• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพูดผิดปกติ

การพูดผิดปกติ

การพูดไม่ชัด เป็นการเปล่งเสียงพูดออกมาผิดเพี้ยนไปจากการพูดของคนปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากเรามักจะพบในวัยเด็ก ลักษณะของเสียงพูดไม่ชัด เช่น
พูด “เฝือ” แทน “เสือ” ผิดเสียงพยัญชนะต้น
พูด “กิง” แทน “กิน” ผิดเสียงตัวสะกด
พูด “โม๊ะ” แทน “มด” ลดเสียงตัวสะกด
พูด “กลินข้าว” แทน “กินข้าว” เพิ่มเสียงพยัญชนะต้น
หรือมีบางรายพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่องว่าเป็นเสียงอะไรเลยก็มี เป็นต้น
 

สาเหตุของการพูดไม่ชัด แบ่งได้ดังนี้
1. มีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ริมฝีปากแหว่ง เพดานโหว่ มีเส้นยึดที่ปลายลิ้น ลิ้นโตคับปาก ลิ้นเล็กเกินไป รูปฟันผิดปกติ โพรงปากผิดปกติ ประสาทหูพิการ( หูตึง ) ปัญญาอ่อน สมองพิการ หรือมีความผิดปกติของระบบประสาทควบคุมอวัยวะออกเสียง
ความผิดปกติดังกล่าวสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง จะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถพูดชัดได้ อาการผิดปกติจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ละบุคคลไป

2. ความไม่พร้อมของอวัยวะในการเปล่งเสียง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ของร่างกาย เราจะพบได้มากในเด็กเล็กที่เริ่มหัดพูดเกือบทุกราย แต่เมื่อเขาโตขึ้น อายุมากขึ้น มีความพร้อมของการทำหน้าที่ของอวัยวะดีพอ เขาก็สามารถพูดได้ชัดเหมือนคนปกติ แต่ก็มีบางรายเหมือนกันที่โตแล้วก็ยังพูดไม่ชัด

3. การเลียนแบบผิด ๆ คือเคยได้ยินและจำเสียงพูดผิด ๆ นั้น แล้วหัดพูดตามจนเป็นความเคยชินกับเสียงนั้น เช่น การพูดตามเสียงของคนใกล้ชิด การพูดตามสำเนียงท้องถิ่น แล้วนำเสียงพูดนั้นมาใช้กับภาษากลาง หรือมีบางรายที่พูดไม่ชัดแล้ว ได้รับความเอ็นดูจากผู้ใหญ่ ๆ เห็นเป็นอาการน่ารัก เด็กเลยไม่เปลี่ยนการพูดให้ถูก เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อไป
 

การแก้ไขการพูดไม่ชัด
ก่อนอื่นจะต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติทางร่างกายเสียก่อน ผู้ปกครองอาจจะตรวจดูด้วย ตัวของท่านเองก่อนก็ได้ เช่น ดูริมฝีปาก ดูอวัยวะภายในโพรงปาก ลิ้น ฟัน เหงือก เพดาน การดูอย่างนี้เป็นการดูเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ควรจะส่งพบแพทย์ตรวจร่างกายให้ละเอียดต่อไป ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจการได้ยิน การตรวจระดับสติปัญญาการตรวจระบบประสาทเป็นต้น

หากพบว่ารายใดมีความผิดปกติทางร่างกาย แพทย์จะได้แก้ไขเสียก่อน ซึ่งอาจจะต้องมีการผ่าตัดในรายที่จำเป็น หรือการพิจารณาใส่เครื่องช่วยฟังในรายที่พบว่ามีประสาทหูพิการ เป็นต้น
เมื่อเด็กได้รับการแก้ไขสาเหตุแล้ว ใช่ว่าการพูดของเด็กจะชัดเจนขึ้นโดยทันที ผู้ปกครองจะต้องพาเด็กของท่านมาพบผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขการพูดผิดปกติ เพื่อพิจารณาวางแผนการบำบัดแก้ไข ตลอดจนการแนะนำวิธีการช่วยเหลือบางประการที่ผู้ปกครองสามารถที่จะช่วยเหลือเด็กได้ในบางกรณี

สำหรับรายที่พูดไม่ชัดโดยไม่มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของการทำหน้าที่ของอวัยวะ หรือการเลียนแบบผิด ๆ หรือการพูดไม่ชัดเพื่อเรียกร้องความสนใจ สาเหตุเหล่านี้จะแก้ไขได้ง่ายกว่า ผู้ปกครองมีส่วนช่วยได้มากทีเดียว โดยธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กจะทำให้เขาสามารถพูดชัดได้เมื่อเขามีความพร้อม และได้รับการกระตุ้นที่ถูกต้องอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าสภาพแวดล้อมมีแต่การพูดที่ชัดเจนให้เขาได้ยินทุกวัน เขาจะพยายามปรับตัว จนออกเสียงได้ชัดตามคนอื่นได้ ซึ่งบางรายอาจจะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ละบุคคล บางรายอายุเพียง 4 ขวบก็พูดได้ชัดเจนแล้ว แต่บางรายอายุ 12 ปีแล้วยังพูดไม่ชัดอยู่ก็มี
จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า เด็กพูดไม่ชัดที่มีอายุมากแล้วมาขอรับการฝึกพูดจะแก้ไขได้ยากกว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า

เพราะฉะนั้นหากพบว่าบุตรหลานของท่านอายุเกิน 3 ขวบครึ่งแล้วยังพูดไม่ชัด ควรส่งพบผู้เชี่ยว-ชาญเพื่อขอคำแนะนำได้แล้ว เพราะว่าเด็กเดี๋ยวนี้ต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลแล้ว ไม่รู้อะไรกันนักหนา และก็บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองพาเด็กมาผู้เขียน เพื่อเตรียมตัวสอบแข่งขันกันเข้าเรียนในระดับอนุบาลเด็กเล็ก ช่วงอายุที่ควรส่งเด็กพูดไม่ชัดที่มิใช่สาเหตุทางร่างกายผิดปกติมาพบผู้เชี่ยวชาญประมาณ 3 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบ ถ้าอายุน้อยกว่านี้เด็กจะซนมาก ช่วงความสนใจจะสั้น การฝึกแก้ไขไม่ค่อยได้ผล

ท่านสามารถเปรียบเทียบความชัดเจนในการพูดของบุตรหลานของท่านได้จากตาราง เพื่อประกอบการพิจารณาการส่งเด็กพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ผู้เขียนคิดว่าสัมปทานคราวละ 2 หน้า สงสัยจะไม่จบใน 2 หรือ 3 ตอนแน่เลยคงต้องพบกันอีกแล้วในฉบับต่อไป ดูท่าจะเป็นนิยาเรื่องยาวเสียแล้วล่ะสิ

 

ข้อมูลสื่อ

195-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 195
กรกฎาคม 2538
อจ.ปริญญา หลวงพิทักษ์ชุมพล