• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไม คนเราจึงสะอึก มีวิธีแก้ไขอย่างไร

ทำไม คนเราจึงสะอึก มีวิธีแก้ไขอย่างไร



อาการนี้เกิดได้กับคนทุกคน สาเหตุเป็นเพราะกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง จึงได้ไปกระคุ้นให้เส้น
ประสาทในบริเวณนี้ทำงานผิดปกติ ชักนำให้กล้ามเนื้อกะบังลม (กล้ามเนื้อที่กั้นกลางระหว่างช่องอก กับช่องท้อง) มีการหดเกร็งตัวเป็นจังหวะ ๆ และกล้ามเนื้อซี่โครงก็ได้รับผลกระเทือนให้เกิดจากหดเกร็งตัวในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการระคายเคืองที่กระเพาะอาหารเสมอไป บางครั้งก็อาจก่อตัวที่ “ศูนย์การสะอึก” ที่อยู่ในสมองที่บังคับควบคุมให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติของกะบังลม จนเกิดเป็นอาการสะอึก

นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในบริเวณคอและหน้าอก เช่น ก้อนเนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น หรือเกิดจากโรคในช่องท้อง เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไตวาย หรือภายหลังการผ่าตัดช่องท้อง เป็นต้น หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุทางด้านอารมณ์ เช่น ความรู้สึกช็อก ความเครียดเรื้อรัง เป็นต้น

ในการแก้ไขจะต้องค้นให้พบสาเหตุของการสะอึกเสียก่อน ถ้ามีโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ แพทย์ก็จะให้การรักษาเพื่อแก้ไขอาการสะอึกควบคู่กับการแก้ไขโรคที่เป็นต้นเหตุ ในกรณีที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ก็มักจะเกิดจากความผิดปกติในกระเพาะอาหาร เช่น การกินอิ่มเกินไป การกินอาหารเผ็ดจัด การดื่มเหล้า การกินอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ก็อาจชักนำให้เกิดอาการสะอึกได้

ถ้าทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด สาเหตุหนึ่งดังกล่าว แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะช่วยป้องกันมิให้เกิดอาการกำเริบขึ้นได้อีก แต่ถ้ายังมีอาการกำเริบอีก ก็ให้ลองใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
⇒ หายใจเข้าออกในถุงกระดาษ (ที่ครอบปากและจมูกไว้) เพื่อนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปกดที่ “ศูนย์การสะอึก” ในสมอง
⇒ กลั้นหายใจ หรือทำให้ตกใจด้วยเสียงดัง ๆ หรือใช้ความเย็นกระทบถูกผิวกาย ซึ่งบางครั้ง จะช่วยระงับอาการสะอึกได้

แต่ถ้าหากอาการสะอึกเป็นอยู่นาน จนทำให้รู้สึกเหนื่อยอ่อนและตึงเครียด ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจต้องให้ยารักษา หรือบางครั้ง อาจต้องวางยาสลบเพื่อช่วยให้หายสะอึก
 

                                                         กลไกการสะอึก

 






1. ขณะที่หายใจเข้า กะบังลมที่อยู่ตอนล่างของช่องอกจะเคลื่อนลงล่าง ทำให้ปอดขยายตัว และดึงดูดให้อากาศเข้าปอด




 

 

 

 

 

 



2. กะบังลมเกิดการกระตุก (สะอึก) ทำให้ลมหายใจตีกลับขึ้นข้างบน ขณะที่ลิ้นกล่องเสียงปิด ตัด
กระแสลม ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้น




 

 

 

  

 




3.ในที่สุดลิ้นกล่องเสียงเปิด กะบังลมคลายตัว และลมหายใจออกจากปอด
 

ข้อมูลสื่อ

201-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 201
มกราคม 2539
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ