• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเมืองกับการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพ

การเมืองกับการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพ

กว่าหมอชาวบ้านฉบับธันวาคม 2539 จะออก จากผลการเลือกตั้งเมื่อ 17 พฤศจิกายน เราก็คงจะมีรัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่แล้ว พูดถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขนี้ผีเข้าผีออก บางคนก็เป็นคนดีมาก บางคนก็แย่จริงๆ ไม่มีเสียดีกว่า เพราะมีแล้วกลับเป็นภาระแก่ระบบสาธารณสุข คือแทนที่จะเป็นรัฐมนตรีเพื่อการสาธารณสุข (Minister for health) กลับเป็นรัฐมนตรีเพื่อสาธารณสุข (Anti Health Minister) เสียมากกว่า เพราะความด้อยพัฒนาของระบบการเมืองของเรา

ขณะนี้เรื่องการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพ (Health Care Reform) กำลังเป็นกระแสใหญ่ของโลก เพราะบริการทางการแพทย์ที่แพงขึ้นๆ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในระบบขึ้น คือทำให้เกิด

1. บริการที่ไม่เท่าเทียมกัน
2. คุณภาพของบริการไม่ดี
3. ประสิทธิภาพไม่ดี

ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างหนักต่อเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ควรมีกรอบการทำงานใหญ่ที่สุดคือ การปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพ  ไม่ใช่ทำพิธีกรรมตามระบบราชการไปวันหนึ่งๆ หรือซ้ำร้ายเหมือนอดีตบางคนที่คอยตั้งหน้าตั้งตาว่าจะกินอะไรได้บ้าง ทำตัวเหมือนพยาธิของสาธารณสุข แต่การปฏิรูประบบการดูแลระบบสุขภาพไม่ใช่เรื่องง่าย นายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นคุณชวน หรือคุณชวลิต จะต้องเข้ามาชูเป็นกระแสนโยบายดังที่ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีคลินตันกับนางฮิลลารี่เป็นผู้นำในการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
ในปัจจัยที่จะทำให้การปฏิรูปการดูแลสุขภาพสำเร็จอยู่ที่

1. การสร้างความรู้จริง
2. การมีส่วนร่วมของประชาชน

ถ้าไม่มีทั้งคู่หรือมีเพียงอันใดอันหนึ่งก็ไม่สำเร็จ การปฏิรูปการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจและกระทำ จำเป็นต้องสร้างความรู้จริงว่าคืออะไร และจะทำได้อย่างไร เรื่องนี้ควรให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาสนับสนุนให้ทำให้เป็นเบื้องต้นภายใน 2 ปี

สาธารณะต้องมีส่วนร่วมในการเรียบรู้ว่า การปฏิรูปการดูแลสุขภาพคืออะไร จำเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับท่านและลูกหลานของท่านอย่างไร และทำอย่างไร โดยอาศัยความรู้จริงที่มีการสร้างขึ้นในข้อ 1 แล้วทำการรณรงค์ เรียกร้อง กดดัน รวมทั้งสนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบ ให้มีการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพให้สำเร็จ

นี้คือกระบวนการประชาธิปไตย ที่ต้องมีทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างความรู้จริง จึงจะสามารถแก้ปัญหาง่ายๆ ของประเทศ รวมทั้งเรื่องสุขภาพด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

213-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 213
มกราคม 2540
ศ.นพ.ประเวศ วะสี