• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มนุษย์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

มนุษย์กับความหลากหลายทางชีวภาพ


พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์กำเนิดขึ้นมาในโลกจากกระบวนการตามธรรมชาติ โดยเหตุผลเช่นเดียวกันการก่อกำเนิดขึ้นของมนุษย์” ข้อความนี้คัดลอกมาจากบทความเรื่อง“สูญไปจากแผ่นดินสยามปัญหาพังทลายของทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศไทย” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรค่าแก่การเข้าใจอย่างยิ่ง
การที่มนุษย์พยายามคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติให้น้อยลง เพื่อให้มีผลิตผลมากขึ้น และคำนึงแต่ผลประโยชน์ทางการค้า เช่น พืชสายพันธุ์นี้ต้องใช้ปุ๋ยยี่ห้อของบริษัทนี้เท่านั้น หรือการเลี้ยงหมูพันธุ์ที่ต้องใช้อาหารจำเพาะสูตรพิเศษของบริษัทนั้นเท่านั้น ต้องใช้ฮอร์โมน ต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้นของบริษัทนั้นเท่านั้น มิฉะนั้นสัตว์จะไม่เติบโตและตายได้ ล้วนเป็นการขจัดคู่แข่งทางการค้า และรวมเอาผลประโยชน์อยู่ในกลุ่มเดียวเท่านั้น เสมือนหนึ่งสิ่งมีชีวิตก็เป็นวัตถุเยี่ยงคอมพิวเตอร์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา จำเป็นต้องมีลิขสิทธิ์และต้องซื้อขายลิขสิทธิ์กัน

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ พันธุ์พืช พันธ์สัตว์ รวมทั้งพันธุ์มนุษย์ ล้วนก่อเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครคิดค้นขึ้นมา สิ่งที่มนุษย์พยายามทำเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์มีแต่ทำให้สภาพของโลกแย่ลง พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ก็จะสูญพันธุ์ไป
มีประเทศหนึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อว่ามนุษย์พันธุ์ตนเองดีสุด และพยายามกำจัดมนุษย์เชื้อชาติอื่นให้สูญสิ้นไป เพื่อจะได้เหลือแต่พันธุ์มนุษย์ของชาติเดียว ทั่วโลกประฌามการกระทำเหล่านี้ และไม่ยินยอมให้กระทำเช่นนี้ต่อมนุษยชาติ

ในสมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันมนุษย์ได้เรียนรู้ว่าการแต่งงานในครอบครัวเดียวกัน ทำให้เด็กที่คลอดออกมาอ่อนแอ และไม่แข็งแรง คนจีนกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่า คนที่มีแซ่(นามสกุล) เดียวกันห้ามแต่งงานกัน เนื่องจากผู้ที่มีแซ่เดียวกันย่อมมาจากต้นตระกูลเดียวกัน ดังนั้นคนจีนมีการแต่งงานข้ามหมู่บ้าน บ้านมณฑล ข้ามประเทศ ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้เป็นที่ยอมรับกันว่าชาวจีนมีความถนัดในหลาย ๆ เรื่อง และมีระบบการคิดที่แตกต่างกับชนชาติอื่น ๆ ทั้งทางคณิตศาสตร์และปรัชญา และมีบทบาทในสถาบันการศึกษา สถาบันค้นคว้าชั้นสูงของประเทศสหรัฐอเมริกา
ชาวอเมริกันก็เป็นชนชาติหนึ่ง ที่มีความหลากหลายในพันธุกรรมมนุษย์ เพราะมีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวพื้นเมือง ซึ่งเป็นอินเดียแดง ชาวยุโรป และชาวเอเชีย คนอเมริกันจึงมีความเฉลียวฉลาดและมีการค้นคว้าวิจัยมากมาย

มนุษย์พันธุ์ของชาติไทยน่าจะมีประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 5,000 ปี จากหลักฐานทางโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดค้นได้ในภูมิภาคแถบนี้ และมีการแต่งงานระหว่างชนชาติพื้นเมืองชนชาติจีน และชนชาติอื่น ๆ จึงทำให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่แพ้ชนชาติอเมริกัน ที่กล่าวมานี้เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีสายพันธุ์เดียวกันคงไม่ทำให้เกิดปัญญาที่ฉลาดเฉลียว และพัฒนาประเทศชาติได้เช่นอย่างทุกวันนี้
ในด้านพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ควรจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ไม่ใช่มีแค่สายพันธุ์เดียวหรือไม่กี่สายพันธุ์ การแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้มีพืชพันธุ์ใหม่ สัตว์พันธุ์ใหม่ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย การนำเอาสัตว์พันธุ์อื่นจากประเทศเมืองหนาว ทำให้เลี้ยงลำบาก สัตว์ล้มตายได้ง่าย ไม่แข็งแรง และผสมพันธุ์ยาก

ตัวอย่างเช่น การนำเอาโคนมพันธุ์ต่างประเทศมาเลี้ยงทำให้ได้น้ำนมน้อยกว่าเลี้ยงในเมืองหนาวและต้องฉีดฮอร์โมน ยากำจัดพยาธิชนิดต่าง ๆ และยาปฏิชีวนะมากมายซึ่งจะเจือปนมากับน้ำนม เมื่อเราดื่มเข้าไปแล้วย่อมสะสมสารพิเหล่านี้ไว้ในร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดภูมิแพ้และเสี่ยงต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเหล่านี้เช่นเดียวกับไก่พันธุ์เนื้อที่เลี้ยงโดยฉีดฝังฮอร์โมนไว้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้บริโภค

ความจริงแม้แต่อาหารการกินของคนไทยก็ได้รับความกระทบกระเทือนจากการปรับปรุงสายพันธุ์จากประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามยัดเยียดให้ เช่น การดื่มนม การดื่มเครื่องดื่มและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น น้ำอัดลม เราต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ซึ่งต่อไปสุขภาพของคนไทยจะแย่ลงเยี่ยงคนในประเทศเหล่านั้น คือ เป็นโรคความดันสูง โรคหัวใจ มะเร็ง โรคภูมิแพ้ และโรคเครียด
ในสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของบ้านเราไม่ค่อยปรากฏโรคเหล่านี้ แต่การกินอาหารที่ไม่หลาก-หลาย จำเจ และไม่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง

ประเทศไทยย่อมต้องมีการคุ้มครองความหลากหลายทาชีวภาพก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไป และจากบทเรียนในอดีตเราต้องซื้อสายพันธุ์พืชในประเทศไทยจกประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยราคาแพง จึงไม่สายเกินไปที่ประเทไทยและรัฐบาลจะหันมาสนใจความหลากหลายทางชีวภาพก่อนที่จะไม่มีอะไรเหลือให้กับลูกหลานของเรา

 

ข้อมูลสื่อ

195-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 195
กรกฎาคม 2538
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข