• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การควบคุมของระบบประสาทในอาสนะ (ต่อ)

การควบคุมของระบบประสาทในอาสนะ (ต่อ)



เป็นที่ทราบกันดีว่า บรรยากาศการทำงานในยุคเครื่องจักรไม่ช่วยส่งเสริมความสมดุลของกล้ามเนื้อเลย การต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะบนโต๊ะทำงานหรือกับเครื่องจักร ในพื้นที่แคบๆในห้องที่แออัดไม่อาจทำให้ภาวะของกล้ามเนื้อเราอยู่อย่างเป็นปกติได้ ความบีบรัดทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม การเมืองที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน ก็มีผลต่อความไม่สมดุลอย่างมาก จริงอยู่การออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เดินเร็ว เล่นกีฬา สันทนาการ ช่วยลดความเสื่อมของภาวะกล้ามเนื้อได้ แต่กิจกรรมเหล่านี้ ก็มิได้เป็นไปเพื่อฟื้นฟูภาวะกล้ามเนื้อโดยตรง มิได้เป็นไปเพื่อการดูแลภาวะกล้ามเนื้ออย่างเป็นระบบ การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อได้เหยียดยืด ได้หดตัวก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อภาวะกล้ามเนื้อที่เรากำลังพูดถึง

เป็นที่รู้กันว่ามีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวแขนขาของเรามากมาย แต่กิจกรรมเหล่านี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริเวณกลางลำตัวของเรา (ช่องทรวงอกและช่องท้อง) กิจกรรมเหล่านั้นเน้นที่กลุ่มกล้ามเนื้อใหญ่ ไม่ได้ดูแลกลุ่ม กล้ามเนื้อเล็กๆ ตามแนวกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อเล็กๆ อื่นๆ มากมายในช่องลำตัว โดยเฉพาะสำหรับคนที่อายุมาก สุขภาพขึ้นกับภาวะของกล้ามเนื้อเล็กๆ กลุ่มนี้บริเวณกระดูกสันหลังมากกว่ากล้ามเนื้อตามแขนขา เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ก็จะตระหนักถึงความสำคัญของอาสนะได้ง่ายขึ้น กระดูกสันหลังเปรียบเหมือน โซ่หลายๆ ข้อที่ร้อยต่อกัน โดยมีกล้ามเนื้อบริเวณนั้นคอยยึดโยง กล้ามเนื้อเหล่านี้จะเหยียด หดหรือบิดตัว อย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อที่ผนังหน้าท้อง ฯลฯ

กล่าวได้ว่าอาสนะเน้นที่ภาวะปกติของกล้ามเนื้อในช่องลำตัวมากกว่ากล้ามเนื้อตามแขนขา แต่อาสนะก็ดูแลกล้ามเนื้อแขนขาด้วย ท่าอาสนะทำให้กล้ามเนื้อแขนขาต้องออกแรงรับน้ำหนัก และต้องรักษาสมดุลกับแรงดึงดูดของโลก ซึ่งก็ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาสนะจึงไม่ใช่เพียงการทำให้ภาวะของกล้ามเนื้อลึกชั้นในเป็นไปด้วยดี แต่เป็นการดูแลทั้งหมดโดยรวม ผลของอาสนะต่อกล้ามเนื้อแขนขาอาจจะน้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่พัฒนาให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นใหญ่โตแข็งแรง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า การมีกล้ามเนื้อแขนขาใหญ่เป็นมัดๆไม่ใช่หลักประกันของสุขภาพหรือความทนทาน ในยุคของเทคโนโลยีนี้ ประโยชน์จากการมีกล้ามเนื้อแขนขาที่ใหญ่นั้นน้อยมาก ที่แย่กว่านั้นคือ การพัฒนากล้ามเนื้อจนใหญ่โต กลับจะเป็นเหมือนพยาธิที่คอยดูดเอาพลังงานต่างๆ ภายใน ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ใหญ่เกินเหล่านี้ ผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า คำวิพากษ์นี้เป็นไปโดยเจตนาที่จะสร้างสรรค์ และผู้เขียนเขียนด้วยใจที่เปิดกว้าง

ก่อนจะจบในหัวข้ออาสนะ ยังมีอีกประเด็นที่จำเป็นต้องพิจารณา คนบางคนฝึกอาสนะด้วยทัศนคติที่จะเอาชนะ ขณะที่ในทางตรงข้ามบางคนฝึกอาสนะโดยไม่ใส่ใจที่จะศึกษา ไม่คำนึงถึงข้อจำกัดของกล้ามเนื้อตน พยายามที่จะเลียนแบบท่าตามครู ตามรูป โดยเหยียดยืด ตัวเองมากเกิน หรือกระทั่งให้คนอื่นมาช่วยกด มาช่วยดึงเพื่อหวังจะเหยียดได้มากๆ ได้เร็วๆ การทำเช่นนี้ ไม่เพียงไม่เกิดประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงมากอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น การฝึกอาสนะแบบการออกกำลังกาย ด้วยการกด การดึงจนเกินเหตุ มีแต่จะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาด ทำให้เราบาดเจ็บหรือถึงขั้นพิการ อาสนะควรทำด้วยความพินิจพิจารณา ไตร่ตรอง คำนึงถึงสภาวะของร่างกายตนเอง ไม่ใช่ด้วยการแข่งขันหรือเลียนแบบใดๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเหยียดไปได้แค่ไหนแล้ว แต่ขึ้นกับว่า เราได้จัดปรับภาวะของกล้ามเนื้อให้สมดุล การเหยียดแม้เพียงระยะทางน้อย ก็ช่วยปรับสมดุลให้กับผู้ที่มีปัญหาภาวะกล้ามเนื้อตึงเกินได้ ขณะที่สำหรับคนที่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเกิน แม้จะเหยียดจนเต็มที่แล้ว ก็อาจไม่ได้ช่วยปรับสมดุลของภาวะกล้ามเนื้อที่น้อยเกินปกติอยู่แต่อย่างใด แต่ทั้ง ๒ กรณี ผู้ฝึกก็จะได้ประโยชน์จากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ท่าที่ปรากฏอยู่ในตำรา อยู่ในโปสเตอร์ เป็นเพียง "ท่าในอุดมคติ " ซึ่งเราค่อยๆ ฝึกไป จนกระทั่งวันหนึ่ง มันก็คงจะได้เอง การเหยียดยืดขณะฝึกท่าของแต่ละบุคคล ควรจะไปจนถึงจุดที่ "ตึงพอดี " ซึ่งคนที่ทำเท่านั้น ที่จะรู้ได้

แทนที่จะอวดอ้างถึงผลอันเฉพาะเจาะจงของอาสนะท่านั้นท่านี้ เราควรตระหนักว่า สำหรับโยคะแล้ว ไม่มีโรคใดสามารถรักษาได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยท่าอาสนะ ท่าเดียว การที่เราได้รับประโยชน์จากโยคะนั้น มาจากการองค์ประกอบของการดูแลตนเองโดยรวม โยคะไม่ได้ มองโรคว่าเป็นอาการเฉพาะจุด แต่โยคะมองว่าโรคคือวิกฤติที่เกิดขึ้นกับระบบของร่างกายโดยรวม



อาสนะเหมาะจะปฏิบัติสำหรับคนวัยหนุ่มสาวขึ้นไป แม้ท่าอาสนะที่เป็นการพัฒนาการทรงตัวบางท่าจะมีประโยชน์กับเด็ก แต่การเหยียดยืด การก้มตัวต่างๆ ของอาสนะ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเด็กเท่าใดนัก ส่วนในกรณีของมุทรานั้นไม่เหมาะสำหรับเด็กโดยสิ้นเชิง

ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ ได้ให้ตัวอย่างท่าอาสนะเพื่อให้ผู้อ่านนำไปฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ควรตระหนักว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราควรฝึกอาสนะด้วยความผ่อนคลายอย่างยิ่ง ดังที่ได้อธิบายมาทั้งหมดแล้วเราควรทำท่าไปด้วยความพินิจพิเคราะห์ มากกว่าการพยายามเลียนแบบทำท่าให้เหมือนแบบเป๊ะให้ได้ ไม่ควรใช้ความรุนแรงใดๆ ให้ทุกๆ การเคลื่อนไหว เป็นไปด้วยความผ่อนคลายและเบิกบาน และในตำแหน่งสุดท้ายของท่า อยู่นิ่งๆ สักครู่ ด้วยความผ่อนคลาย ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาที่เรา อยู่ในตำแหน่งสุดท้ายของท่าจะค่อยๆ นานขึ้นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้เราได้ประโยชน์จากท่าอาสนะมากขึ้นๆ

ข้อมูลสื่อ

334-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 334
กุมภาพันธ์ 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์