• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาลดความอ้วน

ยาลดความอ้วน


คำถาม
: ยาลดความอ้วน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

ความอ้วน...สำคัญไฉน...!!!!

"ความอ้วน " เป็นเรื่องยอดนิยมของเมืองไทย มองได้หลายมิติ ซึ่งคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงามเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องสุขภาพหรือสุขภาวะของร่างกายถือเป็นอันดับรอง แต่เมื่อพิจารณามิติของระดับชาติและนานาชาติแล้วจะเห็นว่า ความอ้วนเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เป็นภาระหนักของทั้งสังคมไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ความอ้วน คือ โรคชนิดหนึ่ง

ในสมัยโบราณอาจมีความเชื่อว่าความอ้วนเป็นการแสดงถึงความสมบูรณ์และความมั่งคั่ง แต่ปัจจุบันมีหลักฐานทางการแพทย์อย่างชัดเจนแล้วว่า ความอ้วนเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งของร่างกายและถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกทับศัพท์ว่า "โรคอ้วน"

ทั้งนี้เพราะความอ้วนหรือโรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคต่างๆ หลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ซึ่งพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินปกติจนถึงอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ โดยเฉพาะโรคความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน และยังพบอีกว่าเมื่อลดความอ้วนลงได้จะส่งผลดีทำให้อาการความรุนแรงของโรคเหล่านี้ลดลงหรือบรรเทาลงอย่างเด่นชัด

สาเหตุของความอ้วน

ความอ้วนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่า กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ครอบครัว พฤติกรรมการกิน และวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะวิถีชีวิตแบบคนเมืองที่รีบเร่ง นิยมกินอาหารจานด่วน (ที่มีไขมันสูง) ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และเคร่งเครียด จะพบคนอ้วนในสังคมเมืองมากกว่าในชนบท
สาเหตุที่สำคัญและเป็นที่ประจักษ์ใจของทุกคนคือ ความสมดุลของการได้รับอาหารเข้าสู่ร่างกายและการใช้พลังงานของร่างกาย ถ้ามีการกินอาหารที่มีพลังงานมากเกินกว่าการใช้พลังงานร่างกายก็จะนำสารอาหารที่เหลือเหล่านี้ไปสะสมเป็นไขมันไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ท้อง (ลงพุง) หน้าท้อง โคนขา แก้ม เป็นต้น เหมือนกับการสะสมทรัพยากรไว้ใช้ในคราวจำเป็นของร่างกายเมื่อใดที่มีความต้องการใช้พลังงานมากกว่าร่างกายก็สามารถนำสารอาหารที่สะสมไว้ในรูปของไขมันออกมาใช้เป็นพลังงานได้

วิธีลดความอ้วน

วิธีการลดความอ้วนที่สะดวก ปลอดภัย และไม่มีอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่
1. การลดจำนวนอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย
2. การออกกำลังกายหรือการทำงานที่ใช้กำลังออกแรง ทั้ง 2 วิธีเป็นวิธีที่ถาวรและยั่งยืน ตลอดจนมีความปลอดภัยและประหยัด
3. การใช้ยาลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร
การผ่าตัดเป็นวิธีช่วยลดความอ้วนได้ในระยะสั้นที่ควรนำมาเสริมให้กับวิธีที่ 1 และ 2 กรณีที่จำเป็นโดยเฉพาะการใช้ยาลดความอ้วนแต่มักไม่ได้มีผลอย่างยั่งยืน และมักจะทำให้กลับมาอ้วนใหม่ได้อีก (yo-yo effect 1) หลังจากที่หยุดการรักษาแล้ว ทั้งในบางครั้งอาจเกิดผลอันไม่พึงประสงค์จากยาหรือการรักษาอีกด้วย ซึ่งปรากฏอยู่เนืองๆ ตามสื่อมวลชน

ยาลดความอ้วน สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ยาลดความอ้วนควรใช้เมื่อจำเป็น นั่นคือลดความ อ้วนควรด้วยวิธีที่ 1 และ 2 เป็นระยะเวลานานพอสมควร (ประมาณ 3-6 เดือน) แล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักได้ดี
การใช้ยาลดความอ้วน ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดควบคู่กับการปรับลดอาหารและการออกกำลังกาย ไม่ควรไปซื้อยาลดความอ้วนด้วยตนเองตามร้านขายยา ร้านเสริมสวย ทางอินเทอร์เน็ต หรือคลินิกที่ไม่มีการตรวจของแพทย์
กรณีจำเป็นต้องใช้ยาลดความอ้วนไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานๆ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้เมื่อหยุดใช้ยาลดความอ้วนก็มักกลับมากินอาหารดังเดิมและกลับมาอ้วนได้อีก บางคนอาจอ้วนมากกว่าเดิมเสียอีก
เด็กและสตรีตั้งครรภ์ก็ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน
ยาลดความอ้วนที่เป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์ มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง และยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมัน
 
ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อสมองทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารทำให้เบื่ออาหารหรือรู้สึกอิ่มและเมื่อลดปริมาณ
อาหารลงน้ำหนักหรือความอ้วนก็ลดลง ตัวอย่างยากลุ่ม นี้ เช่น phentermine mazidol henylopro-anolamine sibutramine เป็นต้น  ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ฤทธิ์แรงและมีผลข้างเคียงสูง เช่น เหนื่อย
ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น และเมื่อมีการใช้ยา phentermine ติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตและประสาทได้ 

ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมันปกติไขมัน

ที่กินเข้าไปในร่างกายจะถูกย่อยสลายให้มีขนาดเล็กจึงจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ยากลุ่มที่สองนี้ออกฤทธิ์ลดการย่อยสลายไขมันในทางเดินอาหาร ทำให้ไขมันมีขนาดใหญ่และไม่สามารถถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไขมันเหล่านี้จะเหลือทิ้งมากับอุจจาระ และทำให้อุจจาระเป็น ไขน้ำมันปะปนออกมา และอาจทำให้ท้องอืดได้ ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และ เค

นอกจากยาทั้ง 2 กลุ่มนี้แล้ว ในทางการแพทย์อาจนำยาชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลดความอ้วนโดยตรงมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยให้ลดความอ้วนได้ดียิ่งขึ้น หรือช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วนทั้ง 2 ตัวอย่างยาเหล่านี้ได้แก่

ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาโรคคอพอกจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อนำมาใช้ในคนปกติ ยานี้จะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้นและช่วยลดความอ้วนได้บ้าง แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเรื่อง ใจสั่น เหนื่อย ขี้ร้อน หิวน้ำบ่อย และจะไปรบกวนระบบฮอร์โมนของร่างกายและเกิดอันตรายได้

ยาระบาย จะช่วยให้ระบายหรือถ่ายอุจจาระบ่อย ขึ้น แต่ไม่มีผลต่อความอ้วนโดยตรง เมื่อใช้ยานี้ไปนานๆ อาจทำให้เกิดการพึ่งยาระบาย ถ้าใช้ยานี้ร่างกายจะไม่ถ่ายอุจจาระได้เอง ต้องใช้ยานี้ถึงจะถ่ายอุจจาระได้ หรืออาจเกิดการดื้อยาระบาย เพราะร่างกายของเราเคยชินกับยานี้ ถ้าใช้ขนาดเดิมอาจไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายถ่ายอุจจาระเหมือนปกติ

ยาขับปัสสาวะ เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกาย ใช้ในการรักษาโรคความดันเลือดสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน จะเพิ่มการขับปัสสาวะของร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น ไปรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ อาจมีอันตรายถึงชีวิต

ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับ อาจใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับติดต่อ กันอาจทำให้ติดยานอนหลับได้

นอกจากนี้ มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใยอาหาร สมุนไพร วิตามิน และยาบางชนิดเพื่อช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการดูดซึมอาหาร ช่วยระบายหรือบำรุงร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าได้ผลดีในการลดความอ้วน ประกอบกับราคา ค่อนข้างแพง และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงพิจารณาเฉพาะเท่าที่จำเป็นและที่ได้ผลดีอย่าง ชัดเจนเท่านั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณา หรือผลการรักษาจากคำบอกเล่าของคนบางคนบางกลุ่ม ซึ่งมุ่งผลทาง การค้ามากกว่าเรื่องสุขภาพ

ในทางปฏิบัติพบว่า ผู้ป่วยได้รับการจ่ายยาลดความอ้วนเหล่านี้หลายชนิดร่วมกันเป็นชุดจากร้านขายยาหรือคลินิก เช่น ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง + ยาฮอร์โมนไทรอยด์ + ยาระบาย + ยานอนหลับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เป็นการเพิ่มผลเสียผลข้างเคียงของยาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ขอให้ทุกคนดูแลตนเอง และรู้จักตัวเองว่า อย่างไหนพอดี อย่างไหนเกิน แล้วทุกคนจะปลอดภัย และประสบความสำเร็จกับการลดความอ้วน

ข้อมูลสื่อ

332-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด