลักปฏิบัติดังนี้
1. ทารกทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่อายุ 2 เดือน และฉีดให้ครบตามกำหนดที่แพทย์นัด

2. ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนตั้งแต่เล็กมาก่อน ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดป้องกันให้ได้ครบอย่างน้อย 3 ครั้ง

3. เมื่อมีบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลตะปูตำ ไม้ตำ หนามเกี่ยวหรือบาดแผลสกปรกเปื้อนดินทราย
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันบาดทะยักเสียแต่เนิ่น ๆ

4. ถ้าหากอยู่ ๆ มีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากลำบาก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะถ้า
หากมีอาการตัวร้อน และมีบาดแผลตามร่างกาย
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

194-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ