เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ใช้ยาอย่างไร
คำถาม : หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา...ควรทำอย่างไรดี?
น้ำนมแม่...ดีที่สุดน้ำนมแม่เป็นอาหารที่วิเศษสุดที่คุณแม่มอบแด่ลูกน้อยของตน
น้ำนมจากอกแม่นี้เป็นผลผลิตจาก ความรักและความทะนุถนอมที่กลั่นมาจากดวงใจของความเป็นแม่ เพื่อสร้างน้ำนมเลี้ยงดูลูกตัวน้อยๆ เป็นน้ำนมที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคร้าย แถมอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารนานาชนิดที่เพียบพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตของมนุษย์ มีภูมิต้านทานโรคจากแม่ จึงมีผลให้เกิดสุขภาพที่ดีแก่ลูกน้อย ช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรง และมีโอกาสติดเชื้อโรคต่ำกว่าการใช้นมผง และไม่มีการแพ้นมเหมือนการเลี้ยงลูกด้วยนมวัวอีกด้วย
การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นน้ำนมที่ " สะอาด บริสุทธิ์ และสมบูรณ์" จึงช่วยให้คุณแม่ประหยัด สะดวก และรวดเร็วทันใจ เพราะไม่จำเป็นต้องเสียเงินในการซื้อหามา ไม่ต้องเตรียมขวดนมหลายๆ ใบ หลายๆ ขนาด และไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมหรือชงนม เมื่อใดที่ลูกต้องการหรือหิวนม แม่ก็สามารถตอบสนองความต้องการด้วยการป้อนนมให้กับลูกได้ทันที
นอกจากนี้ ขณะที่ลูกดูดนมจากเต้านมของแม่นี้ จะมีผลกระตุ้นพัฒนาการของฟันและขากรรไกรของลูกที่ดีกว่าการดูดนมขวด อีกทั้งลูกยังสามารถควบคุมการไหลของนมด้วยการหยุดดูดนมแม่ได้ทันทีเมื่อต้องการ
น้ำนม...สายสัมพันธ์แม่-ลูก
การที่ลูกดูดน้ำนมแม่ยังส่งผลด้านจิตใจ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างแม่กับลูกรักของตน เกิดการสัมผัสอย่างทะนุถนอมลูกรักไว้ในอ้อมอกอันอบอุ่น เกิดสายสัมพันธ์อันแนบแน่น และปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาเกิดประโยชน์กับแม่อีกทอดหนึ่งด้วย
การที่ลูกดูดน้ำนมแม่จะช่วยกระชับมดลูกของคุณแม่ (มดลูกเคยขยายตัวขณะตั้งครรภ์) ให้มีขนาดเล็ก ลงมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น หรือที่คนโบราณว่า "มดลูกเข้าอู่เร็ว " ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูดนมของลูกจากเต้านมของแม่ ทั้งยังช่วยลดน้ำหนัก ทำให้คุณแม่มีหุ่นดีขึ้น และเป็น การคุมกำเนิดตามธรรมชาติที่ดีอีกด้วย
ยากับน้ำนมของแม่
เมื่อใดก็ตามที่แม่ใช้ยา ยาเกือบทุกชนิดที่แม่ใช้มักจะปะปนมากับน้ำนมของแม่ที่ใช้เลี้ยงลูกทุกครั้ง โดยยาที่แม่รับเข้าไปในร่างกาย จะเดินทางผ่านหลอดเลือดในตัวแม่ และกระจายไปทั่วร่างกาย เพื่อออกฤทธิ์ให้ผล การรักษากับคุณแม่ ซึ่งบางส่วนจะขับออกมาที่น้ำนมด้วย ถ้าลูกรักดูดน้ำนมจากแม่ก็จะได้รับยาที่อยู่ในน้ำนม นี้ด้วย แต่มีปริมาณที่เจือจาง และส่วนใหญ่ปลอดภัยสำหรับลูกรัก ยกเว้นยาบางชนิดที่มีอันตรายและห้ามใช้ในหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ยาที่แม่ใช้ขนาดปกติเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของ ตน จะหลงเหลือปะปนอยู่ในน้ำนมปริมาณที่น้อย จึงค่อนข้างปลอดภัยสำหรับลูกที่ดูดนมแม่ ทั้งนี้เพราะยาที่มีอยู่ในน้ำนมของแม่มีปริมาณค่อนข้างเจือจางแล้ว และเมื่อลูกดูดน้ำนม (ที่มีปริมาณยาที่เจือจางนี้) เข้า ไปในทางเดินอาหารก็จะผ่านกระบวนการดูดซึมของ ลูกน้อยเข้าหลอดเลือดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะกระจายไปทั่วร่างกายของลูก ทำให้ปริมาณยาจากน้ำนมของแม่ถูกเจือจางให้มีความเข้มข้นลดน้อยลงอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งถ้ายาบางชนิดเป็นยาที่ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร หรือไม่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร หรือถูกทำลาย โดยตับ ก็จะยิ่งทำให้ความเข้มข้นของยาในหลอดเลือดของลูกที่ดื่มน้ำนมแม่มีความเจือจางยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งไม่มีผลต่อลูก
การที่ยาจะส่งผลต่อลูกที่ถูกเลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ ชนิดของยา ลูก และการปฏิบัติของแม่
ชนิดของยา
คุณสมบัติเฉพาะของยาแต่ละชนิดส่งผลถึงลูกที่ดื่มน้ำนมแม่
ถ้ายาชนิดใดที่ซึมผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ปริมาณมากๆ ก็จะส่งผลเสียต่อเด็กได้ ตัวอย่างคุณสมบัติของยาที่ซึมเข้าสู่น้ำนมได้ดี เช่น การละลายในไขมันของยา น้ำหนัก โมเลกุลของยา ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ การจับตัวของยากับโปรตีนในเลือด เป็นต้น พบว่ายาที่มีคุณสมบัติละลายในไขมันได้ดี มีขนาดของน้ำหนักโมเลกุลน้อยๆ มีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ นานๆ และมีการจับตัวของยากับโปรตีนในเลือดที่ต่ำ จะทำให้ยาชนิดนั้นซึมผ่านเข้าไปอยู่ในน้ำนมแม่ได้ในปริมาณ มากขึ้น และอาจส่งผลเสียต่อลูกได้มากขึ้นเช่นกัน
ลูก
ปริมาณน้ำนมที่ลูกดูดจากแม่ การแพ้ยาของลูก และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของลูก เช่น ถ้าลูกดูดน้ำนมแม่ปริมาณมากก็จะได้รับยาเพิ่มขึ้นด้วย หรือถ้าลูกแพ้ยาที่แม่กินและยานั้นปะปนในน้ำนมก็อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ได้โดยที่ทารกไม่ได้กินยาชนิดนี้ แต่ได้ยานี้ผ่านทางน้ำนมของคุณแม่ เป็นต้น
การปฏิบัติตัวของแม่
การปฏิบัติตัวของแม่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวกลางคอยเชื่อมโยงระหว่างยาและถ่ายทอดสู่ลูกทางน้ำนมแม่
ดังนั้นขณะที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ถ้าไม่จำเป็นคุณแม่ก็ไม่ควรใช้ยา เพราะยาอาจส่งผลผ่านทางน้ำนม ที่ลูกดูดได้ "แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง " ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูก
กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ ก็มีคำแนะนำ เบื้องต้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายของยาแก่ลูกน้อยให้ลดน้อยลงที่สุด ดังนี้
o แม่ที่ให้นมลูกควรเลือกใช้ยาเท่าที่จำเป็น
o ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
o ควรเลือกใช้ยาเฉพาะที่ หรือยาใช้ภายนอกแทน การใช้ยากินหรือยาฉีด
o ควรเลือกยาที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น
o ควรใช้ยาทันทีหลังจากที่ให้นมบุตร
o ควรเลือกใช้ยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าปลอดภัยสำหรับแม่และลูกรัก
ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะช่วยลดระดับปริมาณยาที่ ลูกรับจากน้ำนมแม่ และลดระดับความเสี่ยงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกรัก
ยาที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง
ชนิดของยาที่ปลอดภัยในหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ตนเอง ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้านที่มีติดไว้ทุกครัวเรือน อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น
ยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ตัวร้อน ได้แก่ พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน โคเดอีน
ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) ได้แก่ เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอรินและอีริโทรมัยซิน
ยาต้านฮิสตามีน (ยาแก้แพ้) ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน
ยาแก้คัดจมูก ได้แก่ สูโดเอฟีดรินยา
ลดกรด อินซูลิน กาเฟอีน คอร์ติโคสเตียรอยด์ ทีโอฟิลลีน เป็นต้น
ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัยกับหญิงที่ให้นมบุตร แต่ก็ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และไม่จำเป็น ควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ยาที่ลูกและแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองควรหลีกเลี่ยง
ยาที่แม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีอันตรายต่อเด็กที่ดูดนมแม่ได้ เช่น ยาต้านมะเร็ง คลอแรมเฟนิคอล แอสไพริน ยาที่ประกอบด้วยสารกัมมันตภาพรังสี ไอโอดีน ไดไพโรน เป็นต้น ยาประเภทนี้เป็นกลุ่มที่มีรายงานยืนยันแล้วว่า เป็นอันตราย ต่อลูกรักที่ดื่มน้ำนมจากแม่ที่ใช้ยานี้ ซึ่งกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรหยุดให้นมลูกชั่วคราว และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- อ่าน 13,781 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้