• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปตรวจโรคผิวหนัง...ต้องทำอย่างไร?(ตอนที่ 2)

ไปตรวจโรคผิวหนัง...ต้องทำอย่างไร?(ตอนที่ 2)


การตรวจผิวหนัง

การวินิจฉัยโรคผิวหนังนั้น ต้องอาศัยการซักประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกายที่ถี่ถ้วน การสังเกตที่แม่นยำ และในบางครั้งก็ต้องการอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย
 
ผื่นของโรคผิวหนังบางอย่างจะมีการกระจายของรอยโรคตามร่างกายที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วตัวด้วยแสงสว่าง ที่เพียงพอ และสังเกตดูการกระจายและรูปร่างของรอยโรค
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหามะเร็งผิวหนังที่ใบหน้าเพียงจุดเดียว อาจมีมะเร็งที่ผิวหนังด้านหลังอีกแห่งก็ได้ แพทย์จะตรวจดูเส้นผม หนังศีรษะ เล็บและเยื่อบุร่วมด้วย เพราะโรคผิวหนังหลายอย่างจะมีรอยโรคที่ตำแหน่งเหล่านี้ได้

การตรวจผิวหนังทั่วไป

การกระจายของรอยโรค
โรคผิวหนังบางชนิดมีลักษณะการกระจายของรอยโรคที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้
o รอยโรคตรงข้อพับ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา เป็นลักษณะของโรคผิวหนังภูมิแพ้
o รอยโรคตรงข้ามข้อพับ เช่น ข้อศอก หัวเข่า เป็นลักษณะเฉพาะของโรคสะเก็ดเงิน
o รอยโรคที่หนังศีรษะ คิ้ว ข้างจมูก กลางหน้าอก (ผู้ชาย) ภาพที่ 1เป็นลักษณะของโรคเซ็บเดิม (seborrheic dermatitis)


ลักษณะโครงสร้างของรอยโรค

รอยโรคผิวหนังหลายชนิดมีลักษณะโครงสร้างเฉพาะ แพทย์ผิวหนังจะมีศัพท์เฉพาะที่ใช้บรรยายรอยโรค

เส้นผม

มีความผิดปกติของเส้นผมและการเจริญเติบโตของเส้นผมหลายอย่างที่บางอย่างอาจเกิดขึ้นเอง แต่บางอย่างอาจสัมพันธ์กับโรคภายในร่างกายอย่างอื่นหรือโรคภูมิแพ้ตนเอง

ผมร่วง

ผมร่วงจะมีหลายรูปแบบและมีหลายสาเหตุ
ผมร่วงเฉพาะตำแหน่ง
o ผมร่วงเป็นหย่อม (ภาพที่ 2) เชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์ กับระบบภูมิต้านทาน เพราะพบว่าสัมพันธ์กับการเป็นโรคต่อมไทรอยด์ เบาหวาน และด่างขาวได้ บางรายอาจ เกิดหลังจากตกใจ เครียด รอยโรคจะเกิดบนหนังศีรษะที่ปกติ ไม่อักเสบ อาจตรวจพบลักษณะเส้นผมคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ ตามขอบรอยโรคได้
o โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ พบลักษณะหนังศีรษะอักเสบและมีตุ่มหนอง
o ผมร่วงจากแรงดึง มักเกิดจากการตกแต่งทรงผม เช่น เกล้าผม ถักเปีย
oผมร่วงจากการดึงเล่น ผู้ป่วยจะมีนิสัยชอบดึงผมตนเองเล่น
o โรคเอสแอลอี ทำให้เกิดผมร่วงชนิดมีแผลเป็นได้

ผมร่วงกระจายทั่วไป
oผมร่วงแบบผู้ชาย อาจมีประวัติครอบครัว มักเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจพบในผู้หญิง บางรายได้เช่นกัน มักพบรอยโรคที่กลางกระหม่อม
o โรค telogen effluvium เกิดเพราะเส้นผมเข้าสู่ระยะพักพร้อมกัน ตัวอย่างที่พบบ่อยคือผมร่วงหลัง คลอดบุตร หรือจะมีผมร่วงหลังมีไข้สูง (ที่เรียกว่าจับไข้หัวโกร๋น) ซึ่งจะมีผมร่วงตามมาหลังจากนั้นหลายเดือน
o สาเหตุจากระบบต่อมไร้ท่อทำให้ผมร่วงกระจาย ทั่วไปได้
o การขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะทุโภชนาการทำให้ ผมร่วงได้
o ยาคุมกำเนิดชนิดกิน และยารักษามะเร็งบางตัว ทำให้ผมร่วงได้

ภาวะขนดกในเพศหญิง (Hirsutism)

นั่นคือ ภาวะที่เพศหญิงมีขนดกขึ้นมากตามตำแหน่งที่พบในเพศชาย สาเหตุของภาวะนี้รวมถึงความผิดปกติของรังไข่ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง และผลจากยา
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ ก็อาจทำให้ผู้หญิงบางคนมีขนดกกว่าปกติได้

ความผิดปกติของเส้นผมที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

ให้การวินิจฉัยได้โดยการถอนเส้นผมมาส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศ์อิเล็กตรอน ไม่มีการรักษาโรคเหล่านี้ ตัวอย่างได้แก่ เส้นผมมีลักษณะเป็นลูกปัด ทำให้ผมหักง่าย เส้นผมจะบาง หมุนเป็นเกลียว เปราะ เส้นจะมีปุ่มเกิดขึ้นและทำให้หักง่าย

ภาวะขนดก (Hypertrichosis)

มีขนดกขึ้นทั่วร่างกาย สาเหตุคือ สาเหตุจากยา minoxidil diazoxide Porphyria cutanea tarda และภาวะ ขนทารกในครรภ์ (lanugo hair) ไม่หลุดลอกก่อนเกิด
 
เล็บ

ความผิดปกติของเล็บช่วยในการวินิจฉัยโรคผิวหนัง และโรคของระบบอื่นของร่างกายได้ เช่น การเปลี่ยน แปลงของเล็บในโรคสะเก็ดเงิน ภาพที่ 3 (ตารางที่ 1)

 

ข้อมูลสื่อ

336-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 336
เมษายน 2550
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร