• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮ่องกงฟุต

ฮ่องกงฟุต



ข้อน่ารู้

1.ฮ่องกงฟุต หมายถึง อาการแผลเปื่อยที่ง่ามนิ้วเท้า คนทั่วไปเข้าใจว่าเกิดจากการย่ำน้ำ (เน่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำท่วมขัง บางครั้งก็เรียกกันว่า “น้ำกัดเท้า”
ชื่อนี้มีความเป็นมาอย่างไร ก็คงจะคาดเดาได้ แต่ก็มีการพูดกันต่อ ๆ กันมาในหมู่คนไทยจนเป็นที่เข้าใจกันดังความหมายข้างต้น

2. แผลเปื่อยที่ง่ามเท้า มีสาเหตุที่พบได้บ่อย 2 โรค ได้แก่
(ก) โรคเชื้อรา ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับโรคกลากตามผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นหรือวง ๆ มีอาการคัน อาจเกิดตรงผิวหนังส่วนใดก็ได้ เช่น หนังศีรษะ ลำตัว แขนขา
ถ้าเกิดตรงบริเวณขาหนีบก็มีชื่อ เรียกจำเพาะว่า สังคัง
ถ้าเกิดตรงง่ามนิ้วเท้า ก็เรียกว่า ฮ่องกงฟุต
(ข) โรคภูมิแพ้ คนไข้มักจะมีประวัติแพ้อะไรง่าย จะมีแผลคันตรงง่ามนิ้วเท้า เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
อาจแพ้เหงื่อที่อับ ถุงเท้าหรือรองเท้า ตราบเท่าที่ยังสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ก็จะมีอาการกำเริบอยู่เรื่อย ๆ เมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ อาการจะทุเลา

ทั้ง 2 โรคนี้บางครั้งแยกอาการออกจากกันไม่ได้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อพูดถึง “ฮ่องกงฟุต” หรือ “น้ำกัดเท้า” ทั้งทางแพทย์หมายถึงโรคเชื้อราหรือโรคกลากที่ง่ามนิ้วเท้านั้น จะต้องระลึกอยู่เสมอว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่งใน 2 โรคนี้ก็ได้

3.ฮ่องกงฟุตเกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งสามารถติดต่อโดยการสัมผัสถูกโดยตรง และความอับชื้นจะมีส่วนส่งเสริมให้เชื้อราเติบโต จนโรคกำเริบ หรือลุกลามได้ เช่น การย่ำน้ำหรือเปียกน้ำ แล้วไม่ได้ใส่ใจเช็ดง่ามนิ้วเท้าให้แห้ง การใส่ถุงเท้าใยสังเคราะห์ซึ่งอบเกินไประบายอากาศได้น้อย ทำให้เท้าอับเหงื่อ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดฮ่องกงฟุตได้ง่ายขึ้น โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบบ่อยในคนที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมาก ๆ จนเท้าชุ่มเหงื่อ ฝรั่งจึงมีชื่อเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “โรคเท้านักกีฬา” หรือ “แอทลีตฟุต” (athlete’s foot)

4. โรคนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ปล่อยทิ้งไว้ นอกจากทำให้น่ารำคาญแล้ว ยังอาจลุกลามไปยังเล็บเท้าหรือผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ จึงควรหาทางรักษาให้หายขาด

5. การป้องกัน หมั่นระวังรักษาเท้าให้แห้ง โดย
(ก) ถ้าง่ามนิ้วเท้าเปียกน้ำ หรืออับเหงื่อ ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้ว เช็ดให้แห้ง
(ข) หลังอาบน้ำทุกครั้ง ควรเช็ดง่ามนิ้วเท้าให้แห้ง
(ค) อย่าใส่ถุงเท้าที่อบเกินไป เช่น ถุงเท้าใยสังเคราะห์หรือไนลอน ควรใช้ถุงเท้าผ้าซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีกว่า


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
ผู้ที่เป็นฮ่องกงฟุต จะมีแผลคันที่ง่ามนิ้วเท้า ส่วนมากจะเกิดระหว่างนิ้วเท้าที่ 4 กับ 5 และนิ้วเท้าที่ 3 กับ 4 เริ่มแรกจะขึ้นเป็นขุยขาว ๆ และยุ่ย ต่อมาจะลอกเป็นแผ่นหรือสะเก็ดแล้วแตกเป็นร่องและมีกลิ่น ถ้าแกะลอกขุยขาว ๆ ที่เปียกยุ่ยออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดง ๆ และมีน้ำเหลืองซึม มักมีอาการคันยิบ ๆ ร่วมด้วย
บางคนอาจลามไปที่ฝ่าเท้า หรือเล็บเท้า อาจทำให้ฝ่าเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเป็นตุ่มพองใหญ่และคันมาก
อาการแผลคันที่ง่ามนิ้วเท้า อาจมีสาเหตุจากโรคภูมิแพ้ ต่างกันที่โรคภูมิแพ้จะเป็นอยู่เฉพาะในง่ามนิ้วเท้า ไม่ลุกลามไปยังบริเวณอื่น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็แยกกันไม่ได้ชัดเจน มีข้อสังเกตว่าถ้าลองรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราแล้วไม่ได้ผล ก็อาจไม่ใช่ฮ่องกงฟุต แต่เป็นโรคภูมิแพ้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าลองใช้ยาแก้แพ้ เช่น ครีมสตีรอยด์ทา ถ้าหากดีขึ้นก็เกิดจากภูมิแพ้ แต่ถ้าเป็นฮ่องกงฟุต ยานี้จะทำให้โรคกลับลุกลามได้
 

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์ เมื่อ
1.ทายาฆ่าเชื้อราประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วยังไม่ทุเลา
2.อาการลุกลามหรืออักเสบมาก

แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะขูดเอาผิวหนังในบริเวณที่เป็นโรคไปพิสูจน์ หากพบว่าเป็นฮ่องกงฟุตจริง ก็จะให้ยาทาฆ่าเชื้อราดังกล่าว แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็อาจให้กินยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ ยาเม็ดกริซีโอฟุลวิน(griseofulvin) นาน 4-6 สัปดาห์
แต่ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ ก็จะให้ยาทาสตีรอยด์แทน และแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
โดยสรุป ฮ่องกงฟุตเป็นโรคเชื้อราหรือโรคกลากที่ง่ามนิ้วเท้า มีความอับชื้นเป็นส่วนส่งเสริมให้โรคกำเริบหรือลุกลาม ดังนั้นจึงต้องหมั่นรักษาความสะอาดและดูแลง่ามนิ้วเท้าให้แห้ง จะช่วยป้องกันและช่วยรักษาให้โรคทุเลาได้ง่ายขึ้น
 

                                                       การดูแลรักษาตนเอง


ถ้าเป็นแผลคันที่ง่ามนิ้วเท้า ซึ่งสงสัยว่าเกิดจากเชื้อราหรือฮ่องกงฟุต ควรดูแลรักษาตนเองดังนี้

1. ระวังรักษาง่ามนิ้วเท้าให้แห้ง โดยการล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังย่ำน้ำหรืออับเหงื่อ) และหลีกเลี่ยงการใช้ถุงเท้าใยสังเคราะห์ หากเป็นไปได้ควรสวมใส่รองเท้าสานโปร่งที่เปิดปลายนิ้วเท้า
2. ทาด้วยยาฆ่าเชื้อราวันละ 2-3 ครั้ง ถ้าจำเป็นต้องถูกน้ำบ่อย ๆ หลังทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ควรทายาซ้ำทุกครั้ง
ยาฆ่าเชื้อราที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด ในที่นี้แนะนำให้ใช้ครีมไมโคนาโซล (miconazole) เช่น ยี่ห้อแด๊กทาริน (Daktarin) ลิโคนาร์ (Liconar) หรือครีมคีโตโคนาโซล (ketoconazole) เช่น ยี่ห้อเคนาลิน (Kenalyn) ไนโซรัล (Nizoral) เป็นต้น ให้เลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
ถ้าอาการดีขึ้น ควรทาติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์
3. หลีกเลี่ยงการช้าทากลุ่มสตีรอยด์ ซึ่งใช้รักษาผื่นคันจากการแพ้ เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน ครีมเดกซาเมทาโซน เป็นต้น ยานี้จะทำให้โรคลุกลามมากขึ้น (ดังนั้นเวลาซื้อยามาใช้ทาเอง ควรดูฉลากยาให้แน่ใจว่าเป็นยาฆ่าเชื้อราหรือยาสตีรอยด์)

 

ข้อมูลสื่อ

198-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 198
ตุลาคม 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ