• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระยะก้าวหน้า หรือระยะเบ่งคลอด

ระยะก้าวหน้า หรือระยะเบ่งคลอด

ระยะเบ่งคลอดเป็นระยะที่เหนื่อยที่สุดของการคลอด เนื่องจากมดลูกจะมีการหดรัดตัวที่แรงและเร็วที่มาก ทุก 2-3 นาที และจะเจ็บท้องแข็งนาน 60-90 วินาที บางคนจะรู้สึกเหมือนกับว่าการแข็งตัวของมดลูกเกิดโดยไม่หยุดพัก คือ ติดต่อกันไป การเปิดปากมดลูกในระยะนี้จะเร็วมาก เริ่มจาก 3 เซนติเมตร ถึง 10 เซนติเมตร (เปิดเต็มที่) ภายในเวลา 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

ความรู้สึกของคุณในระยะนี้คุณจะรู้สึกปวดที่บริเวณส่วนก้นหรือตุงที่ฝีเย็บและทวารหนัก บางครั้งจะมีอุจจาระออกมาโดยมิได้เบ่งถ่าย มีเหงื่อออกมาก  รู้สึกร้อนสลับหนาว ปวดร้าวหน้าขามาก และรู้สึกไม่สุขสบาย มีอาการเกร็งสั่นโดยควบคุมไม่ได้ อาจจะมีอาการอาเจียนเวียนศีรษะร่วมด้วย และรู้สึกเหนื่อยล้ามาก

สิ่งที่ผู้คลอดควรปฏิบัติ

  • อยู่นิ่งๆ รอเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ช่วยคลอดหรือผู้ดูแลจะบอกให้คุณเบ่งจึงค่อยเบ่งคลอด
  • แทนที่จะคิดกังวลอยู่แต่สิ่งที่ต้องกระทำ ควรคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วว่าตัวเองได้ผ่านอะไรมาแล้วบ้าง
  • เมื่อเกิดความรู้สึกว่าอยากเบ่ง พยายามผ่อนลมหายใจช้าๆ การเบ่งก่อนเวลาอันสมควรจะทำให้ปากมดลูกบวมมาก และการคลอดจะล่าช้า
  • ถ้าคุณไม่ชอบให้ใครจับต้องตัวคุณ คุณควรบอกผู้ดูแลให้ทราบ

ระยะที่สอง

ระยะนี้เป็นระยะที่ปากมดลูกเปิดหมด และทารกเคลื่อนผ่านช่องทางคลอดมาจนถึงช่องคลอด และมองเห็นศีรษะได้ที่ปากช่องคลอด เพียงแต่ออกแรงเบ่งตามจังหวะการหดรัดตัวของมดลูก การคลอดก็จะเกิดขึ้นภายใน 10-30 นาที (บางรายอาจจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง)
การหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกระยะนี้จะแรงเร็ว และสม่ำเสมอมากขึ้น มดลูกจะแข็งตัวอยู่นาน 60-90 วินาที และติดต่อกัน อาจจะเว้นระยะเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น ความเจ็บปวดจะลดลงบ้าง แต่จะรู้สึกท้องตึงแข็งมากขึ้นและแทบจะไม่รู้สึกว่ามีการคลายตัวของมดลูกเลย

ความรู้สึกของคุณในระยะนี้

ความรู้สึกปวดเบ่งจะมาเป็นอันดับแรกๆ บางคนจะรู้สึกคล้ายมีแรงผลักดันมากมายในช่องท้องและปวดตุงบริเวณทวารหนัก หน้าท้องจะแข็งตึงตลอดเวลา มดลูกโก่งตัวสูง มูกเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น มองเห็นศีรษะตุงอยู่ที่ปากช่องคลอด มีน้ำออกเปียกแฉะที่ช่องคลอด

สิ่งที่ผู้คลอดควรปฏิบัติ

  • ปรับท่านอนให้อยู่ในท่าที่พร้อมจะเบ่งคลอด บางโรงพยาบาลจะย้ายผู้คลอดเข้าห้องคลอด ให้นอนบนเตียงขาหยั่ง บางแห่งจะให้นอนราบและยกศีรษะสูงในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ซึ่งท่าหลังจะสะดวกมากในการเบ่งคลอด
  • เมื่อถึงเวลาเบ่ง จงออกแรงเบ่งให้เต็มที่ เพื่อทารกจะได้ผ่านช่องคลอดโดยเร็ว แต่ควรจะเบ่งในเวลาที่ผู้เฝ้าคลอดบอกให้เบ่ง และหยุดพักเบ่งตามคำแนะนำเพื่อจะได้ออมแรงไว้ในระยะยาว
  • อย่าปล่อยให้ความอาย หรือการกลั้นอุจจาระปัสสาวะเป็นอุปสรรคในการออกแรงเบ่ง ไม่ควรกังวลในกรณีที่มีอุจจาระหรือปัสสาวะออกพร้อมกับการเบ่งคลอด เพราะทุกคนในห้องคลอดมองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปกติธรรมดา พร้อมที่จะทำความสะอาดให้ผู้คลอดตลอดเวลา
  • พยายามเบ่งคลอดตามคำแนะนำของผู้เฝ้าคลอด หรือเมื่อรู้สึกว่าอยากเบ่ง ก่อนการเบ่งคลอด สูดหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอดในเวลาที่เริ่มรู้สึกว่าท้องเริ่มแข็งตัว และกลั้นไว้จนรู้สึกว่าท้องแข็งเต็มที่ ออกแรงเบ่งลงสู่ส่วนล่างให้เต็มแรงจนรู้สึกว่าไม่สามารถกลั้นลมหายใจได้อีก ทำเช่นนี้ทุกครั้งที่มดลูกแข็งตัว การสูดหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ซ้ำๆกัน หลายๆครั้งก่อนที่จะกลั้นหายใจเบ่งจะช่วยให้ปริมาณออกซิเจนมากพอสำหรับการกลั้นใจเบ่งคลอดในแต่ละครั้ง และช่วยไม่ให้ผู้คลอดเหนื่อยจนเกินไป วิธีที่ปลอดภัย คือ หายใจและเบ่งตามคำแนะนำของผู้เฝ้าคลอด
  • ในการเบ่งคลอด ไม่ควรเกร็งขาโดยเฉพาะหน้าขาและฝีเย็บ เพราะจะทำให้เกิดแรงต้านการเบ่งในบริเวณปากช่องคลอด
  • หยุดเบ่งทันทีที่ได้คำบอกให้หยุด เพราะผู้เฝ้าคลอดจะควบคุมสถานการณ์ได้ถูกต้อง
  • พยายามพักร่างกายให้เต็มที่ระหว่างการพักเบ่งคลอด หรือเมื่อผู้เฝ้าคลอดเห็นว่าคุณมีอาการเหน็ดเหนื่อยเกินไป อาจจะให้พักการเบ่งชั่วระยะหนึ่งแล้วค่อยเริ่มใหม่
  • อย่าตกใจหรือเสียขวัญ ในการที่มองเห็นศีรษะเด็กโผล่ออกมาแล้วผลุบหายไป การผลุบๆโผล่ๆ นี้เกิดตามจังหวะการเบ่งและการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

ระยะที่สาม

ระยะนี้เป็นระยะที่ดูเหมือนว่าความน่ากลัวและวิกฤติการณ์ต่างๆสิ้นสุดลง สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้เป็นสิ่งดีๆ ของชีวิตภายหลังจากผ่านพ้นความทุกข์ยาก เป็นระยะสุดท้ายของการคลอด ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียง 5 นาที  หรือยาวนานจากครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ระยะนี้เป็นนับตั้งแต่ภายหลังการคลอดทารกจนมีการคลอดรก และสิ้นสุดด้วยการเย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บ

ความรู้สึกของคุณในระยะนี้
คุณจะรู้สึกอ่อนเพลีย เพราะได้ใช้พลังงานทั้งหมดไปในการคลอด หมดแรงต้องสะสมพลังงานใหม่ กระหายน้ำ แจจะรู้สึกหิวมาก บางคนจะรู้สึกหนาวสั่น มีอาการปวดตุ๊บๆ ที่ท้องน้อย เพราะมดลูกยังคงมีการหดรัดตัวต่อเนื่องทุก 1 นาที เพื่อช่วยให้เกิดการลอกตัวของรก มีเลือดและน้ำไหลออกทางช่องคลอดมากมาย บางคนอาจจะรู้สึกบวมบริเวณแผลฝีเย็บ

สิ่งที่ผู้คลอดควรปฏิบัติ
1. เบ่งคลอดรก ในเวลาที่ได้รับคำบอกเล่าให้ทำ
2. อดทนและพยายามสงบอารมณ์ในระหว่างรอการเย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บ
3. ทดลองจับต้อง สัมผัสลูกน้อยเมื่อพยาบาลนำมาให้ เช่น การให้ดูดนม หรือจับต้อง
4. จงภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถประคับประคองตนผ่านพ้นวิกฤติการณ์มาได้ด้วยดี อย่าลืมขอบคุณสามีผู้ดูแลเฝ้าคลอดคุณ

การได้โอบอุ้มลูกน้อยครั้งแรกของคุณจะเป็นความรู้สึกที่ติดตึงในความทรงจำที่ลืมได้ยากในชีวิต

 

ข้อมูลสื่อ

215-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 215
มีนาคม 2540
อื่น ๆ
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล