• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเครียดกับการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

ความเครียดกับการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ



เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าเพิ่งรู้สึกเครียดตามนะครับ เนื้อหาครั้งนี้อาจแตกต่างจากที่ผ่านมาพอสมควร เพราะทุกครั้งเป็นสิ่งที่พอจับต้องได้ และพอมองเห็นภาพได้ด้วยตา แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องความเครียด ที่นอกจากมองไม่เห็นแล้ว ยังอาจไม่รู้ตัวด้วยว่ามีอาการเครียดอยู่ด้วย และความเครียดที่ก่อเกิดขึ้นมานั้นยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้อีกด้วย

ความเครียดและภาวะอารมณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ความเครียดเป็นภาวะทางจิตใจ ที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย เป็นผลมาจากการตอบสนองของคนกับสิ่งที่อยู่รอบข้าง ที่บอกว่าเป็นภาวะจิตใจเพราะหากมีงานหนัก ที่หนักทางกาย เช่น ต้องแบกของหนัก หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่มีความสนุกสนานกับการทำงานนั้นๆ ก็จะมีอาการตอบสนองในรูปแบบของความเมื่อยล้าเท่านั้น แต่ถ้างานนั้นถูกกำหนดว่าต้องให้เสร็จ มีสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น ถูกตรวจสอบ ลูกป่วย หรือทะเลาะกับแฟนแม้งานที่ทำนั้นจะเบาทางกาย แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นที่จิตใจ สามารถส่งผลต่อร่างกายทำให้ปวด เมื่อยและล้าง่ายกว่าที่ควรจะเป็น

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนเอง ขณะนั้นสำเร็จการศึกษาใหม่ๆ ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่ถูกเชิญให้เป็นวิทยากร หรือต้องนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการต่างๆ ผู้เขียนจะรู้สึกตื่นเต้นมาก พูดแค่ครึ่งชั่วโมง ต้องเตรียมตัวเป็นวัน และรู้สึกว่าตัวเมื่อยล้าไปหมด พอพูดเสร็จกลับถึงบ้านรู้สึกล้ามาก ต้องพัก และหลับไปเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้อดหลับอดนอนแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มักเป็นทุกครั้งที่มีความเครียด แต่ปัจจุบันนี้ อาการลดลงไปมาก อันเนื่องจากมีประสบการณ์และความเคยชินมากขึ้นความเครียดจึงลดลงไป

อย่างไรก็ตาม หากปรับตัวไม่ได้ก็เชื่อว่าอาการเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นทางกายคงไม่หายไปแน่ๆ และคงจะพัฒนาไปมากกว่านั้น ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์จากผู้ป่วย โดยผู้ป่วยรายนี้มาหาด้วยอาการปวดตึงคอ ปวดศีรษะ และกระบอกตา โดยมีอาการบ่อยมาก จากการตรวจร่างกายพบกล้ามเนื้อต้นคอตึงตัวมาก ซึ่งคาดเดาได้ว่าอาการปวดศีรษะและกระบอกตาน่าจะมีผลมาจากกล้ามเนื้อต้นคอที่ตึงไปรัดเส้นประสาทและหลอดเลือด แต่เหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงคออาจมาจากการทำงานหรือท่าทางการทำงาน

จากการซักประวัติพบข้อมูลที่น่าตกใจอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกือบทุกครั้งเมื่อเห็นโต๊ะทำงานของ ผู้ป่วยและเมื่อผู้ป่วยถูกถามว่า ถ้าพูดถึงงานโดยไม่เห็นโต๊ะทำงานจะมีอาการปวดไหม ผู้ป่วยตอบว่าก็มีอาการเช่นเดียวกัน

ผู้ป่วยรายนี้มีอาชีพซ่อมอุปกรณ์สื่อสาร ทุกวันจะมีลูกค้ามาคอยเร่งงาน ทำให้เกิดอาการเครียด มีอาการปวดศีรษะ และเมื่อนานวันเข้าแม้แต่เห็นโต๊ะหรือพูดคุยถึงเรื่องงาน ก็จะมีอาการปวดศีรษะขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการที่พัฒนาไปมาก

ผู้ป่วยลักษณะนี้หากไปพบแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือผู้ที่ทำการรักษา ผู้ป่วยอาจจะถูกมองว่ามีปัญหาทางจิต ทำให้ไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด

หากพิจารณาจริงๆ แล้วพบว่าความเครียดเป็นผลของจิตใจที่ตอบสนองต่อร่างกายหรือจิตใจ ต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่นผู้ป่วยที่ซ่อมอุปกรณ์ ในเบื้องต้นการซ่อมและการที่มีคนมาคอยเร่งมีผลต่อร่างกายที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผลต่อจิตใจที่คอยวิตกกังวลว่าจะทำงานให้เสร็จทันหรือไม่ ทำให้เกิดความเครียดขึ้น ซึ่งมีผลย้อนไปสู่การทำงานของร่างกายมากขึ้น จึงปวดเมื่อยมากขึ้น จิตใจจึงมีการเรียนรู้ว่าหากต้องทำงานก็จะปวดเมื่อย และเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ก็มีการเรียนรู้ต่อไปว่า เมื่อเห็นโต๊ะก็ต้องทำงาน ทำให้ทุกครั้งที่เห็นโต๊ะก็มีอาการทางกายเกิดขึ้น

ภาวะอารมณ์กับความเครียด

ความเครียดไม่ใช่ภาวะอารมณ์ แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากภาวะอารมณ์อีกทีหนึ่ง ภาวะอารมณ์ต่างๆ ที่เรามีอยู่สามารถเปลี่ยนเป็นความเครียดได้ทั้งนั้น เรามาลองดูภาวะอารมณ์ต่างๆ เป็นตัวอย่าง ว่ามีอะไรบ้าง

o ความโกรธ เช่น พ่อแม่โมโหลูก โกรธลูกที่ทำผิด คนที่เป็นพ่อแม่ก็อาจรู้สึกปวดเมื่อยได้เมื่อมีอาการโกรธมากๆl ความวิตกกังวล หากวิตกกังวลมากๆ ก็จะคิดวนไปวนมา เกิดความเครียดกล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้นเช่นกัน

o ความอยาก เมื่ออยากมากๆ ก็เกิดความเครียดที่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของของเรา

o ความผิดหวัง เสียใจ เช่นเวลาอกหักก็มักจะเศร้าสร้อย ร่างกายและกล้ามเนื้อจะเปลี้ยถดถอยลง

o ความกลัว เมื่อรู้สึกกลัว เช่น กลัวผี กลัวความมืด กลัวคนปองร้าย ก็จะส่งผลต่อความเครียด กล้ามเนื้อก็เกร็งตัว

จะเห็นได้ว่าภาวะที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลต่อความเครียดและการตอบสนองทางร่างกายได้ แต่การตอบสนองอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ภาวะอารมณ์ เช่น ความโกรธ ร่างกายจะตึง แน่น แต่ความผิดหวังร่างกายจะห่อเหี่ยว ซึ่งที่อธิบายมานี้ผู้เขียนสังเกตจากตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ได้อ้างอิงจากตำราใดๆ

นอกจากนี้ ยังมีภาวะอารมณ์อื่นๆ อีก เช่น ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ความหลง ความรู้สึกผิด ความหยิ่งทะนงตัว ความรู้สึกบังคับควบคุม ภาวะอารมณ์เหล่านี้ จะสังเกตได้ยากว่ามีผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งนี้ให้ลองพิจารณาและหมั่นสังเกตดูว่าภาวะอารมณ์ของเราเป็นอย่างไรและร่างกายของเราตอบสนองต่อภาวะอารมณ์นั้นอย่างไร เพราะทุกครั้งที่ร่างกายตอบสนองก็ถือว่ามีการทำงานของร่างกายเกิดขึ้น เช่นเมื่อวิตกกังวล 1 ครั้ง กล้ามเนื้อบ่าไหล่ก็จะตึงตัวขึ้น 1 ครั้ง
 
ดังนั้นหากวิตกกังวลบ่อยๆ หรือคิดวนไปวนมาตลอดเวลา ก็เท่ากับว่ากล้ามเนื้อบ่าและไหล่ของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาของกล้ามเนื้อบ่าได้ในลักษณะเดียวกับผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบ่าและไหล่ทั้งวันเช่นกัน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าหลายๆ คนที่มีอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแล้วมารับการรักษาหรือการปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ทั้งหมด เพราะตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหานั้นมีมากมาย เมื่อรักษาแล้วกลับไปเผชิญกับสิ่งที่กระตุ้นเดิมๆ ทำให้เจ็บป่วยกลับมาอีก และหากว่าตัวกระตุ้นนั้นเป็นความเครียดที่เกิดจากภาวะทางอารมณ์ ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้อื่นรักษาให้

การขจัดความเครียด

หลายๆ คนอาจได้ยินผู้ที่รักษาว่า โรคนี้เกิดจากความเครียด เพราะฉะนั้นอย่าเครียด คำพูดว่าอย่าเครียดเป็นคำพูดที่ง่าย แต่ทำยาก
ผู้เขียนเองไม่มีความเชี่ยวชาญทางนี้เช่นกัน ไม่สามารถให้วิธีการที่ดีได้ หากต้องการวิธีที่ดีที่ถูกต้องคงต้องปรึกษาจิตแพทย์ หรือพระที่สอนทางสมาธิวิปัสสนา แต่วิธีที่ผู้เขียนใช้อยู่และอาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยคือ ตัดสิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้มากที่สุด ทั้งภาระงานที่หนักเกินไป และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำจิตใจให้แจ่มใสและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตลอดจนหมั่นสังเกตภาวะอารมณ์ของตนเอง เช่น เมื่อรู้ว่ามีอารมณ์โกรธ ก็ระงับด้วยการดูภาวะอารมณ์นั้นเฉยๆ ถอยออกมาเป็นผู้ดูภาวะอารมณ์ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่กับอารมณ์ ดังเช่นคนที่โกรธแล้ว ให้ระงับด้วยการนับ 1 ถึง 10เพราะเราอาจนับ 1 ถึง 10 โดยที่ยังกัดฟันโกรธอยู่ ยิ่งนับก็ยิ่งโกรธ แต่ถ้าถอยออกมาเป็นผู้ดู ก็จะมีความรู้สึกอีกแบบคือ อ้อ นี่หรือคือตัวโกรธ มันพุ่งพล่านอย่างนี้เอง เมื่อเรารู้จักอารมณ์ เราก็จะสามารถระงับมันได้ ด้วยการรู้เท่าทันอารมณ์ ดูอารมณ์นั้นเฉยๆ อย่างสบายๆ

หากผู้ใดรู้สึกว่ายังยากอยู่ ให้ใช้วิธีนี้คือ ลองสังเกตกล้ามเนื้อบ่าและไหล่ของเราดู ถ้าเมื่อไรกล้ามเนื้อบ่าและไหล่ยกแสดงว่าเราเครียดอยู่ก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อลง ให้สังเกตบ่อยๆ และระงับการยกไหล่นั้นบ่อยๆ ก็อาจจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ข้อมูลสื่อ

335-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา