• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อ้วน ...อ้วน ...อ้ ว น !

อ้วน ...อ้วน ...อ้ ว น !


"คนอ้วน คือคนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติอันเนื่องมาจากกินอาหารเข้าไปมากกว่าปริมาณที่ร่างกายเผาผลาญหรือใช้ไป"

โฆษณาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของค่ายหนึ่ง ที่ใช้ตัวแสดงสาว 2 คน คือ ทั้งอ้วนและผอม พูดพาด
พิงถึงชีวิตการแต่งงานที่ผ่านมา 7  ปีแล้ว เดี๋ยวนี้แฟนเรียกว่า " ก้านกล้วย " ที่แฝงนัยว่าตัวอ้วนเหมือนช้างก้านกล้วยนั่นเองความอ้วนความผอมกระทบความรู้สึกนึกคิดของผู้คนได้ไม่มากก็น้อย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของชีวิตคู่จะรู้ได้อย่างไรว่า อ้วน ผอมถ้าอ้วนแล้วจะทำอย่างไรให้พอดีผอมไปเหมือนไม้เสียบผี จำพวกคนไม่มีไส้ ควรจะทำอย่างไร


รู้ได้อย่างไรว่าร่างกาย " อ้วน " หรือ  " ผอม  "ตามหลักทางการแพทย์ มีวิธีการพิสูจน์ง่ายๆ 3 วิธีคือ 
เปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย หาค่าดัชนีมวลกาย และการวัดเส้นรอบเอว

1.เปรียบเทียบความน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยสูงกับ

การเปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
ผู้ชาย  น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (เซนติเมตร) ลบ  100
เช่น ผู้ชายที่สูง 170  เซนติเมตร (ซม.) เมื่อนำมาลบด้วย 100 จะได้ผลลัพธ์  70   ตัวเลข  70   คือ น้ำหนักตัวที่เหมาะสม

ผู้หญิง น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (ซม.) ลบ 110
เช่น ผู้หญิงที่มีส่วนสูง 160 ซม. เมื่อนำมาลบ ด้วย 110 จะได้ผลลัพธ์ 50 ตัวเลข 50 คือน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

2. หาค่าดัชนีมวลกาย (body mass index-BMI) มีวิธีคำนวณได้ดังนี้

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม (กก.) หาร ความสูงเป็นเมตร 2  ครั้ง
เช่น คนที่น้ำหนัก 75 กก. และสูง 170 ซม. (1.7 เมตร)
จะมีดัชนีมวลกาย = (75 หาร 1.7) แล้ว1.7 อีกครั้ง = 25.9 กก.ต่อ ตารางเมตรอยู่ในเกณฑ์อ้วนระดับ 1
สำหรับค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมมีดังนี้
ต่ำกว่า 18  ถือว่าผอม 
18.5 - 22.9        รูปร่างปกติ 
23.0 - 24.9        รูปร่างอ้วน 
25.0-  29.9        อ้วนระดับ 1
30   ขึ้นไป          อ้วนระดับ 2

3. การวัดเส้นรอบเอว และสะโพก

การดูด้วยตาเปล่าเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย เป็นความรู้สึก ณ ตอนที่เห็น เปรียบเทียบกับภาพอดีตที่ผ่านมา (อาจจะนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือนานเป็นปีก็ได้) แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งหลายครั้งก็ จะทักผิดทักถูก
การวัดเส้นรอบเอวเป็นมาตรฐาน นั่นคือวัดที่ระดับจุดกึ่งกลางระหว่างใต้ชายโครงและเหนือกระดูกสะโพก
ผู้ชาย
ถ้าเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว (90ซม.) ถือว่าอ้วนลงพุง
ผู้หญิง ถ้าเส้นรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว (80 ซม.) ถือว่าอ้วนลงพุง
ค่าสัดส่วนเอว และสะโพก = เส้นรอบเอว (เมตร) หาร เส้นรอบสะโพกที่ยาวที่สุด
กรณีผู้ใหญ่ (ชาย) ถ้าเกิน 1.0 ถือว่าอ้วนลงพุง และผู้หญิง ถ้าเกิน 0.8 ถือว่าอ้วนลงพุง

อันตรายจากโรคอ้วน
 
ค่านิยมของคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่า คนอ้วนคือคนที่ร่ำรวย สมบูรณ์พูนสุข บ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่เป็นผู้มีอันจะกิน เป็นลูกผู้ดีมีเงิน แตกต่างจากคนผอมแห้ง หมายถึงคนยากคนจน

ปัจจุบันค่านิยมคนอ้วนร่ำรวย คนผอมคือยากจน เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนทั่วไปตระหนักแล้วว่า " โรคอ้วน " เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคเบาหวานและโรคความดันเลือดสูง รักษาให้หายขาดได้แต่ใช้เวลานาน

" อ้วน  "ส่งผลร้ายต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น
 
⇒ การนอนหลับผิดปกติ คนอ้วนมักจะหายใจ ลำบากขณะนอนหลับตอนกลางคืน บางคนไม่สามารถ นอนราบได้ ลิ้นคับปาก เพราะช่องปากมีไขมันมากจนโพรงช่องปากเล็กลง ลิ้นจะปิดช่องหายใจ ทำให้หายใจ ได้น้อยลงขาดออกซิเจนได้ บางคนถึงกับมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ

⇒ ข้อเสื่อม ร่างกายของคนเราถูกสร้างมาเพื่อ รองรับสรีระที่สมดุล ใครก็ตามที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน ปกติ (อ้วนนั่นแหละ) ทำให้ข้อต่างๆ ทำงานหนักขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้คนอ้วนปวดข้อ และน้ำหนักที่กดทับข้อจะทำลายกระดูกอ่อนในข้อ ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือโรคไขข้อเสื่อม คนอ้วนหลายคนเป็นโรคเกาต์ด้วย ทำให้ข้อเกิดปัญหาเสื่อมมากขึ้นอีก

⇒โรคระบบทางเดินหายใจ คนอ้วนมีก้อนไขมัน มากเกินไปแทรกในที่ต่างๆ ทำให้กล้ามเนื้อทรวงอกทำงานได้ไม่ดี และเนื้อของปอดขยายได้ไม่เต็มที่ การรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกมาไม่หมด ทำให้คนอ้วนง่วงนอนกลางวัน และเหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย

โคเลสเตอรอลสูงและเป็นนิ่วถุงน้ำดี คนอ้วนมีการสร้างโคเลสเตอรอลมากกว่าคนไม่อ้วน ซึ่งนอกจาก ทำให้ไขมันในเลือดสูงแล้วยังทำให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้บ่อยกว่าคนไม่อ้วน

⇒ โรคหัวใจและความดันเลือดสูง ร่างกายของคน อ้วนอุดมไปด้วยโคเลสเตอรอล ส่งผลให้มีโคเลสเตอรอล อุดตันหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลถึงปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว ร่างกายที่ใหญ่โตทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงให้ทั่วตัว คนอ้วนจึงมีความดันเลือดสูงได้บ่อย

⇒โรคเบาหวาน เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ร้ายแรง เป็นแล้วรักษายากมาก คนที่กินเกิน (อ้วน) เป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่มีกรรมพันธุ์ เบาหวาน (กรณีคนที่มีกรรมพันธุ์เบาหวานไม่อ้วนและดูแลสุขภาพตนเอง อย่างดีก็อาจไม่เป็นเบาหวาน)

⇒หลอดเลือดสมองตีบ ความดันเลือดที่สูงขึ้นในคนอ้วนที่เป็นเบาหวานและมีโคเลสเตอรอลในเลือดอุดตันหลอดเลือด ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น แรงดันเลือดจะไปกระแทกหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดได้รับอันตราย ถ้าเป็นหลอดเลือดที่สมองแตกหรือตีบตัน สิ่งที่ตามมาก็คือ อัมพฤกษ์ และอัมพาต

นอกจากนี้มีโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อเนื่องจากโรคอ้วน เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ การศึกษาในระยะหลังยังพบว่าคนอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งง่ายกว่าคนที่ไม่อ้วนทั้งชายและหญิง

สาเหตุของโรคอ้วน

คนอ้วน คือคนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากกินอาหารเข้าไปมากกว่าปริมาณที่ร่างกายเผาผลาญหรือใช้ไป จึงมีเหลือสะสมในรูปของไขมันหรือโคเลสเตอรอล ซึ่งในแต่ละคนมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

1. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่อ้วนทั้ง 2 คน ลูกจะ มีโอกาสอ้วนมากกว่าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน

2. พฤติกรรมการกิน คนที่กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารมันมาก หรือหวานมาก กินจุบกินจิบก็ทำให้อ้วนได้

3. ขาดการออกกำลังกาย ถ้ากินอาหารมากกว่าที่ร่างกายใช้ แต่มีการออกกำลังกายบ้างอาจทำให้อ้วนช้าลง แต่ถ้าขาดการออกกำลังกาย ร่างกายสะสมไขมันไว้ตามส่วนต่างๆ ไม่ช้าก็อ้วนได้

4. อารมณ์และจิตใจ มีคนจำนวนมากที่กินอาหารขึ้นกับสภาพอารมณ์และจิตใจขณะนั้น เช่น กินเพื่อดับความแค้น กลุ้มใจ กังวลใจ เข้าทำนอง ดีใจก็กิน เสียใจก็กิน

5. เพศ เพศหญิง มีโอกาสอ้วนได้มากกว่าเพศชาย อีกทั้งเพศหญิงจะต้องตั้งครรภ์ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะต้องกินอาหารมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ พอคลอดลูกแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักลงมาให้เท่ากับก่อนตั้งครรภ์ได้ เพราะกินอาหารเหลือของลูกต่อ

6. อายุ ทั้งชายและหญิงเมื่ออายุสูงขึ้น การใช้พลังงานน้อยลง มีโอกาสอ้วนง่าย

7. ยา ผู้ป่วยบางคนได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานานก็ทำให้อ้วนได้ และเพศหญิงที่กินยาหรือฉีดยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน

เด็กอ้วน อนาคตคือผู้ใหญ่

อ้วนเด็กอ้วนเกิดจากการประคบประหงม การเลี้ยงดูที่ชอบให้เด็กอ้วน อีกทั้ง หลายคนมีลูกเพียง 1หรือ 2 คนเท่านั้น ลูกก็ได้รับการดูแลอย่างดีและกินเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความอ้วน
มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เด็กที่อ้วน พอโตขึ้นก็เป็นวัยรุ่นก็เป็นวัยรุ่นที่อ้วน และโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมาก จึงทำให้สังคมไทยมีผู้ใหญ่อ้วนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา
ดังนั้น เด็กเล็กควรจะต้องมีกิจกรรมการออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง มากกว่าการนั่งเล่มเกมคอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์ เพราะพฤติกรรมของเด็กที่อยู่นิ่งๆ มักจะกินมาก แต่เด็กที่เคลื่อนไหวมักจะกินน้อย
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน จะต้องจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก

ลดความอ้วนด้วยอาหาร และการออกกำลังกาย

การลดความอ้วนมีสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินอาหาร ออกกำลังกาย การใช้ยา การผ่าตัด การอดอาหาร เป็นต้นl การกินอาหารการลดน้ำหนักเด็กเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเด็กไม่ใช่จะอยู่เพียงลำพังกับพ่อแม่เท่านั้น มีปู่ย่า ตายาย อีกทั้งระยะเวลา 1 วัน เด็กอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมีการดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสม งดขายอาหารหวาน ขนมขบเคี้ยวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของเด็ก และควรจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่จะส่งเสริมให้มีเด็กอ้วนในโรงเรียนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับผู้ใหญ่ การลดปริมาณอาหารและการเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสม

การควบคุมให้น้ำหนักคงที่หรือลดลง ควรจะค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ใช่ใช้วิธีอดอาหารทันที เพราะการอดอาหารทันที 1 หรือ 2 วัน ก็จะหิวมากขึ้น พอหมดความอดทนก็จะยิ่งกินมากขึ้นกว่าเดิมอีก
วิธีที่ถูกต้องคือ จะต้องกินอาหารครบทุกมื้อ ได้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ นั่นคือมีโปรตีน เนื้อสัตว์ ผักให้พอเพียง ส่วนแป้งและผลไม้ในปริมาณไม่มากเกินไป

⇒ การออกกำลังกายนอก
จากการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบถ้วน และปริมาณเหมาะสมแล้ว การออกกำลัง-กายควบคู่ไปด้วยก็จะยิ่งช่วยให้การควบคุมหรือลดน้ำหนักได้ผลดียิ่งขึ้นสำหรับการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย

1. ระยะเวลาการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ควรติดต่อกันนานมากกว่า 20 นาที เพื่อให้ระบบ การเผาผลาญของร่างกายทำงานต่อเนื่อง เป็น ผลดีต่อระบบการไหลเวียนเลือด

2. ความถี่ในการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ซึ่งจะดีต่อหัวใจ แต่ถ้าทำได้ทุกวันจะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและการควบคุมน้ำหนักด้วย

การใช้ยาลดความอ้วน

วิธีการลดน้ำหนักที่แต่ละคนใช้มีผลแตกต่างกัน บางคนอาจจะลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารแล้ว ได้ผล ขณะที่บางคนต้องอาศัยทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไปพร้อมกัน แต่ก็มีคนอ้วนอีก จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ต้องใช้ยาช่วยลดความอ้วน
การใช้ยาลดความอ้วนควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และไม่ควรใช้ยาลดความอ้วนติดต่อกันนานๆ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้

นอกจากนี้ มีหลายรายที่หยุดใช้ยาลดความอ้วนแล้วกลับมากินอาหารตามปกติร่างกายอ้วนเหมือนเดิม แต่ก็มีบางรายที่อ้วนกว่าเดิมเสียอีก ทั้งนี้เพราะคนนั้นไม่ควบคุมอาหารนั่นเอง
ควรใช้ยาลดความอ้วน เมื่อใช้วิธีกินอาหารและการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว (ประมาณ 3-6 เดือน) ยังไม่สามารถลดน้ำหนักได้ดี และควรใช้ยาลดความอ้วนภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปรับลดอาหารและการออกกำลังกาย ไม่ควรไปซื้อยาลดความอ้วนด้วยตนเองตามร้านขายยา ร้านเสริมสวย ทางอินเทอร์เน็ต หรือคลินิกที่ไม่มีการตรวจของแพทย์
สำหรับเด็กและสตรีตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน

ยาลดความอ้วนที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมันและออกฤทธิ์ต่อสมอง

1. ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมัน
ร่างกายคนเราได้รับไขมันเข้าไป ไขมันจะถูกย่อยสลายให้มีขนาดเล็ก และดูดซึมเข้ากระแสเลือดและนำไปใช้เป็นพลังงานและเหลือเก็บสะสมไว้ได้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการย่อยสลายไขมันในทางเดินอาหาร ทำให้ไขมันมีขนาดใหญ่และไม่สามารถถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ไขมันจะเหลือทิ้งมากับอุจจาระ
ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดและเกิดการขาดวิตามินชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค หากผู้นั้นไม่กินอาหารให้ครบหมู่ ถึงแม้มีโอกาสขาดน้อยมากก็ตาม

2. ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง
ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมองนี้จะทำให้รู้สึกไม่อยากกินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่ม และเมื่อลดปริมาณอาหารลง น้ำหนักตัวก็ลดลง
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีฤทธิ์แรง และมีผลข้างเคียงสูง เช่น เหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น และเมื่อมีการใช้ติดต่อกันนานๆ อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตและประสาท
นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆ ที่ใช้ในการลดความอ้วน เป็นต้นว่า ยาระบายชนิดต่างๆ ชาลดความอ้วน และยาที่เร่งการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น

3. ยาระบาย
ยาระบายช่วยให้ระบายหรือถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการลดความอ้วนโดยตรง เมื่อใช้ไปนานๆ ร่างกายจะไม่ถ่ายอุจจาระได้เอง ต้องใช้ยานี้ถึงจะถ่ายอุจจาระได้
บางรายอาจเกิดการดื้อยา เพราะร่างกายเราเคยชิน กับยานี้ ถ้าใช้ในขนาดเดิมอาจไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายถ่ายอุจจาระเหมือนปกติ

4. ยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกาย ใช้รักษาโรคความดันเลือดสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด
เมื่อใช้ชนิดนี้ร่วมกับยาลดความอ้วน จะเพิ่มการขับปัสสาวะของร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น ไปรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ หากใช้ปริมาณมาก อาจมีอันตรายได้

5. ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับ
การใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับติดต่อกันอาจทำให้ติดยานอนหลับได้
นอกจากยาลดความอ้วนแล้ว ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ใยอาหาร สมุนไพร วิตามิน และยาบางชนิด เพื่อช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการดูดซึมอาหาร ช่วยระบาย หรือบำรุงร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า ได้ผลดีในการลดความอ้วน มีราคาค่อนข้างแพง และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้
การตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อลดความอ้วน ควรใช้เท่าที่จำเป็นและได้ผลดีอย่างชัดเจนเท่านั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณา

การผ่าตัดลดความอ้วน


การผ่าตัดลดความอ้วนแบบง่ายคือ ใส่สายรัดกระเพาะ ทำให้กระเพาะเล็ก อิ่มเร็ว ถ้าไม่ได้ผลจะต้องทำการผ่าตัดใหญ่ นั่นคือตัดลำไส้ทิ้งบางส่วน เพื่อให้ตัวย่อยและการดูดสารอาหารลดลง ถ่ายทิ้งมากขึ้น ทำให้น้ำหนักลดลงได้
การที่ร่างกายน้ำหนักขึ้น เพราะการกิน และวิธีกินที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ทำให้ร่างกายมีของเหลือเก็บในสิ่งที่ไม่อยากจะเก็บ
การลดน้ำหนักที่ยั่งยืนคือกินให้ลดลง ต้องเลือกกิน ให้เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และไม่เกินสิ่งที่ตนเองต้องใช้ โดยเฉพาะแป้งและผลไม้ หากปฏิบัติตัวแล้ว ได้ผล การกินต้องเปลี่ยนเป็นแนวนี้ตลอดไป หมายความว่าพฤติกรรมการกินต้องเปลี่ยน ปริมาณการกินต้องเปลี่ยน และควบคุมให้คงที่สม่ำเสมอ ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการกิน
การลดน้ำหนักที่ยั่งยืนจริงๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการฝึกตนเองให้ชินกับการกินแบบใหม่ และนิสัยแบบใหม่

เริ่มต้นที่ใจตนเองเสมอ ถ้าใจไม่เอา ผ่าตัดก็สามารถกลับมาอ้วนได้ ถึงแม้มีน้อยราย แต่รายนั้นอาจจะเป็นตัวคุณก็ได้ i

ข้อมูลสื่อ

332-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์