• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ผ้าพันแผล (ตอนที่ 2)

“ผ้าพันแผล” ที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน คือ ผ้าพันชนิดม้วน อาจเป็น “ผ้าโปร่ง” ชนิดเดียวกับผ้ากอซ หรือ “ผ้ายืด” ก็ได้

     

วิธีการพันไม่แตกต่างกัน แต่ต้องเลือกขนาดให้พอเหมาะกับบริเวณที่จะพันคือ
1. ผ้าพันสำหรับพันนิ้วมือ นิ้วเท้า จะใช้ขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว
2. ผ้าพันสำหรับพันแขนและขา จะใช้ขนาดกว้างประมาณ 2-4 นิ้ว
3. ผ้าสำหรับพันศีรษะ ลำตัว ขาหนีบ จะใช้ขนาดกว้างประมาณ 4-6 นิ้ว

สำหรับผ้าสามเหลี่ยม อาจใช้ผ้าผูกคอลูกเสือหรือผ้าอื่นๆที่หยิบฉวยได้ในบ้าน เช่น นำผ้าสี่เหลี่ยมมาพับสองทบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือตัดเฉลียงตรงกลาง เป็นต้น

วิธีพันผ้าชนิดม้วน
1. ผู้พันผ้าและผู้บาดเจ็บหันหน้าเข้าหากัน อวัยวะที่จะพันอยู่ในท่าสบาย อาจมีภาชนะรองรับหรือมีผู้ช่วยพยุงไว้
2. ใช้มือข้างที่ถนัดจับม้วนผ้าหงายขึ้นเพื่อสะดวกในการคลี่ผ้าพัน
3. เริ่มพันส่วนเล็กของอวัยวะมาหาส่วนใหญ่
4. เมื่อเริ่มต้นพันให้พันทับรอยเดิม 2-3 รอบก่อนเพื่อให้ชายผ้าพันอยู่กับที่
5. ถ้าต้องการให้ดูสวยงามควรพันให้ผ้าเกยกันในระยะที่เท่าๆกันทุกรอบ เช่น ประมาณ 2 ใน 3 ของความกว้างของผ้า
6. เมื่อพันผ้าจบแล้ว อาจฉีกปลายผ้าพันเป็น 2 ปลายแล้วผูกสองปลายที่ฉีกให้เป็นปม โดยให้ปลายข้างหนึ่งอ้อมไปบนอวัยวะที่พัน ปลายฉีกข้างหนึ่งอ้อมใต้อวัยวะที่พันไปพบกันแล้วผูก “ระวังอย่าให้ปมของปลายผ้าพันกดบนบาดแผลผู้ป่วย” หรืออาจใช้พลาสเตอร์หรือเข็มซ่อนปลายยึดปลายผ้าพันไว้
7. ผ้าพันแผลควรสะอาดและแห้ง
8. หลังพันผ้าพันแผลแล้วประมาณครึ่งชั่วโมงให้สังเกตดูแผลอาจบวมขึ้นถ้าพันแน่นเกินไปให้คลายออกให้พอเหมาะ
 

 

ข้อมูลสื่อ

97-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์