• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตามัว-ตากระจก

ตามัว-ตากระจก

 


 

 

ข้อน่ารู้
 

1. แก้วตาหรือเลนส์ตา (lens) ในคนปกติมีลักษณะเป็นวุ้นใสๆ มีหน้าที่คอยปรับการหักเหของแสงที่เดินทางผ่านเข้ามายังนัตย์ตา ให้เกิดเป็นจุดรวมแสงหรือโฟกัสตกลงบนจอภาพ ทำให้มองเห็นภาพต่างๆได้ชัดเจน เปรียบเหมือนกับการปรับโฟกัสของเลนส์ของกล้องถ่ายรูป เมื่อย่างเข้าวัยสูงอายุ แก้วตาจะเสื่อมตามสังขาร ทำให้มีลักษณะขุ่น เมื่อแสงเดินทางผ่านแก้วตาที่ขุ่นนี้จะทำให้การหักเหของแสงผิดเพี้ยนไป ทำให้การมองเห็นภาพพร่ามัวไม่ชัด และเมื่อแก้วตาเสื่อมถึงที่สุดจะทำให้แสงเดินทางผ่านไม่ได้ กลายเป็นตามืดบอด มองอะไรไม่เห็น เราเรียกโรคตาซึ่งเกิดจากแก้วตาขุ่นนี้ว่า “ต้อกระจก” (Cataract)

2. ต้อกระจกจึงถือว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมตามสังขาร (เช่นเดียวกับโรคข้อเข่าเสื่อม หูตึง เป็นต้น) คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นต้อกระจกกันแทบทุกคน แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกัน เรียกว่า “ต้อกระจกในผู้สูงอายุ” (senile cataract) แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจจพบโรคนี้ในคนอายุน้อยก็ได้ ซึ่งมักจะมีสาเหตุต่างๆ เช่น

-เป็นแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันโดยกำเนิด (มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ)

- เกิดจากการได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง

- เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน เป็นต้น

- เกิดจากยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์ หรือกินยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) นานๆ

- คนที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะขาดอาหาร ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้

3. โรคนี้มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาหลายปีกว่าต้อจะสุก (กล่าวคือ แก้วตาขุ่นถึงที่สุดทำให้ตาบอด) โดยมากจะไม่มีโรคแทรกซ้อน และเมื่อได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาต้อกระจกออกแล้ว ก็มักจะทำให้มองเห็นได้ดีดังเดิม

แต่ถ้าปล่อยให้ต้อสุกแล้วไม่ผ่าตัด ก็จะทำให้ตาบอดสนิท (ในปัจจุบันผู้สูงอายุในชนบทที่ขาดโอกาสในการรับการรักษาจากโรงพยาบาลจะมีอาการตาบอดเนื่องจากเป็นต้อกระจกจำนวนมาก)

 

 

4. โรคแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น มีได้ 2 กรณีใหญ่ๆ ดังนี้

ก. เมื่อต้อกระจกสุกเต็มที่แล้วไม่ผ่าตัดรักษา แก้วตาอาจบวมหรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของน้ำเลี้ยงในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นต้อหิน ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจทำให้ตาบอดอย่างถาวร ถึงแม้จะผ่าตัดในภายหลังก็แก้ไขไม่ได้

ข. บางคนอาจกลัวการผ่าตัดตา หรือเบื่อรอคิวผ่าตัดที่โรงพยาบาล หันไปรักษากับหมอพื้นบ้าน โดยใช้วิธีเขี่ยหรือกระทุ้งให้แก้วตาหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้แสงผ่านเข้าไปภายในตาได้ คนไข้จะรู้สึกหลุดออกจากความมืดสู่ความสว่างในฉับพลัน (ราวปาฏิหาริย์) และสามารถมองเห็นภาพได้ดีกว่าเดิม (แม้จะไม่ชัดเจนก็ตาม) แต่ระยะต่อมาอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในวุ้นลูกตา ต้อหิน เป็นต้น ทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นต้อกระจกจะรู้สึกว่าสายตาค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ ทีละน้อยในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง เวลาถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ บางครั้งอาจเห็นภาพซ้อนเป็นสองภาพ มักจะต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย คนไข้มักจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดงแต่อย่างใด อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรมปี จนในที่สุด (อาจกินเวลา 3-5 ปี) แก้วตาจะขุ่นขางจนหมด ซึ่งเรียกว่า “ต้อสุก” สายตาก็จะมืดมัวมองอะไรไม่เห็นถึงตอนนี้ถ้าใช้ไฟฉายส่องตรงกลางตาดำ จะเห็นแก้วตาขุ่นขาวชัดเจน

 

 

ผู้สูงอายุที่เป็นต้อกระจกมักจะเป็นที่ตาสองข้าง แต่จะข้างหนึ่งเป็นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง และต้อจะสุกไม่พร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตาม อาการตามัวก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดกับผู้ที่อายุน้อยหรือ วัยกลางคน เช่น

1. ต้อหินเฉียบพลัน เกิดจากทางระบายของน้ำเลี้ยงในลูกตาถูกอุดกั้นในฉับพลันทันที ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นฉับพลันทันที ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นฉับพลัน คนไข้จะมีอาการตามัว ตาแดงเรื่อยๆ และปวดตารุนแรง อาการมักเกิดเพียงข้างเดียวและพบในคนสูงอายุ ถือเป็นภาวะร้ายแรงต้องรีบไปพบแพทย์ทันที หากชักช้าจะทำให้ตาบอดถาวรได้

2. ต้อหินเรื้อรัง เกิดจากทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตาถูกอุดกั้นแบบค่อบเป็นค่อยไป ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ คนไข้จะมีอาการสายตาไม่ดี เฉพาะการมองดูด้านข้างๆ (การมองภาพที่อยู่ตรงกลางๆ จะยังเห็นชัดดี) ทำให้เดินชนถูกขอบโต๊ะ ขอบเตียง หรือขับขี่รถลำบาก (เพราะมองไม่เห็นระที่วิ่งอยู่ข้างซ้ายและขวา) มักพบในคนวัยกลางคนขึ้นไป และอาจมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย หากปล่อยปละละเลยก็อาจทำให้ตาบอดถาวรได้เช่นกัน

3. ต้อลำไย (ตาถั่ว) เกิดจากมีรอยแผลเป็นตรงกระจกตา (ตาดำ) ทำให้เห็นเป็นรอยขุ่นขาว ไม่ใสเหมือนปกติ ทำให้บดบังสายตา ตามัว ตามืดบอดได้ อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเป็นแผลที่กระจกตา หรือ การติดเชื้อ (เช่น เชื้อเริม เชื่องูสวัด เชื้อรา) ที่กระจกตา ถ้าประสาทตาภายในลูกตายังไม่ได้กระทบกระเทือน การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาก็อาจช่วยให้สายตากลับคืนเป็นปกติ (การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา ก็หมายถึง การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา มิใช่เปลี่ยนทั้งดวงตา)

4.ต้อเนื้อ (ต้อลิ้นหมา) เกิดจากการถูกแดด ถูกลม หรือถูกความร้อนระคายเคืองบ่อย จนทำให้มีเนื้อเยื่อบางๆ งอกบนกระจก มักจะเป็นตรงบริเวณมุมตาดำด้านใน (ชิดจมูก) บางครั้งเยื่อนี้อาจบดบังสายตา ทำให้ตามัวบางส่วนได้ การรักษา ถ้าเป็นมากแพทย์จะทำการผ่าตัดลอกเอาต้อเนื้อออกไป มักจะหายขาดได้

5.เบาหวานขึ้นตา คนที่เป็นเบาหวาน หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาในเลือดให้อยู่ระดับปกติ นานวันเข้าก็อาจมีอาการตามัวได้ อาจเพราะเกิดเป็นต้อกระจกหรือประสาทตาเสื่อมแทรกช้อนได้ คนที่เป็นเบาหวานควรตรวจเช็กตาเป็นระยะๆ และคนที่มีอาการตามัวก่อนวัยสูงอายุ (โดยไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานอยู่ก่อน ก็ควรจะตรวจดูว่ามีโรคเบาหวานซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

6. ผลข้างเคียงจากยา มียาหลายชนิด เช่น ยารักษามาลาเรีย ยารักษาวัณโรค เป็นต้น อาจทำให้เกิดอาการตามัวได้ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

7. สายตาผิดปกติ คนที่เป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง อาจมีอาการตามัวเวลามองภาพใกล้หรือไกลได้ หากสงสัยควรตรวจเช็กสายตา

8. โรคร้ายแรงอื่นๆ ประสาทตาเสื่อม เนื้องอกในสมอง ก็อาจทำให้มีอาการตาพร่ามัว โดยไม่มีอาการเจ็บตา ตาแดง แก้วตาใสเป็นปกติ มักพบก่อนย่างเข้าวัยสูงอายุ หากสงสัยก็ควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

คนที่มีอาการตามัว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการ ดังนี้

1. มีอาการปวดตาร่วมด้วยหรือตามัวหลังจากได้รับบาดเจ็บ ควรไปพบแพทย์ทันที

2. สงสัยเป็นเบาหวาน เช่น มีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรือมีญาติเป็นเบาหวาน

3. มีญาติเป็นต้อหิน

4. มีอาการตามัวก่อนเข้าวัยสูงอายุ

5. สงสัยเกิดจากผลข้างเคียงของยา

แพทย์จะทำอย่างไรให้

แพทย์จะตรวจหาสาเหตุของอาการตามัวด้วยการซักถามอาการและตรวจร่างกาย และดวงตา บางครั้งอาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ในกรณีที่พบว่า เป็นต้อกระจก ถ้าเป็นระยะเริ่มแรกแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว ไม่ให้ยาอะไรรักษาและนัดให้มาตรวจเช็กเป็นระยะๆ จนกว่าต้อสุก ในบางกรณี (เช่น คนไข้ไม่พร้อมที่จะผ่าตัด) แพทย์อาจให้ยาหยอดตาที่มีตัวยาในการชะลอให้ต้อสุกช้าลง แต่ไม่ได้ช่วยละลายต้อหรือทำให้สายตาดีขึ้น เมื่อต้อสุกแพทย์จะทำการผ่าตัด เอาแก้วตาหรือเลนส์ตาที่ขุ่นขาวออกไป

ในสมัยก่อนการผ่าตัดแต่ละครั้ง ต้องให้คนไข้นอนพักรักษาตัวนานหลายวัน หลังจากนั้นคนไข้ต้องตัดแว่นใส่เป็นประจำ ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ เช่น การใส่เลนส์ตาเทียเข้าไปแทนที่เลนส์ตาที่เอาออกไป การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด (การผ่าตัดสลายต้อด้วยเคลื่อนเสียงความถี่สูง) ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลา ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลนาน และมีความสะดวกที่ไม่ต้องใส่แว่น แต่วิธีเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะและค่าใช้จ่ายค่องข้างแพง

โดยสรุป ต้อกระจกเป็นสาเหตุอันดับแรกของอาการตามัวตาบอดในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเอาต้อที่สุกออกไป แล้วใส่แว่นหรือเลนส์ตาเทียมแทนที่จะช่วยกู้สายตาให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมได้
 

การดูแลรักษาตนเอง

ถ้าอยู่ๆ แล้วรู้สึกตามัว มองอะไรไม่ชัดเจน ก็แสดงว่าตาอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ถ้าพบว่า เป็นต้อกระจก ก็ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. ไปตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ ตามที่แพทย์นัด

2. ไม่มียากินหรือยาหยอดตาในการละลายต้อกระจก จึงไม่ควรซื้อยามาใช้เองตามการเล่าลือ พึงสังวรว่ายาหยอดบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อตาได้

3. เมื่อต้อสุกก็ให้แพทย์ผ่าตัดรักษาตามคำแนะนำของแพทย์

4. อย่าหลงเชื่อวิธีรักษาต้อกระจกแบบพื้นบ้าน เพราะอาจมีอันตรายทำให้ตาบอดถาวรได้

ข้อมูลสื่อ

179-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 179
มีนาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ