• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปาก : ประตูสู่สุขภาพ

ปาก : ประตูสู่สุขภาพ


หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะปากเป็นช่องทางนำอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับร่างกายนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ในปากเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่การบดเคี้ยวให้อาหารเป็นชิ้นเล็กลง เพื่อให้การย่อยอาหารเป็นไปได้ง่ายขึ้นซึ่งจะช่วยให้คนๆ นั้นได้รับสารอาหารตามที่ควรจะได้ ทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างเสริมความแข็งแรงได้เต็มที่

นอกจากนี้การเคี้ยวยังเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งของน้ำลายมากขึ้น ซึ่งในน้ำลายเองก็มี “ภูมิคุ้มกัน” ช่วยป้องกันเชื้อโรคบางอย่างในปากด้วย ทำนองกลับกัน ถ้าในปากไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยว หรือฟันไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ กระเพาะอาหารก็ต้องทำงานหนัก การย่อยสลายอาหารเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายเป็นไปได้ช้าลงและน้อยลง คนๆ นั้นก็มักจะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไป ยิ่งถ้ามีที่เก็บกักเชื้อโรคอยู่ในปาก เช่น มีฟันผุที่ไม่ได้รักษา เหงือกบวม เป็นหนอง (รำมะนาด) ก็จะเป็นทางที่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่นทอนซิล ลิ้นหัวใจ เป็นต้น

ในปัจจุบันโรคต่างๆ ที่ทันสมัยหรือกล่าวได้ว่ามากับความเจริญ ล้วนเป็นโรคที่มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ ไม่น้อย เช่น โรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร จากภาวะโภชนาการที่ล้นเกิน ซึ่งนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป เหล่านี้จะเห็นไดว่า “ปาก” เป็นประตูสู่สุขภาพจริงๆ

เมื่อพูดถึงปาก เราควรนึกไปถึงอวัยวะในปากด้วย อันได้แก่ ฟัน เหงือก ลิ้น ฯลฯ เพราะอวัยวะเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้การทำงานของปากดีขึ้น ยังมีผลทำให้เกิดความสวยงาม เสริมสร้างบุคลิกที่ดีแก่ผู้เป็นเจ้าของด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาให้อวัยวะในปากมีความแข็งแรง ก็จะเป็นส่วนที่สนับสนุนให้เราสุขภาพที่ดี ในผู้ที่ดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอยู่แล้วก็ไม่ควรจะละเลยการดูแลสุขภาพของปากและฟันด้วย

อวัยวะในปากที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด ได้แก่ เหงือกและฟัน ซึ่งเคยเป็นที่เชื่อกันว่าเมื่อถึงวัยชรา อวัยวะทั้งสองก็ดูจะไม่ปรองดองกันอีกต่อไป คือ ฟันพร้อมจะลาจากเหงือกไปได้ทุกเมื่อ การดูแลนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องให้เวลาในการเอาใจใส่ดูแลบ้างแค่ 3-4 นาทีในการทำความสะอาดฟันให้สะอาดอย่างทั้วถึงในการแปรงฟันแต่ละครั้ง ซึ่งควรจะแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยรวมแล้วจะเห็นว่าใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีต่อวัน

อีกประการที่จะช่วยประหยัดเวลารวมทั้งค่าใช้จ่ายในการไปพบทันตแพทย์ได้มาก ก็คือ การระวังไม่ตามใจปากจนเกินไป ไม่ควรกินของจุบจิบพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะของประเภทขบเคี้ยวที่มีรสหวาน ถ้าจะกินก็ควรกินเป็นมื้อเป็นคราว เพียงเท่านี้ก็จะสามารถทำให้คุณมีสุขภาพปากและฟันแข็งแรงอยู่เคียงข้างคุณไปได้นานๆ

ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2537 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ความสำคัญกับสุขภาพของช่องปากเพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาฟันและอวัยวะในช่องปาก เพราะปัญหาเรื่องโรคฟันผุและโรคเหงือกเป็นโรคที่ประสบกันอยู่ถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นประเทสที่มั่งมีหรือยากจน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศสามารถเอาชนะโรคบางอย่าง เช่น ฟันผุได้ในระดับที่น่าพอใจ เพราะจากการที่ประเทศนั้น ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา การใช้มาตรการทางวังคมต่างๆ โดยเฉพาะการนำยาสีฟันผสมฟูออไรด์รูปแบบต่างๆ เช่น การเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาของชุมชน เป็นต้น

ในเรื่องนี้ประเทศไทยของเราก็มิได้น้อดยหน้ากว่าประเทศที่เจริญแล้วมากนัก แม้ว่าเราจะไม่ร่ำรวยเท่ากับเขา แต่เราสามารถควบคุมโรคฟันผุ ไม่ให้ขึ้นไปสูงเกิกว่าที่เราเคยเป็ฯได้ในกลุ่มเด็กวัย 12 ขวบ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบทางทันตสาธารณสุขเองก็สนับสนุนและผลักดันให้มีมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้ใช้นาสีฟันผสมฟลูออไรด์ การอมน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์ในเด็กชั้นประถมศึกษา เป็นต้น

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันอนามัยโลกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประกวดคำขวัญขึ้น โดยให้ใช้คำขวัญภาคภาษาอังกฤษเป็นแนวทาง นั่นคือ Oral Health for a Healthy Life สำหรับคำขวัญที่ชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ แปรงฟันถูกวิธี สุขภาพช่องปากดี หาชีวีสุขสันต์ ทั้งนี้โดยหวังว่าคำขวัญนี้จะให้ข้อคิดเป็นคำเตือนใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก และนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัยต่อไป

ข้อมูลสื่อ

180-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
เมษายน 2537
อื่น ๆ
หมอปุ้ย