• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเข้าพักที่ไหนควรเช็คอะไรบ้าง และวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดังที่สร้างแรงกระเพื่อมการตระหนักรู้ให้กับสังคมสำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงแรมหรูระดับ 6 ดาว ที่อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งสร้างความเสียหายไม่ใช่แค่ทรัพย์สินแต่ยังส่งผลถึงสภาพจิตใจและอาการบาดเจ็บที่เกิดกับร่างกายของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ด้วย
 
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดสังเกตที่ต้องเช็คเพื่อความปลอดภัยก่อนเข้าที่พักเพื่อที่เราจะได้มั่นใจว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเราจะสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้งตัวเรา และครอบครัว ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องดับเพลิง และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่น่าสนใจ ดังนี้
  
ข้อ 12 อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรมตาม ข้อ 10  ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 
(1) อาคารที่มีลักษณะเป็นห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝด ที่มีความสูงไม่เกินสองชั้น ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่เหมาะสมกับสภาพของอาคารและวัสดุภายใน จำนวนคูหาละ 1 เครื่อง 
(2) อาคารอื่นนอกจากอาคารตาม (1) ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือในแต่ละชั้นจำนวน 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง 
(3) การติดตั้งเครื่องดับเพลิง ต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.50 เมตร และต้องติดตั้งไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นและอ่านคำแนะนำการใช้ได้โดยสะดวก 
(4) เครื่องดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลาและสามารถนำมาใช้งานได้โดยสะดวก
 
ข้อ 13 อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรมตามข้อ 10 ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 
(1) อาคารที่มีลักษณะเป็นห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝดที่มีความสูงไม่เกินสองชั้น ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ติดตั้งอยู่ในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกคูหา 
(2) อาคารตาม (1) ที่มีความสูงเกินสองชั้น ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ติดตั้งอยู่ภายในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกชั้นและทุกคูหา 
(3) อาคารอื่นนอกจากอาคารตาม (1) และ (2) ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น 
 
เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดนี้ สิ่งที่เราต้องสังเกตเมื่อเข้าพักที่ไหนก็ตาม คือ “อาคาร” ที่เราเข้าไปพักนั้นมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และเครื่องดับเพลิง อยู่ด้วยหรือไม่ บันไดหนีไฟ ทางออกหนีไฟ อยู่ตรงไหน ควรจดจำไว้ให้ขึ้นใจ ตามแบบแปลนอาคารที่ติดไว้แต่ละชั้น เพราะถ้าเกิดเหตุขึ้นมาแล้วมีกลุ่มควันไฟปกคลุม จนไม่สามารถมองเห็นทางได้ ต้องมั่นใจว่าสามารถหมอบคลานต่ำเพื่อพาตัวเอง และคนอื่นไปยังทางออกได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
 
แต่ขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” ถึงเราจะเฝ้าระวัง หรือป้องกันตัวเองดีแค่ไหน ก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับเรา และคนใกล้ตัว การรู้จักวิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์จริง สามารถช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์นั้นได้ดียิ่งขึ้น โดยวิธีเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ สามารถทำได้ ดังนี้
 
1.ตั้งสติอย่าตื่นตระหนก ให้ดูทางออกฉุกเฉิน หรือบันไดหนีไฟ
2.รีบออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด หาอุปกรณ์ส่องสว่าง เพื่อเดินทางในความมืด เช่น ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ
3.หาผ้าชุบน้ำมาปิดปาก ปิดจมูก เผื่อป้องกันภาวะสูดสำลักควันไฟ ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
4.ทดสอบความร้อนของลูกบิดประตู เพราะลูกบิดที่ร้อน จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ด้านนอกมีเปลวเพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ จนส่งความร้อนผ่านมาถึงลูกบิดประตูฝั่งของเราได้ ให้หลีกเลี่ยงประตูทางออกนั้น
5.ห้ามใช้ลิฟต์ขณะเกิดเพลงไหม้ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สะพานไฟของระบบไฟฟ้าในอาคารจะตัดอัตโนมัติ ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ทำงาน หรือหากทำงานก็อาจจะเกิดเหตุขัดข้องระหว่างการใช้งานได้ ควรใช้บันไดหนีไฟจะดีที่สุด
6.ออกจากอาคารด้วยการเดินเร็ว หรือคลานต่ำ โดยวิธีสังเกต คือ หากไม่มีกลุ่มควันไฟหนาแน่น สามารถมองเห็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีเดินเร็วเพื่ออกจากอาคาร แต่หากไม่สามารถมองเห็นทางออก เพราะมีกลุ่มควันไฟหน้าแน่นต้องใช้วิธีคลานต่ำเพื่อไปยังทางออก
7.เมื่อติดอยู่ในห้อง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ใช้ผ้าชุบน้ำอุดขอบประตู และหน้าต่าง เพื่อลดปริมาณควันไฟที่จะเข้ามาในห้องให้มากที่สุด
8.เมื่อออกจากอาคารได้แล้ว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงจุดที่คนอื่นที่ติดอยู่ในอาคาร
 
ต่อมาคือวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ วิธีที่แนะนำ คือ
1.เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ไปยังที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดการสูดควันไฟ หากมีอาการไอ แสบคอ ต้องให้ออกซิเจน และเอาเขม่าควันออกจากปากและจมูก 
2.บาดแผลที่เกิดจากไฟ ให้หาผ้าสะอาดมาคลุม ลดอุณหภูมิ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดประมาณ 15 นาที และปิดแผลด้วยผ้าสะอาดอีกครั้ง และรีบส่งสถานพยาบาลโดยด่วน
 
สุดท้ายนี้สิ่งที่เราต้องร่วมมือกันทั้งผู้ประกอบกิจการ และลูกค้า ก็คือการเตรียมความพร้อม และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบกิจการ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ในหมวดที่ 2 ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องระบบป้องกันเพลิงไหม้ ที่กำหนดให้ทุกชั้นของอาคารต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงระบบอัตโนมัติ อาทิ ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System) อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ (Smoke Detector) อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector) เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ทำงานอย่างเป็นระบบและเกิดความร้อนถึงจุดที่กำหนด ระบบกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) ก็จะทำงานเพื่อระงับเหตุเบื้องต้น และช่วยให้ผู้ใช้บริการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ สามารถเอาตัวรอดออกมาจากอาคารได้อย่างปลอดภัย
ป้ายคำ:

ข้อมูลสื่อ

005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 005
มีนาคม 2565
ข่าว