• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเกาต์ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง

โรคเกาต์ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง


เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมต้องเดินทางไปประชุมที่เมืองวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลานานกว่า 10 วัน สภาพดินฟ้าอากาศในช่วงนั้นมีฝนตกทุกวัน ค่อนข้างขึ้นและร้อนอบอ้าว อยู่แต่ในห้องปรับอากาศ เหงื่อไม่ค่อยออก อาหารการกินแพงมากเมื่อเทียบกับเมืองไทย จึงต้องวนเวียนและเข้ากินอาหารประเภทฟาสฟู้ด เบอร์เกอร์ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยกินอาหารประเภทนี้เลยตอนอยู่ในบ้านเรา ปฏิบัติตนเช่นนี้เกือบทุกมื้อทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีงานเลี้ยงที่มีอาหารทะเลประเภทกุ้ง หอยนางรม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิด ล้วนชวนกินชวนดื่ม และเนื่องจากราคาน้ำดื่มที่นั่นแพงเหลือเกิน ตกลิตรละ เกือบ 50 บาท จึงไม่ค่อยดื่มน้ำเพื่อต้องการประหยัด และไม่ยอมดื่มน้ำประปาเพราะรสและกลิ่นไม่เป็นที่พึงปรารถนา เป็นผลทำให้ไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวัน
ทุกอย่างดูเหมือนดำเนินเป็นไปอย่างปกติจนเริ่มเข้าวันที่ 5 นิ้วหัวแม่เท้าอยู่ ๆ ก็บวมขึ้นมา ทั้งปวด ทั้งแดงและร้อนจนเดินลงน้ำหนักขาข้างขวาไม่ได้ ทีแรกเข้าใจว่าคงเดินมากเลยอักเสบ แต่เมื่อหยุดเดินและอยู่นิ่ง ๆ อาการยิ่งรุนแรงขึ้น เจ็บปวดทรมานทั้งกลางวันและกลางคืน ฉุกนึกขึ้นได้ว่านี่คืออาการของโรคเกาต์ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย อาการปวด บวม แดง ร้อน หายเป็นปลิดทิ้งเมื่อกลับมาถึงเมืองไทย หลังจากกินข้าวสวย ข้าวต้ม และกับข้าวตามปกติ และดื่มน้ำวันละ 3-4 ขวด

5 วันต่อมา ต้องเดินทางไปประชุมที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นอีก ค่าครองชีพที่ประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเสียงว่าสูงที่สุดในโลก อาหารการกินแพงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเตรียมตัวเตรียมใจยอมอาศัยห้องพักในโรงเตี้ยมที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เช่าจักรยานคันหนึ่งเป็นพาหนะไป มาจากสถานที่ประชุม ซึ่งอยู่บนเนินเขา กินอาหารพื้นเมืองของชาวบ้านญี่ปุ่นทั่วไป ประเภทข้าวอย่างเมืองไทย งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และถึงแม้น้ำดื่มจะแพงพอ ๆ กับที่สหรัฐอเมริกา แต่ไม่กล้าลดปริมาณลง พยายามดื่มในเกณฑ์ปกติ ปรากฏไม่มีอาการของโรคเกาต์ อาจเป็นเพราะมีโอกาสออกกำลังกาย ขี่จักรยานวันละ
มากกว่า 2 ชั่วโมง สุขภาพดีจิตใจสบาย เพราะเมืองเกียวโตเป็นเมืองที่สงบ เต็มไปด้วยต้นไม้ ไม่มีฝุ่นละออง และการจราจรไม่ติดขัด



โรคเกาต์เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร

คงเห็นได้จากประสบการณ์ข้างต้น กล่าวกันว่าโรคเกาต์เป็นโรคของคนมีอันจะกิน หรือผู้ที่กินอาหารดีเกินไป และไม่ยอมออกกำลังกาย เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญของโรคเกาต์เกิดจากในเลือดมีปริมาณกรดยูริกสูงเกินไป กรดยูริกถูกสร้างขึ้นในร่างกายจากการกินอาหารที่มีปริมาณเพียวรีนสูง ซึ่งพบมากในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอยนางรม หูปลาฉลาม และผักบางชนิด เช่น ถั่วแห้ง ชะอม กระถิน และแตงกวา

นอกจากอาหารแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะเป็นการเสริมสร้างกรดยูริกให้สูงขึ้น ยาหลายชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย ยาแก้อาการเกร็ง รวมทั้งโรคต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคเลือด และโรคอ้วน เป็นต้น พบว่าสัมพันธ์กับปริมาณของกรดยูริกในเลือดที่สูงขึ้น

กรดยูริกในร่างกายตามปกติถูกกำจัดออกได้ 3ทางคือ ส่วนใหญ่ทางปัสสาวะ ส่วนน้อยออกมากับเหงื่อและทางเดินอาหาร ดังนั้นการดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้มีปัสสาวะน้อย กรดยูริกจะคั่งค้างอยู่ในร่างกายมาก จนตกตะกอนเป็นผลึกอุดอยู่ในข้อต่อ หรือแตกเข้าไปในข้อต่อ ทำให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านผลึกกรดยูริกซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดอาการอักเสบอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือข้อต่อข้างเคียง นอกจากข้อนิ้วหัวแม่เท้าแล้ว ข้อที่เป็นบ่อยคือ ข้อเข่า ข้อเท้า ส้นเท้า ข้อมือ นิ้วมือ และข้อศอก คนที่เป็นโรคเกาต์นอกจากกินดีอยู่ดีแล้ว ยังมักมีน้ำหนักมาก จึงควรลดน้ำหนักด้วย
วิธีป้องกัน หรือทำให้กรดยูริกไม่สะสมอยู่ในร่างกายสูงเกินไป นอกจากดื่มน้ำในปริมาณมาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดตามข้อต่อต่าง ๆ แล้ว การออกกำลังกายให้เหงื่ออกมากขึ้น แม้ในหน้าฝนซึ่งอากาศชื้นมาก ทำให้เหนียวตัวเพราะเหงื่อไม่ออก เป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าส่วนไหนมีการไหลเวียนของเลือดดี โอกาสเกิดโรคเกาต์จะน้อยลง จึงควรขยับข้อต่อทุก ๆ วัน โดยการออกกำลังกายเพื่อเคลื่อนไหวข้อต่อเหล่านี้

การออกกำลังกายที่ดีสำหรับคนที่เป็นโรคเกาต์บ่อย ๆ ควรจะเป็นการออกกำลังกายโดยไม่ต้องลงน้ำหนักที่ขามาก เช่น การว่ายน้ำ การขี่จักรยานอยู่กับที่หรือการขี่จักรยานทั่วไป หรือการเดิน แต่ไม่ควรวิ่ง เพราะเกิดแรงกระแทกที่ข้อต่อมาก อาจทำให้ข้ออักเสบมากหรือทำให้เกิดอาการของโรคเกาต์ตามมา วิธีทำให้เหงื่อออกอีกวิธีหนึ่งคือการเข้ากระโจม อบไอน้ำ หรือเข้าห้องอบซาวด์นา

อย่างไรก็ดี การดื่มน้ำ การทำให้เหงื่อออกมา หรือการออกกำลังกายทุกชนิดย่อมไม่สามารถป้องกันโรคเกาต์ได้ ถ้ายังกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ เนื้อไก่ ที่พบตามร้านขายอาหารฟาสฟู้ดแบบอเมริกา

เนื่องจากพิสูจน์ว่าอาหารฟาสฟู้ดไม่เพียงแต่ไม่มีประโยชน์ ยังทำให้บั่นทอนสุขภาพด้วย ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้ในประเทศทางซีกตะวันตกและอเมริกา นอกจากวัยรุ่นหรือผู้ที่รายได้ต่ำมากจึงต้องอาศัยอาหารไม่มีคุณค่าเหล่านี้ยังชีพ ประชาชนทั่วไปจะไม่ยอมกินอาหารฟาสฟู้ดเป็นประจำ
แต่ในทางตรงกันข้ามด้วยระบบแฟรนไชน์ ร้านอาหารฟาสฟู้ดแบบอเมริกากลับเข้ามาระบาดในเมืองไทย และประเทศข้างเคียงอย่างมาก ทำให้อุปนิสัยการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป สุขภาพของประชาชนเริ่มย่ำแย่ลง และเป็นโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือไม่เคยพบในประเทศไทย ครั้นเมื่อปฏิบัติตัวแบบไทย ๆ เยี่ยงแต่ก่อน

จากบทเรียนเรื่องโรคเกาต์ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เป็นโรคที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย เพราะแม้แต่ชื่อโรคที่เป็นภาษาไทยยังไม่เคยมี แต่เกิดจากสาเหตุการเปลี่ยนวิถีชีวิตเรื่องอาหารการกิน การดื่มน้ำ สภาพแวดล้อม อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์ และขาดการออกกำลังกาย จากจราจรติดขัด เต็มไปด้วยมลภาวะ ต้นไม้น้อยลง ต่อไปมีเพียงแต่โรคเกาต์จะพบบ่อยขึ้นในประชากร แต่โรคชื่อแปลก ๆ ภาษาต่างประเทศจะเข้ามาระบาดมากขึ้นอย่างไม่มีปัญหา
 

ข้อมูลสื่อ

198-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 198
ตุลาคม 2538
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข