• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียงพูดผิดปกติ

เสียงพูดผิดปกติ

เสียงพูดผิดปกติ หมายถึง น้ำเสียงของเสียงพูดนั้นผิดไปจากปกติที่เคยเป็น ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่คุ้นหู อาการเสียงพูดผิดปกติ เช่น เสียงแหบ เสียงแห้ง เสียงขึ้นจมูก เสียงอู้อี้ เสียงสูงไปหรือต่ำไป เสียงหลง เสียงราบเรียบ เสียงดังไปหรือเสียงค่อยไป เสียงห้าว เสียงหอบ เสียงสั่น หรือการที่พูดแล้วไม่มีเสียง เหล่านี้เป็นต้น
อาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่รู้ตัว หรือบางรายกว่าจะรู้รู้ตัวว่าผิดปกติ ก็เพราะการพูดเริ่มเป็นอุปสรรคต่อการสนทนาแล้ว
ในที่นี่ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะ เสียงพูดผิดปกติที่พบบ่อย ซึ่งจะได้กล่าวถึงอาการ สาเหตุ และการแก้ไขแต่เพียงเข้าใจ

1.เสียงแหบ
⇒ สาเหตุ  เสียงแหบเกิดจากการมีความผิดปกติของสายเสียงหรือกล่องเสียง ทำให้การสั่นของสายเสียงไม่ดีพอ มีลมแทรกออกมามากขณะพูด ซึ่งอาจจะมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น การมีเนื้องอกมะเร็งที่สายเสียง มีตุ่มใสที่สายเสียง อัมพาตของสายเสียงเส้นใดเส้นหนึ่ง สายเสียงหรือกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน สายเสียงโก่งตัว เป็นต้น
สาเหตุของเสียงแหบเป็นได้ทั้งแบบอันตรายและแบบไม่อันตราย เพราะฉะนั้นผู้อ่านพบว่า อาการเสียงแหบของท่านเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และมีอาการผิดปกติติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ ท่านควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาต่อไป

เสียงแหบเนื่องจากการมีเนื้องอกมะเร็งที่กล่องเสียงหรือสายเสียง อาการเสียงแหบจะเป็นมากขึ้น ๆ ไม่ทุเลา ไม่มีประวัติการใช้เสียงมาก หรือรุนแรง พบบ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมะเร็ง

เสียงแหบเนื่องจากการใช้เสียงมาก ใช้เสียงผิดวิธี พูดเค้นเสียง เกร็ง กระแทกเสียง อาการเสียงแหบ จากสาเหตุเหล่านี้ เราจะพบมากในผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้เสียง เช่น ครู แม่ค้า นักร้อง โฆษก พิธีกร เป็นต้น กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะใช้เสียงมากและดังอยู่บ่อย ๆ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดมีตุ่มใสที่สายเสียงทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะขัดขวางการสั่นของสายเสียง ทำให้เกิดเสียงแหบ ตุ่มใสนี้จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

⇒ การแก้ไข หากท่านไม่ทราบสาเหตุของการมีเสียงแหบที่แน่ชัด ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน การรักษาผู้ป่วย เสียงแหบมีทั้งการกินยาหรือการผ่าตัด แล้วแต่แพทย์จะเห็นสมควร ในบางรายอาจจะต้องมีการฝึกแก้ไขการพูดใหม่อีกด้วย เพราะฉะนั้นท่านที่เสียงแหบก็อย่านิ่งนอนใจ หาโอกาสไปพบแพทย์ตรวจคอ กล่องเสียงเสียแต่เนิ่นๆ จะได้สบายใจ

2.เสียงขึ้นจมูก
⇒ สาเหตุ เกิดจากการมีช่องเปิดของเพดานปาก ทำให้มีลมแทรกขึ้นไปที่โพรงจมูก ขณะออกเสียงพูดพบได้ในผู้ที่มีเพดานโหว่ อัมพาตของลิ้นไก่หรือผนังคอด้านใน หรือแม้กระทั่งการพูดเสียงขึ้นจมูกจนติดเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นผู้ที่มีเสียงขึ้นจมูก แพทย์จะทำการตรวจโพรงปาก โพรงจมูก ผนังคอ เพื่อค้นหาสาเหตุของความผิดปกติ

⇒ อาการ หากเสียงพูดขึ้นจมูกมาก ๆ จะทำให้การออกเสียงพูดเพี้ยนไม่ชัดเจน ฟังไม่รู้เรื่อง

⇒ การแก้ไข แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติของอวัยวะ เช่น เพดานโหว่ แพทย์จะทำการผ่าตัด ปะ ซ่อมเพดานปากให้เป็นปกติ หลังจากการผ่าตัดแล้วอาการเสียงขึ้นจมูกอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่จะไม่หายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการแนะนำการออกเสียง โดยนักการแก้ไขของการพูดอีก ซึ่งจะช่วยให้เสียงพูดของผู้ป่วยดีขึ้น จนทำให้ฟังได้ชัดเจน แต่ในรายที่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ ของอวัยวะในช่องปาก แพทย์จะส่งให้ไปพบนักแก้ไขการพูด เพื่อที่จะได้แก้ไขบำบัดต่อไป

3.เสียงอู้อี้
⇒ สาเหตุ การพูดเป็นเสียงอู้อี้ สาเหตุจะอยู่ในโพรงจมูก อาจจะมีการอุดตันหรือขัดขวางในโพรงจมูก เช่น การมีเนื้องอกมะเร็งในโพรงจมูก เป็นหวัดเรื้อรัง สันจมูกคด โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

⇒ อาการ เสียงอู้อี้ บางท่านอาจจะแยกไม่ออกระหว่างเสียงขึ้นจมูกกับเสียงอู้อี้ เพราะฟังดูจะมีเสียงใกล้เคียงกัน เสียงอู้อี้สังเกตได้ง่ายเหมือนกับเวลาพูดแล้วเอามือบีบจมูกนั่นเอง

⇒ การแก้ไข เสียงอู้อี้นั่นมีสาเหตุที่แน่ชัด การไปพบแพทย์เป็นการดีที่สุด แพทย์จะทำการตรวจที่โพรงจมูก ค้นหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป เสียงอู้อี้นักแก้ไขการพูดไม่ค่อยจะมีบทบาทในการแก้ไขให้กับผู้ป่วยมากนัก

4.พูดไม่มีเสียง
⇒ สาเหตุ ผู้ป่วยที่พูดไม่มีเสียง มีสาเหตุได้ทั่วทางร่างกายและจิตใจ ทานด้านร่างกาย เช่น สายเสียงเป็นอัมพาตทั้ง 2 เส้นขณะเปิดกว้าง หรือการมีเนื้องอกมะเร็งที่กล่องเสียง ทางด้านจิตใจ ได้แก่ การเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง

⇒ อาการ ผู้ป่วยจะพูดโดยไม่มีเสียง หรือบางรายอย่างดีก็มีเสียงคล้ายเสียงกระซิบ ซึ่งมีแต่ลมออกมา ไม่มีการสั่นของสายเสียง

⇒ การแก้ไข แพทย์จะทำการตรวจการทำงานของสายเสียงเป็นเบื้องต้น หากพบว่ามีอัมพาตของสายเสียง บางรายแพทย์อาจจะทำการฉีดไขมันเข้าที่สายเสียง เพื่อให้เกิดการหย่อนตัวของสายเสียงเข้าหากันบางส่วน ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถมีเสียงออกมาได้บ้างพอสมควร ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุทางด้านจิตใจ นักแก้ไขการพูดและจิตแพทย์จะต้องทำงานร่วมกัน ในการที่จะทำให้สภาวะจิตใจของผู้ป่วยกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งนักแก้ไขการพูดจะพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถออกเสียงแบบผ่อนคลาย จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถออกเสียงได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยที่พูดไม่ได้หลังจากการผ่าตัดเอากล่องเสียงทิ้ง เขาจะพูดโดยวิธีเดิมไม่ได้แล้ว นักแก้ไขการพูดอาจจะแนะนำให้เขาพูดโดยการใช้หลอดอาหาร หรืออาจจะแนะนำให้ใช้เครื่องช่วยพูดก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม

ที่จริงแล้วอาการเสียงพูดผิดปกติ มีมากกว่าที่กล่าวมา แต่ผู้เขียนยกมาเฉพาะที่เห็นว่าพบได้บ่อย นักแก้ไขการพูดจะเป็นผู้แนะนำการออกเสียงพูดให้กับผู้ป่วยเพื่อที่จะทำผู้ป่วยผู้นั้นสามารถพูดออกเสียงให้เป็นปกติ แต่การฝึกฝนจะบังเกิดผลสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความอดทน ความตั้งใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ข้อมูลสื่อ

197-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 197
กันยายน 2538
อจ.ปริญญา หลวงพิทักษ์ชุมพล