• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อกับการบาดเจ็บจากการทำงาน

ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อกับการบาดเจ็บจากการทำงาน



คนกับงานฉบับนี้ ดูแล้วค่อนข้างหนักไปสักนิดหนึ่ง แต่ขอบอกเลยว่าไม่หนักอย่างที่คิด เพราะจะพยายามทำการเปรียบเทียบให้เข้าใจการเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานในลักษณะที่เข้าใจได้ง่าย
 
ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

หลายคนอาจมีความเข้าใจว่าการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในระบบนี้คือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและกระดูก แต่ความเป็นจริงแล้วการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากระบบอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง ระบบประสาท ระบบย่อยอาหารและขับถ่าย และระบบฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นจะขออุปมา อุปไมย ดังนี้

o หากจะสร้างแขนหุ่นยนต์ที่ขยับเขยื้อนได้ เราต้องมีเหล็ก 2 ท่อน มาประกอบชนกันเป็นข้อต่อ โดยมีลวดหรือสลิงเป็นตัวยึด เปรียบเหมือนกับเรามีกระดูกแขน 2 ท่อน ท่อนล่างและบน มาต่อเป็นข้อศอก โดยมีเอ็นยึดให้ข้อศอกแข็งแรง

o ถ้าเราต้องการให้เหล็ก 2 ท่อนนี้ขยับได้เราก็ต้องใส่กลไกการขยับเข้าไปนั้นคือมีมอเตอร์หรือเครื่องยนต์ ต่อกับแกนไฮโดรลิก ซึ่งก็เหมือนกับคนเรามีกล้ามเนื้อและเอ็นที่ขยับให้แขนงอได้

o การมีมอเตอร์ เครื่องยนต์หรือกล้ามเนื้อก็ยังไม่สามารถทำให้แขนขยับได้ เพราะยังขาดเชื้อเพลิง นั่นคือต้องใส่กระแสไฟ หรือน้ำมันเข้าไป ซึ่งถ้าเป็นร่างกายของคนเรา เชื้อเพลิงเหล่านั้นก็คือสารอาหารที่ส่งต่อมาตามระบบหลอดเลือด

o หากมีพร้อมดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว แขนนั้นก็ยังไม่สามารถขยับได้อยู่ดี เพราะยังไม่มีการสั่งการ การควบคุม นั่นคือต้องมีการเปิดเครื่อง หรือบังคับให้ทำงานไปในทิศทางที่ต้องการ คนเราก็ต้องมีระบบประสาทคอยสั่งการ ขณะเดียวกัน ระบบประสาทของคนเรายังทำหน้าที่เพิ่มขึ้นคือรับรู้เพื่อที่จะตอบสนองต่อตัวกระตุ้นได้ ซึ่งหุ่นยนต์อาจมีได้คือต้องมีระบบเซนเซอร์คอยตรวจจับการเคลื่อนไหว

o อย่างไรก็ตาม ระบบร่างกาย ของเรายังมีระบบอื่นๆ ที่ นอกเหนือจากหุ่นยนต์คือ ระบบย่อยอาหารและขับถ่าย และระบบฮอร์โมนต่างๆ เป็นตัวสร้างพลังงาน และทำให้การทำงานราบรื่น ซึ่งในเครื่องยนต์ เครื่องจักร อาจมีแค่ระบบขับถ่ายของเสีย เช่น ควันและน้ำเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าระบบของร่างกาย เหมือนกับระบบเครื่องจักรกล แต่มีความพิเศษกว่า หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันในตัวระบบที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้นั้น จะพบว่า เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ ทุกระบบต้องทำงานประสานกัน หากมีระบบใดระบบ หนึ่งทำงานบกพร่อง จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหว คือเคลื่อนไหวไม่ได้ ติดขัด หรือเคลื่อนได้ไม่เป็นไปตาม ที่ต้องการ เช่น เมื่อกระดูกหักหรือร้าว หรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ก็จะทำให้มีปัญหาต่อการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกันกับการขาดเลือดหรือสารอาหารไปยังบริเวณกล้ามเนื้อที่ทำการเคลื่อนไหว ก็ทำให้กล้ามเนื้อไม่มีพลังงานที่จะขยับเขยื้อนข้อต่อได้ หรือหากว่าเส้นประสาทบาดเจ็บ ก็จะส่งผลต่อการนำคำสั่ง เปรียบเสมือนคนเป็นอัมพาต ที่อยากให้แขนขาขยับแต่ไม่สามารถสั่งการให้ขยับได้

การทำงานกับการบาดเจ็บจากการทำงาน

การบาดเจ็บจากการทำงานสามารถเกิดได้ 2 วิธีหลักๆ คือเกิดจากอุบัติเหตุมีลักษณะเฉพาะคือ มีเหตุการณ์เกิดที่ชัดเจน มีกลไกการเกิดที่ชัดเจน เช่น สะดุดล้ม เครื่องจักรหนีบ ค้อนหล่นทับ การเกิดอุบัติเหตุนี้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บโดยตรงต่อกระดูก กล้ามเนื้อเอ็น หลอดเลือด หรือเส้นประสาทได้ นั่นคือ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในขณะที่วิธีที่ 2 เป็นการบาดเจ็บจากการทำงานในขณะที่ทำงานอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งนานๆ หรือทำงานในท่าหนึ่งๆ ซ้ำๆ กันตลอดเวลา ซึ่งการบาดเจ็บในลักษณะนี้ จะไม่สามารถบอกเวลาหรือกลไกการเกิดได้อย่างชัดเจน จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว
 
อาจมีคำถามว่าทำไมการทำงานซ้ำๆ กัน หรือทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ สามารถส่งผลต่อการบาดเจ็บได้ คำตอบคือ การทำงานในลักษณะดังกล่าว กล้ามเนื้อต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการบาดเจ็บของตัวกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นโดยตรง หรือจาก การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกเนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็ง ทำงานคงค้างอยู่ หรือแม้แต่เส้นประสาทถูกรั้งจากการทำงานของกล้ามเนื้อนั้นๆ ส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท และส่งผลย้อนกลับมาที่การทำงานของกล้ามเนื้อแย่ลงได้

อย่างไรก็ตาม ร่างกายคนเรามีระบบป้องกันภัย ที่พิเศษและแตกต่างจากเครื่องจักร นั่นคือ เมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ร่างกายจะแสดงอาการออกมาในรูปแบบของอาการเจ็บ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าขณะนี้ อวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้นๆ ต้องการการดูแลรักษาและการพักผ่อน
 
นอกจากนี้ ยังป้องกันตัวเองด้วยการให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเพื่อปกป้องอวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้นๆ ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บเพิ่มขึ้น การเกิดเหตุการณ์ นี้เป็นไปเพื่อการรักษาตนเอง และเมื่อร่างกายรักษาตนเองหายดีแล้ว อาการเจ็บและการเคลื่อนไหวที่บกพร่องไปก็จะกลับคืนสู่ปกติหรือใกล้เคียงปกติ แต่หากผู้ป่วยนั้น กลับไปทำงานตามเดิม โดยที่ลักษณะงานเป็นแบบเดิม อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เหมือนเดิม ก็อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วย ป่วยกลับมาด้วยลักษณะอาการแบบเดิม และหากเป็นเช่นนี้ซ้ำๆ กัน จะทำให้อวัยวะหรือเนื้อเยื่อเหล่านั้นอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเท่าปกติ และหายยากกว่าเดิม

สมรรถภาพของร่างกายกับการบาดเจ็บจากการทำงาน

ร่างกายเราทุกคนมีจุดหรือช่วงเวลาที่มีสมรรถภาพสูงสุดในวัยหนุ่มสาว และถดถอยลงเรื่อยๆ ตามอายุ หากระดับสมรรถภาพนี้ถดถอยจนไม่สามารถรองรับระดับความหนักของงานหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ตลอดเวลาได้ ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ดังเห็นได้จากผู้ป่วยทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ที่พบบ่อยจะมีอายุในช่วง 40 ปี ขึ้นไปซึ่งเป็นช่วงอายุที่ร่างกายถดถอย และเป็นช่วงที่ระดับของงานอาจหนักขึ้นเนื่องจากภาระงานต่างๆมากขึ้นดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ระดับสมรรถนะภาพของรางกายสูงกว่าระดับความหนักของงานที่ทำอยู่ และทำการป้องกันการเกิดโรคด้วยการปรับสภาพงานให้เหมาะสมซึ่งเปรียบเสมือนว่าเป็นการลดภาระการทำงานลง

ข้อมูลสื่อ

333-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา