• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฝังเข็มแบบดุลยภาพ การแพทย์นอกระบบที่ไม่ควรมองข้าม

การฝังเข็มแบบดุลยภาพ การแพทย์นอกระบบที่ไม่ควรมองข้าม


บทนำ

บันทึกประสบการณ์ชุด “ในทุกข์ยังมีสุข” ซึ่งถ่ายทอดโดย นายแพทย์วินันท์ ศิริกนกวิไล ชุดนี้ เป็นการเสนอวิธีคิดใหม่ๆ ในบางแง่มุมของชีวิตที่น่าสนใจให้กับผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง ล้มเหลวในชีวิตคงจะได้ประโยชน์จากข้อเขียนชุดนี้มากทีเดียว การนำเสนอแนวคิดผ่านประสบการณ์ในชุดนี้จะนำเสนอเป็นตอนๆ โดยแต่ละตอนจะมีบทสรุปจบในตัวเอง

ในช่วงที่ผมได้กลับมาพักฟื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้หวังดีทุกสารทิศได้พยายามแนะนำสิ่งดีๆ ต่างๆ ให้ผมได้รับทราบและรับติดต่อให้หากผมสนใจ อันเป็นธรรมชาติของสังคมที่เกื้อกูล เมื่อเพื่อนฝูงตกทุกข์ได้ยากก็พยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ และในรายผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต อันอาจกล่าวได้ว่ามีทางออกน้อยเต็มที

ในกลุ่มเหล่านี้มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความหวังในการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบดุลยภาพ และได้พยายามส่งข่าวคราวให้ผมได้รับทราบเผื่อจะสนใจ บุคคลเหล่านี้เป็นแพทย์และเป็นนักวิชาการทั้งสิ้น แต่อาจจะเป็นคนค่อนข้างใจกว้างอยู่สักหน่อยและอยากให้ผมไปลอง ซึ่งผมรู้สึกขอบคุณและอยากเอ่ยนามบางท่าน ณ ที่นี้ อันได้แก่ นายแพทย์สมศักดิ์ วัฒนศรี จากกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตผู้อำนวยการกองสถิติสาธารณสุข นายแพทย์ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง (นายแพทย์ใหญ่กรมการแพทย์) ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับผม และได้ไปรับการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบดุลยภาพอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งนายแพทย์โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้มีความสนใจในศาสตร์ของการฝังเข็มเป็นส่วนตัว และได้ศึกษาด้วยตนเองมาพอสมควร

จนกระทั่งผมคิดสนใจจะไปรับการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบดุลยภาพจากอาจารย์ลดาวัลย์ (พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ) ซึ่งท่านเป็นผู้ดำเนินการอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านสวน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 11 กรุงเทพฯ ด้วยมูลเหตุที่ว่าผู้หวังดีเหล่านี้เป็นผู้หวังดีโดยแท้จริง ซึ่งอยากให้ผมหาย ผมควรตอบสนองด้วยการพยายามฟื้นฟูร่างกายให้ดีที่สุด

ผมพยายามคุยเรื่องฝังเข็มกับผู้รู้หลายคน แต่ไม่รู้กระจ่างนัก ผมจึงตัดสินใจว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ รับการรักษา โดยผมตั้งใจไว้ว่าผมจะใช้การรักษาด้วยการฝังเข็มเสริม ส่วนที่ผมทำอยู่ประจำ คือ การทำกายภาพบำบัด โดยพยายามไม่ทิ้งกายภาพบำบัด

สรุปคือ เอาการฝังเข็มมาเสริมช่วยฟื้นฟูตัวเองโดยคิดว่าในกรณีของคนไข้ที่เป็นอัมพาตนั้น การดิ้นรนอย่างเต็มที่ย่อมเป็นวิสัยปกติกว่าการอยู่เฉยๆ แน่ๆ

ผมจึงเริ่มจัดตารางเวลาของผมในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันที่ผมว่างเว้นจากการทำกายภาพบำบัดอยู่แล้ว เดิดนทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรักษาและศึกษาการฝังเข็มแบบดุลยภาพ

ทฤษฎีดุลยภาพ คือ การให้ความสนใจในเรื่องโครงสร้างของร่างกาย อันได้แก่ ระบบกล้ามเนื้อและข้อกระดูกอันเป็นโครงสร้างใหญ่ของร่างกาย หากมีการเหนี่ยวรั้งให้บิดเบี้ยวหรือเสียดุลของโครงสร้างในร่างกายอยู่เป็นเวลานานๆ (ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ พฤติกรรม หรืออิริยาบถในการทำงาน) อันจะทำให้โครงสร้างของร่างกายกมีการเสียดุลยภาพ และจะทำให้ร่างกายซึ่งมีความเชื่อมโยงกันตลอดมีการปรับตัวโดยคนไข้เองไม่รู้ตัว และอาจได้รับการวินิจฉัยโรคที่เป็นผลจากปรากฎการณ์การปรับตัวของร่างกาย (แต่ไม่ใช่ต้นเหตุของโรค) ซึ่งมีมากมายจากแพทย์ในระบบว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ และอื่นๆ

การรักษาด้วยการฝังเข็มแบบดุลยภาพ จึงมีการซักประวัติที่มุ่งเน้นถึงประวัติอุบัติเหตุในอดีต และมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดในส่วนของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ในกรณีของผม ผมได้รับทราบแนวคิดเรื่องดุลยภาพมาก่อนจากกลุ่มผู้แนะนำมาแล้ว และได้ทบทวนเรื่องของตัวเองก็พบว่าไปด้วยกันได้ คือ ผมเคยประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเมื่อหลายปีก่อน ขณะรับราชการอยู่ที่จังหวัดกระบี่ที่ปักษ์ใต้ ผมไม่ได้รับบาดเจ็บเท่าใดนัก แต่พบว่า มีอาการเจ็บที่ต้นคอและหันเอียงคอไม่ค่อยสะดวก โดยอุปนิสัยของผม ผมไม่ได้สนใจสุขภาพตัวเองมากนัก เพราะมักจะทนอยู่ ถ้าทนได้

ในการมาโรงพยาบาลบ้านสวนครั้งนี้ผมจึงได้ทำการเอกซเรย์กระดูกต้นคอ (Cervical spine) เพื่อเตรียมมาให้อาจารย์ดู ผมก็ต้องตกใจที่พบว่ากระดูกต้นคอของผมมีอาการเชื่อต่อกันในระหว่างข้อต่างๆ จนเกี่ยวกันเป็นกระดูกชิ้นเดียว (ทั้งๆ ที่ปกติกระดูกต้นคอประกอบด้วยกระดูก 8 ชิ้น) การมาโรงพยาบาลบ้านสวนคราวนี้ทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ลดาวัลย์มากขึ้น ซึ่งผมพบว่า อาจารย์ค้นคว้าทฤษฎีนี้จากการทำงานและค้นคว้าศาสตร์แห่งการฝังเข็มด้วยตัวของท่านเอง โดยที่ท่านเป็นวิสัญญีแพทย์ โดยพื้นฐานจึงได้ศึกษาศาสตร์แห่งการฝังเข็มในการนำมาใช้รักษาในชิงระงับความเจ็บปวด ซึ่งเป็นความรู้ที่รู้กันมานานแล้ว

จากการศึกษาเพิ่มเติมและจากการทำงานที่ต้องพบกับคนไข้ที่มารักษาด้วยการฝังเข็มกับท่าน ทำให้ท่านได้พบเห็นคนไข้ที่มาด้วยอาการต่างๆ ที่มีสาเหตุจากร่างกายปรับตัวทดแทนจากการเสียดุลยภาพของโครงสร้างร่างกาย ท่านจึงได้คิดทฏษฎีการฝังเข็มแบบดุลยภาพขึ้น

การรักษาด้วยการฝังเข็มแบบดุลยภาพนั้น จุดหลักหาใช่อยู่ที่การฝังเข็มอย่างเดียว แต่เท่าที่ผมสรุปสิ่งที่อาจารย์ให้การรักษาผมและผู้ป่วยอื่นๆ 3 ข้อ คือ

1. ให้การศึกษาแก่คนไข้ คือ ให้ความรู้แก่คนไข้ถึงมูลเหตุของโรคและให้โอกาสคนไข้ตัดสินใจเลือกการรักษาด้วยการแพทย์แบบฝังเข็มดุลยภาพ หรือไปด้วยความสมัครใจ

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ เพื่อให้การปรับโครงสร้างกลับสู่สมดุลทีละน้อยๆ จนปกติ อันได้แก่ การฝึกสอนท่าออกกำลังกายต่างๆ อันจะมีท่าพื้นฐานในการออกกำลังกายอยู่ 2-3 ท่า และมีท่าออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อและโครงสร้างของร่างกาย ให้กลับสู่สภาพสมดุลของร่างกาย

3. การฝังเข็มให้คนไข้ซึ่งมีคุณูปการในหลายๆ ด้าน เป็นศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมาก เพราะเป็นศาสตร์ที่ลงทุนน้อย และอยู่ในวิสัยที่จะพัฒนาใหห้เป็นศาสตร์แห่งการพึ่งตนเองได้

สำหรับเฉพาะรายของผม ผมพบว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดและประจักษ์แก่ตัวเอง คือ การฝังเข็มทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายส่วนที่เป็นอัมพาตไม่เกร็งตัว แต่มีการหย่อนตัวทำให้ฝึกออกกำลังกายได้ดีขึ้น และพัฒนาการควบคุมร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถรวมกับกายภาพบำบัดซึ่งผมทำเป็นประจำอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี

ในหลายครั้งที่ไปรักษาด้วยการฝังเข็มกับอาจารย์ลดาวัลย์ที่โรงพยาบาลบ้านสวน ซึ่งผู้มารับการรักษาตั้งใจมาด้วยตนเองและมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี มีฐานะพอสมควร เห็นได้จากการที่ส่วนใหญ่เดินทางมาด้วยรถเก๋งและมีโทรศัพท์มือถือ

มีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ผมเห็นหน้าเป็นประจำ และมีชาวต่างประเทศด้วย มีความครั้งทีเดียวที่คนไข้รอคิวยาว และรอคอยอยู่นานกว่าจะได้รับการรักษา แต่อาจารย์ลดาวัลย์ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนทุกราย แม้จะเลยเวลาปิดโรงพยาบาลไปแล้วก็ตาม (โรงพยาบาลบ้านสวน ปิดเวลา 14.00 น.) เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับและเชื่อถือของคนไข้ที่รับการรักษา ซึ่งอาจารย์ลดาวัลย์ได้อุทิศและสละให้กับคนไข้เมื่อเทียบกับค่ารักษาอันน้อยนิดที่อาจารย์เรียกเก็บ ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนกับการบริหารเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชนระดับนี้ได้

มีอยู่หลายครั้งที่ผมได้ฟังเรื่องปรับทุกข์ของอาจารย์ที่น้อยใจในความไม่เข้าใจของเพื่อนแพทย์ เพื่อนอาจารย์ที่ปิดกั้นไม่ยอมรับรู้รับฟัง อีกทั้งยังโจมตีตัวอาจารย์ลดาวัลย์ที่ปฏิบัติตัวผิวแนววิสัญญีแพทย์ทั่วไป นี่นับเป็นความยากอย่างยิ่งในการพยายามทำความดี แต่โดยความเข้าใจของผม ผมเห็นว่านี่อาจเป็นประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับการแพทย์นอกระบบอื่นๆ เช่น เมื่อครั้งที่อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ปูชนียาจารย์ แห่งศิริราช ซึ่งเล็งเห็นประโยชน์แห่งภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทยเดิมและดำรินำวิทยาศาสตร์แผนใหม่ไปประยุกต์พัฒนาการแพทย์ไทยเดิมให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ถึงขนาดลงทุนตั้งโรงเรียนอายุรเวทขึ้นตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร และผลิตแพทย์อายุรเวทออกมาได้หลายรุ่น แต่ก็ต้องพบขวากหนามมากมาย จนในเบื้องท้าย ความตั้งใจที่จะใช้ชื่อแพทย์อายุรเวทของท่านก็ถูกตีตกจากวุฒิสมาชิกบางคนที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน และเป็นอาจารย์แพทย์

จึงนับเป็นความคล้ายคลึงที่เจ็บปวดในการพัฒนาการแพทย์นอกระบบ ซึ่งเป็นการแพทย์ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย มีราคาถูก และชาวบ้านยอมรับ จึงสมควรอย่างยิ่งที่การแพทย์ในระบบควรอุ้มชูและให้กำลังใจสนับสนุน เพื่อให้อย่างน้อยประชาชนมีทางเลือกหลากหลาย การแพทย์ไทย และภูมิปัญญาไทยจะได้รับการพัฒนาบ้าง ไม่ต้องมาคอยเชื่อเวลาเมืองนอกเชื่อแล้วเท่านั้นเพราะเป็นวิถีค้ำจุนให้เกิดความสุขในสังคมและเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันไม่ใช่หรือ

 

ตอน อนุสติ

ในการเจ็บป่วยคราวนี้ ผมได้ควถามรู้และได้คิดในหลายเรื่อง ซึ่งน่าจะคิดได้นานแล้ว แต่ไม่คิด เพิ่งมาคิดได้ยามมีความทุกข์ยากในชีวิต จึงอยากให้เพื่อนๆ ของผมทั้งหลายได้สติส่วนนี้โดยการบอกเล่าจากผมโดยไม่ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นก่อน หากเพื่อนๆ ท่านใดได้สติส่วนนี้อยู่แล้วก็โปรดวางเฉย และอย่าได้คิดตำหนิผมเลยที่ยกเรื่องของผมเป็นอนุสติ เพราะผมมีเจตนาดีต่อเรื่องนี้ ดังที่ได้เกริ่นนำมานี้

1. ความทุกข์ยากของผมครั้งนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแห่งการเกิด แก่ เจ็บ และตาย การเจ็บของผมครั้งนี้แม้จะไม่ตายก็เกือบเอาตัวไม่รอด เพราะผมตั้งอยาในความประมาท คือ การกินดีอยู่ดีเกินไปและออกกำลังกายน้อย แม้ผมเองจะเป็นแพทย์และมีความรู้ก็หาได้ช่วยให้ผมหลุดพ้นจากกฎธรรมชาติและผลแห่งความประมาทไปได้ เมื่อถึงจุดนี้ผมได้แต่หวังว่าเพื่อนๆ ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขของผม โดยเฉพาะเพื่อแพทย์และผู้บริหารสาธารณสุขอีกหลายคน ซึ่งผมมีความรักและนับถือจะไหวตัวทันและปรับพฤติกรรมให้ชีวิตมีสุขภาพดีตามสมควร โดยการกินน้อยใช้น้อยและหมั่นออกกำลังกายเป็นเนืองนิตย์ ผมพลาดไปแล้วไม่อยากให้ผู้ใหญ่และเพื่อนๆ ในวงการต้องพลาดพลั้งอย่างผมอีก เพราะท่านเป็นทรัพยากรมีค่าของสังคมที่ตัวท่านเองต้องช่วยดูแลรักษาตัวท่านเอง ไม่มีใครช่วยท่านได้ อย่าได้ละเลยสุขภาพอย่างที่ผมเคยเป็นและผิดพลาดมาเช่นนี้แล้ว

2. การที่ผมรอดตายในคราวนี้แม้จะป่วยหนัก ด้านหนึ่งผมอาจโชคดีและอาจมีกรรมดีบางส่วนคุ้มครองผมอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ กำลังใจอันมหาศาลที่ผมได้จากเพื่อนเก่าและมิตรใหม่ในยามทุกข์ยากซึ่งได้ช่วยเหลือผมทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผมไม่อาจจะบันทึกความดีของเพื่อนๆ ได้หมด แต่ผมซาบซึ้งและขอบคุณกำลังใจทั้งหมดที่เพื่อนๆ ทุกท่านมีให้ผม ผลบุญนี้จะทำให้ท่านมีความสุขแน่นอน และได้ส่งผลให้ผมมีความรอดพ้นจากการป่วยอย่างแน่นอน

ผมถือเป็นภาระที่จะต้องจดจำความดีของท่านไว้ชั่วกาลนาน คงมีหลายส่วนจากเพื่อนๆ หลายคนที่ผมมิได้บันทึกไว้ แต่ก็พยายามนึกและบันทึกตรงนี้เลย เช่น คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และคุณหมอทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ที่ได้เจียดเวลาอันมีค่าในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มาช่วยพยุงผมหัดเดินบนทางเชื่อมตึกขึ้น 7 โรงพยาบาลรามาธิบดีในขณะที่ผมยังเดินไม่ได้

คณะเพื่อนแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอยุธยาและจากชุมพวง ที่ได้กรุณาจัดทีมพยาบาลมาดูแลผมขณะที่ผมช่วยตัวเองไม่ได้เลยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี อีกทั้งหลายส่วนได้กรุณาบริจาคเงินทองช่วยเหลือผม ซึ่งแม้ว่าท่านเหล่านั้นจะยืนยันว่าไม่เป็นภาระ แต่ก็ทำให้ผมซาบซึ้งน้ำใจอย่างยิ่งและทำให้ผมยอมรับในความช่วยเหลือจากเพื่อน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในชีวิตผม

ผมขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อท่านปรีดี ตันติพงศ์ อาจารย์ติระ บุญยรัตเวช และคณะแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดดี โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลวังน้อย ในการได้ร่วมมือกันช่วยเหลือผมให้รอดพ้นจากความตายได้ รวมทั้งผู้ที่มาเยือนผมขณะที่ผทยังอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ มันเป็นกำลังใจอันมหาศาลและผมขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้

ข้อมูลสื่อ

179-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 179
มีนาคม 2537
อื่น ๆ
นพ.รวินันท์ ศิริกนกวิไล