• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แสงเลเซอร์กับงานทันตกรรม

แสงเลเซอร์กับงานทันตกรรม


เพื่อให้ไปกันได้กับยุคโลกานุวัตร (Globalization) จึงจะขอนำเรื่องการใช้แสงเลเซอร์ในงานทันตกรรมมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีตัวนี้คงจะเข้ามาทีบทบาทในวงการทันตแพทย์มากพอๆ กับที่กำลังแสดงบทบาทในวงการแพทย์อันได้แก่ การผ่าตัดน้อยใหญ่ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ สำหรับโอกาสนี้จะขอนำเสนอในลักษณะนำร่องให้พอเห็นภาพกว้างๆ ก่อนว่าถูกประยุกต์มาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

เรื่องการใช้พลังงานแสงในงานทันตกรรมนั้นที่นับว่าทันสมัยที่สุดก็ ได้แก่ การใช้แสงฮาโลเจน (Halogen) ในการกระตุ้นให้วัสดุอุดฟันที่เรียกว่า composite resin ชนิด light actived (ถูกกระตุ้นด้วยแสง) ให้เกิดการแข็งตัวหลังจากได้นำวัสดุนี้อุดเข้าไปในรูผุของฟันที่ทันตแพทย์ได้กรอเตรียมไว้

ลักษณะของแสงฮาโลเจนที่มองเห็นได้จะเป็นแสงสีฟ้าสว่างจ้ามาก หลายคนที่เคยไปอุดฟันอาจจะเคยเห็นบ้าง แต่แสงเลเซอร์นั้นจะแตกต่างจากแสงฮาโลเจนมาก เพราะพลังงานที่เกิดกับแสงเลเซอร์จะสูงกว่าหลายเท่านัก ทำให้มีอำนาจในการทะลุทะลวงสูง (penetrating power) จากคุณสมบัติในการทะลุทะลวงได้ดีนี้เอง ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในงานทันตกรรมได้อย่างหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง อาทิเช่น การผ่าเหงือกแทนการใช้มีดกรีด โดยไม่ทำให้เลือดออกและแทบจะไม่เจ็บเลย เป็นต้น แต่หากจะจำแนกประโยชน์ในการใช้แสงเลเซอร์สำหรับงานทันตกรรมแล้ว สามารถจะสรุปแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ

การใช้กับเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่ เนื่อเยื่อบุผิวในช่องปาก เหงือก ลิ้น พังผืดต่างๆ ในช่องปาก และการใช้กับเนื้อเยื่อแข็ง (soft & Hard tissue) ชนิดหลัง ได้แก่ ฟันและกระดูก

สำหรับการใช้แสงเลเซอร์กับเนื้อเยื่ออ่อนนั้น นอกจากจะใช้ผ่าเหงือกดังกล่าวแล้วยังสามารถนำมาใช้รักษาแผลในช่องปากบางชนิด เช่น แผลติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า aphthous ulcer (ชาวบ้านเรียกว่า “แผลร้อนใน”) ขนาดใหญ่ ซึ่งมักมีความเจ็บปวดมาก ทำให้คนไข้ต้องทนทุกข์ทรมาน เนื่องจากกินอาหารลำบาก ทันตแพทย์ก็จะใช้แสงเลเซอร์ฉายกราดไปบนแผลนั้น ทำให้แผลแห้ง หมดความเร็วปวดในทันที

แสงเลเซอร์ยังช่วยในการผ่าตัดเนื้อเยื่อพังผืด (liqament) ใต้ลิ้นที่เกาะสูง (ทำให้เคลื่อนไหวลิ้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพียงฉายแสงตัดไปบนพังผืดให้ขาดออกโดยไม่ต้องฉีดยาชาก่อน คนไข้ก็จะสามารถเคลื่อนไหวลิ้นได้คล่องแคล่ว สามารถกระดกลิ้นหรือม้วนลิ้นขึ้นไปแตะบนเพดานปากได้ ช่วยให้พูดได้ชัดเจนขึ้น เช่น การออกเสียง “ร-เรือ”

ส่วนการใช้แสงเลเซอร์กับเนื้อเยื่อแข็ง ได้แก่ การใช้แสงเลเซอร์ช่วยในงานอุดฟันบางชนิด โดยไม่ต้องฉีดยาชาก่อน เช่น กรณีของฟันสึกกรณีคอฟัน ก็ใช้เลเซอร์ฉายไปบนเนื้อฟันส่วนที่สึกเท่านั้น ทำให้เกิดรูพรุนเล็กๆ ที่มีความลึกเท่าๆ กับการใช้กรดกัดเนื้อฟันนาน 1 นาที แล้วทำการอุดฟันต่อได้ทันที โดยไม่เกิดอาการเสียวฟันตามมา เช่น ที่เกิดกับการใช้กรดกัด (ในบางกรณี) หรือใช้เลเซอร์ฉายไปบนรูผุตื้นๆ โดยไม่ต้องกรอฟันเลย นอกจากนี้ยังใช้เลเซอร์ช่วยเตรียมผิวเคลือบฟันแทนการใช้กรดก่อนการผนึกร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ ช่วยลดเวลาการทำงานลงไปมากมายทีเดียว

กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อดีของการใช้เลเซอร์ในงานทันตกรรม ได้แก่

1. ช่วยลดเวลาทำงานลงได้หลายเท่า

2. ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

3. ประหยัดการใช้ยาชาและเสี่ยงต่ออาการแพ้ยาชาได้

4. ไม่มีเลือดออก

5. ไม่มีผลข้างเคียงตามมา

เป็นอย่างไรบ้างครับ ประโยชน์ของเลเซอร์เท่าที่เกริ่นมายืดยาวนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ โอกาสหน้าคอยติดตามอ่านรายละเอียดที่จะทยอยนำมาเสนอต่อไปดีไหมครับ

ข้อมูลสื่อ

179-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 179
มีนาคม 2537