• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดสูง : ภัยเงียบยุคใหม่

ความดันเลือดสูง : ภัยเงียบยุคใหม่


ความดันเลือดสูงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนไทย เพราะความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทย และอันดับสองของชายไทยตามลำดับ

นอกจากนี้ความดันเลือดสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 4 ของหญิงไทย และอันดับ 6 ของชายไทย จากการศึกษาของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2542 พบว่า หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 24,257 ราย จากโรคหลอดเลือดหัวใจ 8,221 ราย

ชายไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 20,330 ราย จากโรคหลอดเลือดหัวใจ 10,871 ราย หรือทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทย 7 คน เสียชีวิตจากโรคทั้งสองนี้ (สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรสองเท่ากว่า) ส่วนผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่เสียชีวิต (เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหมดสติ ช่วยตัวเองไม่ได้) ก็ยังเป็นความพิการและภาระโรคที่สำคัญอันดับ 2 ของหญิงไทย และอันดับสามของชายไทยอีกด้วย

ความดันเลือดสูงพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ พบประมาณร้อยละ 20 ของประชากรไทย (โดยเฉลี่ย 5 คนเป็นความดัน เลือดสูง 1 คน) อายุยิ่งมากก็ยิ่งพบมาก แต่คนที่รู้ตัวว่าความ ดันเลือดสูงมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่า  ตัวเองความดันเลือดสูง ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีความดันเลือดส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และจะไม่ทราบเลยถ้าไม่ได้วัดความดันเลือด
 
ความดันเลือดสูงจึงเป็นภัยเงียบที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ตลอดชีวิตของเรา โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ความดันเลือดปกติเมื่ออายุ 55 ปี จะมีโอกาสเกิดความดันเลือดสูงถึงร้อยละ 90 ตลอดชั่วชีวิตที่เหลือของเขา ดังนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนควรจะได้รับการวัดความดันเลือดทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข หรืออย่างน้อยปีละครั้ง

ความดันเลือดมี 2 ค่า คือ ค่าตัวบน (systolic blood pressure) และค่าตัวล่าง (diastolic blood pressure) ถ้าความดันเลือดตัวบนที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท (สูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) ถือว่าเป็นความดันเลือดสูง แต่ต้องวัดในท่านั่งขณะพัก (นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที) วัดหลายๆ ครั้ง ในเวลา 2-3 สัปดาห์ และได้ค่าสูงกว่าที่กำหนดทุกครั้ง หรือค่าเฉลี่ยสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

จากการศึกษาประชากรไทยในเมืองพบว่า ความดันเลือดตัวบนที่สูงขึ้นทุกๆ 10 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างที่สูงขึ้นทุกๆ 5 มิลลิเมตรปรอท จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้นประมาณ 1.5 เท่า ดังนั้น ความดันเลือดจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยของการเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญของคนไทย

ภาวะที่เกี่ยวข้องกับความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง

มักจะมาพร้อมกับโรคหรือภาวะต่างๆ คือ น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสูง ความอ้วน โดยมีชื่อเรียกรวมว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ซึ่งจะต้องมีภาวะอย่างน้อย 3 ข้อต่อไปนี้ 

1.ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หลังงดอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 8 ชั่วโมง)

2.ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หลังงดอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 12 ชั่วโมง) และ/หรือ ไขมันเอชดีแอล (ไขมันที่ดี) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง

3.รอบเอวมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง หรือมากกว่า 36 นิ้ว ในผู้ชาย

4.ความดันเลือดตัวบนสูงกว่าหรือเท่ากับ 130 และ/หรือ ตัวล่างสูงกว่าหรือเท่ากับ 85 มิลลิเมตรปรอท

นอกจากความดันเลือดสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (โรคที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต) แล้วปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น

โรคเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร และเครื่องดื่ม 8 ชั่วโมงสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)

การสูบบุหรี่

โรคหลอดเลือดหัวใจ
(เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบ เคยผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจหรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ) 

กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ
โดยตรวจจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (อัลตราซาวนด์)

หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง
(atrial  fibrillation) โดยการตรวจร่างกายและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

ดังนั้น ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูง หรือมีปัจจัยเสี่ยงใดปัจจัยหนึ่งข้างต้น ควรจะตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
ร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ถามประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ประวัติครอบครัว
วัดรอบเอว ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจาะเลือดตรวจเบาหวาน และไขมัน เป็นต้น และหาทางลดปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดลง จะได้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

การป้องกันความดันเลือดสูงและพฤติกรรมสุขภาพ

ผู้ที่วัดความดันเลือดหลายๆ ครั้งได้สูงกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ยังไม่เป็นโรคความดันเลือดสูง
(ยังไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท) ควรจะป้องกันการเกิดโรคความดันเลือดสูง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไม่ต้องกินยา (non-drug lifestyle modifications)

ส่วนผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงที่กินยาลดความดัน อยู่ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยเสมอ เพื่อลดการใช้ยาลงเหลือเท่าที่จำเป็น และลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาขนาดสูงและหลายๆตัว แต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าผู้ที่ยังไม่เป็นโรค และทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ถ้ามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และลดยาลงเหลือ 1 ชนิด โดยควบคุม ความดันเลือดได้เกินกว่า 1 ปี แพทย์ก็สามารถให้หยุดยาได้
ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เพราะรู้สึกสบายดีหรือตรวจวัดความดันเลือดไม่สูง หรือเพราะผลข้างเคียงของยา การหยุดยาเองแอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดอันตรายได้

พฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความดันเลือด ได้แก่

อาหาร

ก.อาหารลดความดันเลือด ( Dietary Approaches to Stop Hypertension: DASH diet) เป็นอาหารที่เน้น พืช ผัก ธัญพืช เนื้อสัตว์น้อยไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ  สามารถลดความดันเลือดได้ 8-10 มิลลิเมตรปรอท (เท่ากับกินยาลดความ  ดัน 1 ชนิด)

ข.เกลือโซเดียม ลดการกินโซเดียมลงเหลือ 2.4 กรัม หรือเกลือแกง 6 กรัมต่อวัน (ประมาณเท่ากับน้ำปลา 1 ช้อนครึ่ง ถึง 2 ช้อนโต๊ะ) สามารถลดความดันเลือดได้ 2-8 มิลลิเมตรปรอท วิธีกินอาหารลดความดันง่ายๆ คือทำอาหารเองที่บ้าน แทนซื้อหรือกินนอกบ้าน เพิ่มอาหาร พืช ผัก ผลไม้ (รสไม่หวาน) ธัญพืชธรรมชาติ มากกว่าเดิมที่เคยกิน 1 เท่าตัว และลดอาหารประเภทรสจัด หวานจัด เค็มจัด มันจัด ของทอด ขนมเบเกอรี เนื้อสัตว์ลงครึ่งหนึ่งของที่เคยกิน มักจะเห็นผลลดความดันเลือดประมาณ ๒ สัปดาห์หลังเริ่มกินอาหารลดความดัน และลดเกลือโซเดียม 

ออกกำลังกายและกิจกรรมทางกาย (physical activity)
การเดินเร็ว หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สามารถลดความดันเลือดได้ 4-9 มิลลิเมตรปรอท ลดความอ้วน น้ำหนักที่ลดลง 10 กิโลกรัม จะลด ความดันเลือดได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท แอลกอฮอล์ ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิด แต่ผู้ที่ดื่มอยู่แล้วให้ลดปริมาณลงเช่น เบียร์วันละ   ไม่เกิน 2 กระป๋อง หรือเหล้าไม่เกิน 2 เป๊ก เป็นต้น สำหรับผู้หญิงให้ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง สามารถลดความดันเลือดได้  2-4 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมสุขภาพอื่นที่มีหลักฐานว่าช่วยลดความดันเลือด ได้แก่ การหายใจช้าลดความดันเลือด เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้เครื่องฝึกหายใจช้าเป็นวิธีการลดความดันเลือดได้ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการศึกษา (randomized controlled trial) อย่างน้อย 3 การศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการลดความดันเลือดได้ประมาณ 10-12 มิลลิเมตรปรอทในผู้ป่วยความดันเลือดสูง
หลังจากฝึกหายใจช้า (ช้ากว่า 10 ครั้งต่อนาที) วันละประมาณ 15-20 นาทีเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ดังนั้น การฝึกหายใจช้าด้วยตนเอง เช่น การฝึกสมาธิ แบบอานาปานัสสติ หรือการออกกำลังกายแนวตะวันออกที่เน้นเรื่องการหายใจ (โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น) น่าจะช่วยลดความดันเลือดได้เช่นกัน
 
โยคะลดความดันเลือด มีการศึกษาพบว่า การฝึกโยคะเป็นประจำทุกวันสามารถลดความดันเลือดได้
ตามทฤษฎีการฝึกยึด หด ส่วนต่างๆ ของร่างกาย น่าจะช่วยทำให้ หลอดเลือดแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดีขึ้นในผู้สูงอายุ ช่วยรักษาโรคความดันเลือดสูงในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ โยคะยังช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน และช่วยลดการบริโภคอาหารให้น้อยด้วย ทำให้ลดความดันเลือดสูงที่เกิดจากความเครียด หรือความอ้วนได้

การนอนกรนกับความดันเลือด การหยุดหายใจเป็น พักๆ ขณะนอนหลับ (sleep apnea) ร่วมกับการนอนกรน เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความดันเลือดสูง เพราะการขาดออกซิเจนในช่วงที่หยุดหายใจหรือนอนกรน ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ในเวลากลางคืนจนถึงเช้า ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ความดันเลือดอาจกลับมาปกติ ดังนั้น ผู้ที่มีความดันเลือดสูงและนอนกรน ควรจะหาวิธีลดการนอนกรน เช่น ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักลง (เพื่อลดไขมันที่ไปพอกขวางทางเดินหายใจที่คอ) หรือพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การรักษา เป็นต้น จะทำให้ความดันเลือดลดลงได้ บางรายไม่ต้องกินยาอีกเลย
 
กาแฟกับความดันเลือดสูง สารกาเฟอีนในกาแฟกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วและแรง ความดันเลือดสูงขึ้นตามมา ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงจึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟ โอเลี้ยง น้ำ- อัดลมสีดำที่มีกาเฟอีนผสม ยารักษาไมเกรนที่มีกาเฟอีน อาจจะดื่มนมถั่วเหลือง น้ำผลไม้คั้นสด หรือกาแฟที่ทำจากถั่วเหลือง หรือที่ไม่มีกาเฟอีนแทนยาที่ทำให้ความดันเลือดสูงเช่น ยาลดการอักเสบแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกบางชนิด ยาสตีรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมนสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ยาลดความอ้วน บางชนิด ยาลดน้ำมูก เป็นต้น ยาเหล่านี้ ควรจะหยุดหรือกินขนาดต่ำในระยะสั้น เพื่อลดผลข้างเคียงในการเพิ่ม ความดันเลือดในผู้ป่วยความดันเลือดสูง หรือใช้วิธีอื่นแทน เช่น ใช้ยานวด ยาทาแก้ปวดที่ทำจากพริก (เจลพริก) แทน ยาแก้ปวด หรือกินถั่วเหลืองแทนยาฮอร์โมน

ยาลดความดันเลือด (รักษาต้นเหตุหรือปลายเหตุ) ยาลดความดันเลือด จะใช้เมื่อไม่สามารถลดความดันเลือดให้ปกติโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะเวลาหนึ่ง (3-6 เดือน) หรือมีความดันเลือดสูงมาก หรือถ้าปล่อยให้ความดันเลือดสูงต่อไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ต้องให้ยากินเพื่อลดความดันหรือฉีด
 
ยาลดความดันเลือดมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 
ยาขับเกลือ ที่มักเรียกกันว่า ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ขับเกลือโซเดียม (ส่วนเกิน) ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ทำให้น้ำถูกขับตามออกมาด้วยเกลือโซเดียมที่กินเกินจากอาหารรสจัด
เค็มจัด ทำให้ความดันเลือดสูง   ยาที่ขับเกลือโซเดียมออกจึงทำให้ความดันเลือดลดลงได้

ยาลดการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ ทำให้  ความดันเลือดลดลงได้ เพราะความตึงเครียด หรืออาหาร ยา สารเคมีบางอย่าง กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วและบีบแรง เป็นสาเหตุให้ความดันเลือดสูง
 
ยาขยายหลอดเลือด จะลดความดันเลือดลงได้ เพราะความดันเลือดสูงเกิดจากหลอดเลือดหดตัว
ความอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง บุหรี่ ไขมันในเลือดสูง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง (endothelial dysfunction) และหดตัวลงจนความดันเลือดสูงขึ้น จะเห็นได้ว่ายาลดความดันเลือดแทบทุกชนิดเป็น  การรักษาปลายเหตุส่วนต้นเหตุ คือพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม (อาหารหวานจัด เค็มเกิน มันเกิน ความอ้วน การ ไม่ออกกำลังกาย ความเครียด ยา บุหรี่ เป็นต้น) ดังนั้น จะกินยาลดความดันเลือดไปนานเท่าไร หรือต้องกิน ตลอดชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับว่าปรับแก้ต้นเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงได้ มากเพียงพอที่จะควบคุมระดับความดันเลือดให้ปกติหรือไม่

ส่วนการกินยาลดความดันเลือดระยะยาว (นานกว่า 5 ปีขึ้นไป) แล้วจะเป็นอย่างไร มีผลเสียหรือไม่
เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เนื่องจากว่าการศึกษาผลดีและผลข้างเคียง (ทั้งที่ทราบและยังไม่ทราบ) ของยาลดความดันเลือด มักจะจำกัดระยะเวลาการศึกษาที่ 5 ปี มีการศึกษาน้อยมากที่ศึกษานานกว่านั้น ดังนั้น ถ้าจะต้องกินยาลดความดัน ก็กินในขนาดต่ำและใช้ยาเท่าที่จำเป็น ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะได้ผลดีและปลอดภัยในระยะยาว

ความดันเลือดตอนกลางคืน คนปกติความดันเลือดจะต่ำลง ในขณะนอนหลับ คือต่ำกว่าความดันเลือดเวลาตื่นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในผู้ที่เป็นความดันเลือดสูง ก็เช่นเดียวกัน แต่มีผู้ป่วยความดันเลือดสูงบางคนที่ความดันเลือดกลางคืนไม่ลดลงยังสูงอยู่เหมือนเดิม หรือสูงกว่าตอนกลางวัน ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของความดันเลือดสูงมากกว่า ผู้ที่ความดันเลือดสูงเฉพาะกลางวัน 
จากการศึกษาในผู้ป่วยความดันเลือดสูง 102 รายที่โรงพยาบาล 2 แห่งในกรุงเทพฯ โดยวัดความดันเลือดตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มีผู้ป่วยที่ความดันเลือดไม่ลดลงในเวลากลางคืน (non-dipper) ถึง 59 ราย ดังนั้น ความดันเลือดสูงตอนกลางคืนจึงเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่งของคนไทยสมัยใหม่ และอาจจะเป็นสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต) ในขณะนอนหลับด้วยก็ได้


ความดันเลือดสูง โรคยุคใหม่
ประชากรในเมืองมักจะมีความดันเลือดสูงกว่าในชนบท และความดันเลือดจะสูงขึ้นตามอายุ แต่มีประชากรพื้นเมืองในหลายประเทศ (ในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย) รวมทั้งชนพื้นเมืองชาวเกาะในเอเชียแปซิฟิกบางกลุ่มที่แทบไม่พบว่ามีความดันเลือดสูงในประชากร และความดันเลือดไม่สูงขึ้นตามอายุ ถ้าชนพื้นเมืองเหล่านี้ย้ายมา อยู่ในเมือง ความดันเลือดก็จะสูงขึ้น เกิดโรคความดันเลือดสูงตามมา แสดงว่าการใช้ชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ การกินอยู่แบบบริโภคนิยม วัตถุนิยม ทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง แม้ว่าคนในเมืองจะมีความสุขสบายทางกายมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ โรคภัยไข้เจ็บ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง แม้แต่โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น ซึ่งที่แท้เป็นโรคเดียวกันหมด คือโรคแห่งวัฒนธรรมที่ผิดธรรมชาติ
ดังนั้น การดูแลรักษาโรคเหล่านี้ ไม่เพียงแต่รักษาตัวเลขความดันเลือด ไขมันในเลือด หรือน้ำตาลในเลือดให้กลับมาปกติ แต่ควรต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติให้มากขึ้น
ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และตามอย่างวิถีไทยที่สงบร่มเย็นตลอดมา

ข้อมูลสื่อ

304-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 304
สิงหาคม 2547
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์