• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลกธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้

ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลกธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้
(เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2549)


2 ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันที่เราสัญจรไปเรียนรู้นั้นเป็นองค์กรและขบวนการที่ใหญ่โตมีสมาชิกประมาณ 5 ล้านคน มีอาสาสมัครประมาณ 300,000 คน มีกิจการกว้างใหญ่ไพศาล คือมีอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยที่ไปได้ทั่วโลก เช่น เมื่อคราวมหันตภัยสึนามิก็เข้ามาช่วยเหลือ หรือมีแผ่นดินไหวในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไป แอฟริกาก็ไป ขนาดเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์เมื่อปีเศษๆ ที่ผ่านมา และอเมริกาเสียชื่อมากที่เป็นมหาอำนาจเสียเปล่าแต่ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที อาสาสมัครของมูลนิธิพุทธฉือจี้ก็ไป

มูลนิธิฯ มีสถานีโทรทัศน์ของตัวเองชื่อสถานีต้าอ้าย (ความรักอันยิ่งใหญ่) ที่กระจายเสียงแพร่ภาพไปทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพยายามเอาเรื่องความดีที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกันกระจายไปสู่การรับรู้ของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก เขามีโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล ของเขาเองที่เน้นการมีหัวใจของความเป็นมนุษย์นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น

ต้นธารของศรัทธาอันยิ่งใหญ่อยู่ที่ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

ท่านเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ศีลและวัตรของท่านก่อให้เกิดศรัทธาในมหาชนชาวจีนไต้หวันและต่อมาชาวจีนโพ้นทะเลอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดขบวนการทางมนุษยธรรมอันยิ่งใหญ่ เราจึงควรเรียนรู้ประวัติของท่านธรรมาจารย์ ซึ่งมีอยู่แพร่หลายทั่วไปท่านเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อ พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) และเคยมีผู้เสนอชื่อท่านรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถ้ารู้จักท่านดีจะทราบว่าท่านสงบนิ่ง ไม่มีความยินดียินร้ายกับชื่อเสียงเกียรติยศหรือรางวัลใดๆหนังสือชื่อ"คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศไต้หวัน"โดยภิกษุเดิมแท้ ชาวหินฟ้า ที่จัดพิมพ์โดยศูนย์คุณธรรม ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไต้หวัน ทั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประชากร เศรษฐกิจ ศาสนา ลัทธินิกายต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวของมูลนิธิพุทธฉือจี้เป็นอย่างดี

หนังสือชื่อ Master of Love and Mercy : Cheng Yen โดย Yu-ing Ching พิมพ์โดย Jing Si Publications แห่งประเทศไต้หวัน ให้ประวัติเกี่ยวกับท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนโดยละเอียด

คุณหยูอิง ชิง เป็นนักเขียนที่มีนิวาสสถานอยู่ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้ไปค้นคว้าประวัติของท่านธรรมาจารย์และนำมาเรียบเรียงเป็นสารคดี อ่านได้เพลิดเพลินและสร้างศรัทธาประสาทะไปด้วยในตัว เรื่องราวของท่านธรรมาจารย์ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้

"ความรักและความเมตตากรุณาข้ามพ้นพรมแดนของเชื้อชาติ ประเทศ และภูมิศาสตร์"

                                                                                                ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนเกิดเมื่อวันที่14 พฤษภาคม ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) ที่เมืองชิงฉุย (น้ำใส) ชานเมืองไทจุงตอนกลางของประเทศไต้หวัน บิดาเป็นช่างทำกระดุม เมื่อท่านเกิดบิดามารดามีบุตรสาว 3 คนแล้ว คนโตชื่อ ชินหยัว (จันทร์งาม) คนที่ 2 ชื่อ ชินหยู (หยกใส) คนที่ 3 ชื่อชินหยุน (เมฆสวย) ชินหยุนเป็นเด็กที่สวยงามน่ารัก

นางหว่องซึ่งเป็นอาสะใภ้ แต่งงานกับน้องชายของพ่อชินหยุนมาหลายปีแล้วก็ยังไม่มีลูก ไปสวดอ้อนวอนพระในโบสถ์ขอให้มีลูกอย่างชินหยุนบ้าง พ่อแม่ของชินหยุนทราบความต้องการนี้จึงยกชินหยุนให้เป็นบุตรบุญธรรมของน้องชายและน้องสะใภ้ เมื่อชินหยุนอายุได้ 11 เดือน บิดามารดาบุญธรรมรักท่านมาก และเชื่อว่าเป็นบุญที่มีต่อกันมาแต่ชาติปางก่อน

หลังจากรับชินหยุนไว้เป็นบุตรบุญธรรม นางหว่องและสามีมีลูกของตัวเองถึง 4 คน และชินหยุนซึ่งกลายเป็นบุตรคนโตก็ช่วยเลี้ยงน้อง เมื่ออายุเพียง 5 ขวบ ไต้หวันถูกบอมบ์ระหว่างสงคราม ชินหยุน
ต้องอุ้มน้องลงหลุมหลบภัยด้วยวัยเพียงเท่านั้นเธอเห็นคนเจ็บ คนตาย ตึกรามบ้านช่องพังทลายจากสงคราม สิ่งเหล่านี้คงจะฝังลึกในดวงจิตของเธอ ในสภาวะสงครามผู้คนยากจนลงเธอต้องเลี้ยงน้องและช่วยพ่อแม่ทำงาน

เมื่ออายุ 6 ขวบครึ่ง พ่อแม่ส่งชินหยุนเข้าโรงเรียน เธอเลี้ยงน้องด้วยไปเก็บฟืนด้วยก่อนไปโรงเรียน กลับบ้านก็ทำครัว ซักรีดเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้าน หลังสงครามสิ้นสุดลง บิดา (บุญธรรม) ของเธอเปิดโรงภาพยนตร์หลายแห่งตามเมืองต่างๆ เมื่อชินหยุนอายุ 12 ปี จีนคณะชาติซึ่งมีเจียงไคเช็กเป็นผู้นำได้อพยพมาอยู่ไต้หวันหลังจากพ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่ ผู้คนบนเกาะมากขึ้น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ของบิดาก็ดีขึ้นและมีงานต้องทำมาก ชินหยุนจึงไปช่วยบิดาทำงานที่โรงภาพยนตร์

นางหว่องมารดาของเธอเล่าว่าชินหยุนในวัยรุ่นเป็นคนสวยมาก หน้าตาสวย รูปร่างสะโอดสะอง มีสง่า ตาเป็นประกาย แต่ไม่เคยใช้เครื่องสำอางและไม่เคยมีแฟนเพราะไม่สนใจที่จะมี เอาแต่ช่วยพ่อทำงาน แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชายหนุ่มรูปงามเชื้อสายญี่ปุ่นส่งคนมาทาบทามพ่อของชินหยุนเพื่อขอแต่งงานกับเธอ แต่พ่อก็บอกว่าแล้วแต่ลูกสาว ชินหยุนปฏิเสธและไม่ต้องการให้ใครมาทาบทามเช่นนี้อีกต่อไปในอนาคต

มารดาของชินหยุนเล่าว่าในปี ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) ขณะที่ลูกสาวคนนี้ของเธออายุ 15 ปี เธอป่วยหนักเป็นแผลกระเพาะอาหาร ชินหยุนซึ่งดูแลมารดาอยู่อย่างใกล้ชิดได้ทำสิ่งเหลือเชื่อ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอโดยสิ้นเชิง และต่อมามีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนเป็นล้านๆ คน...

นางหว่องเล่าว่าเธอเป็นแผลกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือด อาการเป็นตายเท่ากัน แม้ผ่าตัดก็ไม่ค่อยรอดในสมัยนั้น ชินหยุนสวดมนต์ขอให้มารดารอดชีวิต และอุทิศชีวิตของตนเอง 12 ปีแลกกับสุขภาพของมารดา และถ้ามารดาหายเธอจะกินเจตลอดชีวิต เธอสวดอ้อนวอนทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วคืนวันหนึ่งเธอก็ฝันไป
เธอฝันเห็นโบสถ์หลังเล็กมีประตูกลาง และประตูข้างทั้งสองข้างของประตูนั้น เธอเข้าไปในโบสถ์มีพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง ข้างๆ องค์พระมีเตียงไม้ไผ่ พบว่าแม่นอนอยู่บนเตียงนั้น ชินหยุนเห็นตัวเองนั่งลงข้างๆ แม่พัดไฟในเตา บนเตามีหม้อต้มยาสมุนไพร เธอได้ยินเสียงลมพัดนอกประตูมองไปเห็นเมฆลอยลงมาต่ำเหมือนดอกไม้ลอยลงมาจากสวรรค์
เธอมองเห็นในใจกลางของเมฆดอกไม้มีผู้หญิงสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น หญิงผู้นั้นยื่นยาให้ชินหยุน ซึ่งเธอนำมาให้แม่กิน ชินหยุนยังสวดภาวนาต่อไปในวันรุ่งขึ้น พอตกกลางคืนก็ฝันอย่างเดิมอีกแล้วฝันว่าเทพธิดาผู้นั้นนำยามาให้แม่กินอีก คืนที่ 3 ก็ยังฝันซ้ำอย่างเดียวกัน
นางหว่องว่าเธอหายจากโรคกระเพาะอย่างอัศจรรย์โดยไม่ได้รับการผ่าตัด หมอก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมเธอจึงหาย และเธอไม่เป็นโรคกระเพาะอีกเลยตลอดมา ชินหยุนก็เริ่มกินเจตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เริ่มเมื่อเธออายุ 15 ปี

เธอช่วยบิดาทำงานอย่างแข็งขัน แต่เมื่อเธออายุ 19 ปีบิดาก็เป็นโรคหัวใจ หลังจากนั้นอีก 1 ปีเขาก็เป็นโรคหัวใจอีก คราวนี้อาการเลวลง มีความดันเลือดสูงด้วย และตายลง ทุกคนพากันร้องไห้ ชินหยุนไม่ร้องไห้ แต่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เธอเดินไปมาคล้ายหุ่น หลังจากฝังศพบิดา ชินหยุนไม่กินไม่นอน ร่างกายทรุดโทรมลง มารดาพาไปปรึกษาพระ เมื่อพระถามว่า จะให้ช่วยอะไรบ้าง ชินหยุนถามว่าวิญญาณของพ่อไปอยู่ที่ไหน

วันหนึ่งมีภิกษุสูงอายุชื่อมิวหวันเฉฟู มาที่วัดฟอนหยวน เพื่อนมาพาชินหยุนไปที่วัด เธอก็ไปถามคำถามเดิมอีกว่าวิญญาณพ่อเธออยู่แห่งใด พระชรามองดูเธอด้วยความสงสาร และสอนว่าอย่าไปคิดให้เป็นทุกข์ แล้วให้หนังสือมาเล่มหนึ่ง บอกให้ชินหยุนไปอ่านดูแล้วก็จะรู้ว่าพ่ออยู่ไหน

ชินหยุนนำหนังสือไปอ่านที่บ้าน อ่านแล้วก็สามารถเผชิญกับความจริงได้ว่า "ทุกๆ ชีวิต รวยหรือจน มีอำนาจหรือไม่มี สวยหรือไม่สวย หล่อหรือไม่หล่อ ล้วนต้องตาย กระบวนการความตายเริ่มตั้งแต่เกิด"
แต่เธอก็ยังอยากรู้ว่าวิญญาณของพ่ออยู่ไหน ที่วัดฟอนหยวนเธอพบเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเวทนาในสารรูปของเธอที่ซูบผอม ซีดเซียวและเศร้า เพื่อนชวนให้ไปอีกวัดหนึ่งชื่อวัดเมฆเมตตาราม มีแม่ชีวัยกลางคนสอนการอ่านพระสูตรอยู่ที่นั่น ถ้าเธอเข้าใจพระสูตรอาจจะรู้ว่าวิญญาณพ่ออยู่ไหน

แม่ชีคนนี้มีความสำคัญต่อชีวิตของชินหยุนมาก ชินหยุนรู้สึกชอบแม่ชีผู้นี้ทันที เธอฟังเรื่องเล่าจากพระสูตร ชินหยุนฟังพระสูตรบวกกับความรู้จากหนังสือเล่มอื่น เกิดบรรลุความจริงขึ้นมาว่า "ไม่มีอะไรจีรัง นอกจากกรรม ซึ่งกำหนดว่าวิญญาณจะไปไหน"
ด้วยการบรรลุความจริงอย่างนี้ทำให้ชินหยุนรับนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าทำไมพุทธศาสนาจึงปรากฏแต่คำพูดโดยมีการกระทำน้อย
เธอพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ แล้วก็กลับไปยังวัดเมฆเมตตารามอีก เพื่อคุยกับหลวงพี่เมฆเมตตาผู้นั้น ชินหยุนกับหลวงพี่เมฆเมตตาเลยศึกษาพุทธศาสนาด้วยกัน และความคิดที่อยากบวชก็ก่อตัวขึ้น

ชินหยุนไม่เศร้าสร้อยอีกต่อไป แต่ขยันขันแข็งตื่นแต่เช้าตรู่ ทำงานบ้าน ดูแลแม่ ดูแลยาย ดูแลน้อง แล้วก็ศึกษาตำราทางพุทธศาสนา ภาวนาและสวดมนต์ แต่ระหว่างนี้เธอ ก็ต้องทำธุรกิจการงานของครอบครัวไปด้วย แต่ก็ต้องการบวชชีไปด้วย แต่ก็ทำใจไม่ได้ที่จะทิ้งครอบครัวไป ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะต้องออกจากบ้านไปแสวงธรรม หลวงพี่เมฆเมตตาได้ช่วยหาวัดให้ ได้ที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชานเมืองไทเป ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เมื่ออายุได้ 23 ปี หนีออกจากบ้านเพื่อไปบวชชี โดยนั่งรถไฟจากฟอนหยวน ไปไทเปและนั่งรถเมล์ต่อไปที่ซิเส ที่วัดที่หลวงพี่เมฆเมตตาได้ติดต่อไว้ เจ้าอาวาสเป็นแม่ชีชรา

ที่บ้านตระกูลหว่องที่ฟอนหยวนเกิดความโกลาหลขึ้น แม่ของเธอครวญหาลูกสาว หาจนทั่วก็ไม่เจอ น้อง 4 คนก็ช่วยแม่ตามหาพี่สาว หาเท่าไรก็ไม่เจอ ที่ห้องพบเงินทอง ของมีค่าไม่ได้เอาไปเลย แม่ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้นว่าแล้วลูกจะเอาอะไรกิน เธอเป็นลมแล้วเป็นลมอีก และร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกสาว

ที่วัดแห่งสันติภาวนา ชานกรุงไทเป ชินหยุนรู้สึกพออกพอใจ 2 วันแรกใช้เวลาปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ วันที่ 3 รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัด เธอทำงานของวัดด้วยความกระตือรือร้น เพราะรู้ว่าเป็นก้าวแรกในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ ก่อนหมดวัน เมื่อเงยหน้าขึ้น จากงานที่ทำ เธอเห็นแม่เดินเข้าประตูมา แต่ไม่เชื่อสายตาตัวเอง กะพริบตาถี่ๆ ก็เห็นแม่วิ่งเข้ามาหา มีแม่ชีวิ่งไล่ติดหลังมา

นางหว่องวิ่งพลางร้องไห้พลางเข้ามากอดลูกสาวและพิลาปรำพัน ชินหยุนไม่มีทางเลือกนอกจากกลับบ้านไปกับแม่ ขณะที่นั่งข้างแม่เมื่อเดินทางกลับบ้าน เธอคิดในใจว่า "แม่จะรู้ไหมหนอว่า ถ้าเรารักใครสักคน เราไม่ควรจะไปครอบงำชีวิตของคนที่เรารัก การครอบงำก็ผิดพอๆ กับความโลภ โกรธ หลง

วันรุ่งขึ้นหลังจากกลับมาบ้าน ชินหยุนฉวยตะกร้าหวายไป จ่ายกับข้าว ซื้ออาหารต่างๆ บรรจุในตะกร้าจนเต็ม แต่หัวใจเธอ ว่างเปล่า

ที่ตลาดนอกจากอาหารแล้วยังมีของอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ถ้วยชา ชาม... และกระจกเงา เธอมองไปในกระจกเงาบานหนึ่งที่ตั้งอยู่เห็นหน้าตัวเอง เป็นหน้าของคนที่ไม่มีความสุข คิ้วขมวด มุมปากห้อย เธอมองไปยังคนที่มาจ่ายตลาดอื่นๆ บางคนก็หน้าตายิ้มแย้มมีความสุข เพราะมีความสุขความพึงพอใจ แต่บางคนก็หน้าดำคร่ำเคร่ง เพราะมีความไม่พึงพอใจ พวกแรกมีความภูมิใจที่ได้ทำเพื่อครอบครัว พวกหลังไม่พอใจในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่

การเปรียบเทียบคน 2 จำพวกเปรียบประดุจสายฟ้าฟาด ชินหยุนเอามือคลึงที่หัวคิ้ว แล้วมองไปในกระจกอีกครั้ง รู้สึกดีใจที่เห็นตัวเองยิ้มได้ เธอพูดในใจกับเงาของตัวเองในกระจกว่า "สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการไม่พอใจในโชคชะตาของตัวเอง และไม่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด"เธอคิดในใจว่า "สักวันหนึ่งข้างหน้าฉันจะเป็นอิสระที่จะทำพันธกิจตามกรรมกำหนด ฉันจะต้องมีตะกร้าใบใหญ่ ที่ใหญ่พอที่จะบรรจุข้าวของที่สามารถบำบัดความหิวโหยของสรรพชีวิตทั้งมวล แต่ในขณะนี้ ฉันจะทำเท่าที่ทำได้ และทำด้วยความรักและความพึงพอใจ "

                                                                                                                                            (ยังมีต่อ)

ข้อมูลสื่อ

332-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี