• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ในอดีตที่ผ่านมาแม่ทุกคนจะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนทารกสามารถกินอาหารปกติได้ เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา นมผสม(นมขวด)เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงทารกมากขึ้น เนื่องจากสตรีผู้เป็นแม่ต้องทำงานนอกบ้าน และใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ปัจจุบันจากการศึกษาและความรู้ก้าวหน้าทางโภชนาการพบว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลนี้ ทำให้ชาวโลกหันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น

ข้อดีของนมแม่

  • น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ถูกจัดเตรียมโดยธรรมชาติในทุกครั้งที่มีการตั้งครรภ์ และเมื่อเปรียบเทียบกับนมวัวที่นำมาใช้เลี้ยงทารก พบความแตกต่างดังนี้
  • นมแม่มีส่วนประกอบของสารอาหารมากกว่า 100 ชนิดที่ไม่มีในนมวัวและไม่สามารถสังเคราะห์ทดแทนได้
  • นมแม่ย่อยง่าย เหมาะกับทารก โดยอัตราส่วนสารโปรตีนตามธรรมชาติร้อยละ 1.5 เหมาะสำหรับระบบย่อยอาหารของทารก ในขณะที่โปรตีนในนมวัวมีถึงร้อยละ 3.5 ที่จะสร้างปัญหาต่อระบบย่อย
  • นมแม่ไม่ทำให้ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว และโรคอ้วน
  • นมแม่ไม่ทำให้เกิดโรคแพ้น้ำนม และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาการแพ้น้ำนมนี้เป็นสาเหตุของการตายเฉียบพลันในทารก
  • ทารกที่ได้รับนมแม่ จะไม่มีอาการท้องผูก หรือท้องเสีย
  • ในนมแม่จะมีเกลือแร่และแร่โซเดียมเพียง 1 ใน 3 ของนมวัว ซึ่งมีปริมาณสูงมากในนมวัว เป็นสาเหตุของปัญหาเรื่องการทำงานของไตในทารกที่ได้รับนมผสม
  • ในนมวัวจะมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงมาก ทำให้ปริมาณแคลเซียมต่ำลง
  • ทารกที่ได้รับนมแม่จะมีอาการเจ็บป่วยในขวบปีแรกต่ำ เนื่องจากได้รับภูมิคุ้มกันโรคจากมารดาผ่านทางน้ำนม
  • การดูดนมแม่ ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อของปากและเพดานมาก  เป็นการฝึกและพัฒนากล้ามเนื้อของทารกที่ดี
  • นมแม่สะอาด และปลอดภัย เพราะไม่ต้องผ่านการตระเตรียมและใช้อุปกรณ์อื่นใด ทำให้สะอาด และไม่ยุ่งยากในการเคลื่อนย้าย หรือนำทารกไปในที่ต่างๆ
  • การให้นมแม่ ช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านม
  • การให้นมแม่ ช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ลดปัญหาการตกเลือดหลังคลอดและการไหลของน้ำคาวปลา
  • การให้นมแม่ จะช่วยยับยั้งการตกไข่ได้ระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่มีประจำเดือนในขณะให้นมบุตร และเป็นการคุมกำเนิดอีกประการหนึ่ง
  • การให้นมแม่จะช่วยให้หญิงหลังคลอดได้ใช้พลังงานสะสมที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ทำให้ไขมันที่สะสมไว้ถูกนำออกมาใช้ ทำให้รูปร่างของหญิงตั้งครรภ์กลับคืนสู่สภาพได้เร็ว
  • การให้นมแม่ เป็นโอกาสที่แม่และลูกได้ใกล้ชิดกันและกัน มีการสัมผัสกันอย่างแนบแน่น ได้อุ้มกอดอย่างน้อย 6-7 ครั้งต่อวัน เป็นการสร้างความผูกพันที่ดีระหว่างแม่และลูก

นมผสมดีอย่างไร
แม่บางคนเลือกที่จะไม่ให้นมแม่ ทั้งนี้จากเหตุผลบางประการ การให้นมผสมมิใช่สิ่งที่เลวร้าย

ข้อดีของการให้นมผสมที่พอจะกล่าวถึงมีดังนี้

  • แม่หลังคลอดสามารถจะออกไปทำงานนอกบ้านได้  ใช้ชีวิตในสังคมนอกบ้านได้ตามความต้องการ ไม่ต้องผูกมัดตนเองกับลูกตลอด 24 ชั่วโมง
  • การให้นมผสม เปิดโอกาสให้พ่อได้มีส่วนร่วมในการให้นมและเลี้ยงดูลูก ทำให้พ่อและลูกได้สร้างความผูกพันซึ่งกันและกัน
  • การให้นมผสม ไม่ขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์ของคู่สมรส การให้นมแม่ จะทำให้ช่องคลอดลดความชุ่มชื้นลง และอาจจะมีน้ำนมไหลในการมีเพศสัมพันธ์
  • การให้นมผสม ไม่ขัดขวางการกินอาหารตามใจชอบของคุณ เพราะถ้าคุณให้นมแม่ จะต้องระวังอาหารบางชนิดที่จะส่งผลต่อทารก เช่น อาหารรสจัด เหล้า หรือยาบางชนิด
  • การให้นมผสมเหมาะสำหรับสตรีที่ต้องเดินทาง

การตัดสินใจเลือก

การตัดสินใจเลือกว่าจะให้นมชนิดใดแก่บุตร มักจะกระทำในระยะตั้งครรภ์โดยสตรีจะหาข้อมูลและปรึกษากับแพทย์ และส่วนใหญ่จะเลือกการให้นมแม่ เพราะข้อดีต่างๆนานามีมากกว่า สตรีบางคนตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะเลือกแบบใดดี ข้อแนะนำสำหรับคุณคือ ทันทีที่คลอดคุณจะได้ทดลองให้นมแม่กับลูกสักครั้ง แล้วคุณจะรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า คุณใช้เวลาเพียงเล็กน้อย กับความรู้สึกที่ไม่มีอะไรทดแทนได้ในการได้อุ้มได้กอดและเฝ้าดูลูกน้อยดูดนมจากตัวคุณเอง ความผูกพันและดึงดูดใจเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นจากการกระทำอื่นๆ นอกจากการให้นมบุตรเท่านั้น ถ้าคุณจำเป็นต้องทำงานนอกบ้านตลอดเวลา การให้นมแม่ในระยะลาคลอด ก็จะได้ประโยชน์คุ้มค่าต่อสัมพันธภาพแม่ลูกดีกว่าไม่ให้เลยอย่างแน่นอน

ข้อขัดขวางการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่

แม่บางคนไม่สามารถให้นมบุตรได้เนื่องจากปัญหาบางประการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของแม่และทารกแรกเกิด ได้แก่

  • แม่มีโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคไต หัวใจ หรือเลือดจางอย่างรุนแรง
  • แม่มีภาวะโรคติดต่อที่รุนแรง เช่น วัณโรคปอด
  • แม่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ และยานั้นขับออกทางน้ำนม ได้แก่ ยารักษาโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ มะเร็ง ยากล่อมประสาท และยาลดความอ้วน
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสทางน้ำนม
  • แม่ใช้ยาเสพติด ยากล่อมประสาท หรือติดเหล้าหรือกาแฟอย่างแรง
  • มีความรู้สึกต่อต้านการให้นมบุตรอย่างรุนแรง

ปัญหาเกี่ยวกับทารกที่ไม่สามารถเลี้ยงด้วยนมแม่ได้

  • ทารกเป็นโรคบกพร่องในการผลิตสารย่อยน้ำนม เด็กจะมีอาการแพ้นมแม่และนมวัว
  • ทารกมีความพิการเกี่ยวกับช่องปาก เช่น มีเพดานโหว่ ปากแหว่ง

การเลี้ยงลูกด้วยนมผสม

การเลี้ยงลูกด้วยนมผสม เป็นสิ่งที่ผู้เป็นแม่ควรเรียนรู้ไว้บ้าง เพราะปัญหาที่พบบ่อยคือ ความสะอาด และการติดเชื้อจากมือ ภาชนะที่ใช้ ขวดนม การฝึกหัดการเตรียมอุปกรณ์ และผสมนมที่ถูกต้อง ปลอดจากเชื้อโรคที่เป็นหัวใจสำคัญในการให้นมผสม และถ้าคุณอุ้มลูกทุกครั้งที่ให้ลูกดูดนม จับต้องแขนขาของลูกเล่นไปมาระหว่างที่ลูกดูดนมแม่

ดังนั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ คุณควรจะเลี้ยงลูกด้วยนมผสมในวิธีการเดียวกัน เพื่อพัฒนาความรักและความผูกพันที่ดี

      
 

ข้อมูลสื่อ

216-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
เมษายน 2540
อื่น ๆ
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล