• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ต้องเตรียมอะไรบ้าง? เพื่อให้ปลอดภัยจาก COVID-19

เดือนเมษายน เดือนแห่งการเดินทางกลับบ้านของประชาชนจำนวนมาก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงมีความรุนแรง และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐกำลังเดินหน้าผลักดันให้ COVID-19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” และหลายจังหวัดเริ่มปรับตัวกับการอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้นแล้ว แต่เราก็ยังต้องเฝ้าระวัง และป้องกันตนเอง เพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสนี้อยู่เสมอ
 
มูลนิธิหมอชาวบ้าน ในฐานะองค์กรด้านสุขภาพ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคน สามารถดูแลรักษาสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับช่วงวัย ขอเริ่มต้นเดือนเมษายนนี้ ด้วยบทความแนะนำการเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์อย่างปลอดภัย ที่จะทำให้การเดินทางไกลของคุณปลอดภัยทั้งต่อตัวเอง และคนในครอบครัวที่คุณรัก
 
1.เตรียมความพร้อมก่อน และระหว่างเดินทาง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการเดินทางข้ามจังหวัดจะผ่อนคลายมาตรการลงไปแล้ว และหลายจังหวัด ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูล หรือลงทะเบียนผ่าน Application แต่เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดก่อนเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ควรเตรียมความพร้อม แบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้
1.1 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ควรปฏิบัติตน ดังนี้ 
- เช็คข้อมูลของจังหวัดปลายทางที่จะเดินทางไป เตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น เอกสารยืนยันการเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์, ผลตรวจ ATK 24 ชม. หรือ 72 ชม. ตามที่จังหวัด หรือสถานที่ปลายทางกำหนด / ผลตรวจ RT-PCR  ที่ได้รับการรับรองจากโรงพยาบาล กรณี ที่เคยได้รับเชื้อ COVID-19 และพักรักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้ว ให้เตรียมใบรับรองแพทย์เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ 
- ระหว่างเดินทางให้ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันตัวเอง เช่น พกเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือก่อนและหลังแวะรับประทานอาหาร / เลี่ยงการเจอกับคนจำนวนมากด้วยการซื้ออาหารมานั่งรับประทานในรถยนต์ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน้ากากผ้ารวมกันเป็นสองชั้น เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเปิดกระจกรถยนต์เพื่อให้อากาศถ่ายเท
 
1.2 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
- ก่อนเดินทางมาสถานีขนส่ง 24 ชม. ควรตรวจตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อความปลอดภัย หากผลเป็นบวก ให้งดเดินทาง/กักตัวที่บ้าน และติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ากระบวนการรักษาตามสิทธิของตัวเองต่อไป แต่หากผลเป็นลบ 
- เมื่อเดินทางถึงสถานีขนส่งแล้ว ให้รักษาระยะห่างกับผู้อื่น 1 – 2 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่ / เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนและหลัง เมื่อต้องสัมผัสจุดสัมผัสร่วมบนรถโดยสารสาธารณะ, สวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าร่วมกันสองชั้น, เมื่อรถจอดแวะยังจุดพักรับประทานอาหารให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อน และหลังรับประทานอาหาร, หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำบนรถโดยสาร เพราะทุกครั้งที่ต้องเปิดหน้ากากอนามัย จะมีความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเพิ่มขึ้น, ลดการจับราวบันไดลง หรือใช้กระดาษทิชชู่แทนการสัมผัสด้วยมือ อย่าลืมทิ้งกระดาษทิชชู่ทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จแล้ว, ลดการสัมผัสโทรศัพท์มือถือ หากมีคนไอ หรือจาม ระหว่างเดินทางซึ่งเราไม่สามารถเลี่ยงไปทางอื่นได้ ควรออกห่าง หรือหันหน้าไปทางอื่น
 
1.3 กรณีเดินทางผ่านสายการบิน ควรปฏิบัติตน ดังนี้
สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป และได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนตามเกณฑ์แล้ว สามารถเลือกเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 3 แบบ คือ
      1.3.1 .Test and Go ไม่ต้องกักตัว
      1.3.2 Sandbox เป็นเวลา 5 วัน ณ พื้นที่ ที่รัฐกำหนดไว้ให้ ได้แก่ ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี และ เกาะกูด
      1.3.3 กักตัวในโรงแรม Alternative Quarantine (AQ)  เป็นเวลา 5 วัน 
      กรณีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ต้องกักตัวในโรงแรม เป็นเวลา 5 วัน ทั้งนี้ การเดินทางเข้าประเทศไทยทุกรูปแบบไม่จำเป็นต้องมีผลตรวจ RT-PCR ยกเว้น สายการบินต้นทาง/ระหว่างทาง เป็นผู้กำหนด
 
ลำดับต่อไป คือ วิธีป้องกันตัวเองจาก COVID-19 บนเครื่องบิน สิ่งที่ต้องรู้คือจุดเสี่ยงบนเครื่องบิน ที่อาจจะเกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือเกิดการแพร่กระจายของโรคได้ ดังนี้
- ห้องน้ำบนเครื่องบิน หนึ่งในพื้นที่ ที่เกิดการสะสมของเชิ้อโรคมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นการเดินทางระยะสั้น ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ แต่ถึงตัวเราไม่ได้ใช้ ก็อาจจำเป็นต้องพาคนในครอบครัวไปใช้บริการ เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ คำแนะนำ คือ ควรใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ที่เตรียมมาพ่นและเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนใช้งานทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาล้างมือ หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว
- ที่นั่งริมทางเดิน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงว่ามีความเสี่ยงอย่างไร แต่อย่าลืมว่าที่นั่งริมทางเดินนั้น มีโอกาสต้องเจอกับผู้โดยสารคนอื่น ทั้งก่อนขึ้นบิน และระหว่างทำการบินเช่นกัน ดังนั้น เมื่อต้องเลือกที่นั่ง หากทำได้ ควรเลี่ยงที่นั่งริมทางเดินไว้ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำให้สวม FaceShield อีกชั้นหนึ่ง และพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด
- เข็มขัดนิรภัย อีกหนึ่งจุดสัมผัสร่วมที่ต้องระวังการสัมผัส เมื่อต้องจับ หรือสัมผัสตามมาตรการความปลอดภัยทางอากาศยาน ควรล้างมือด้วยเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้ง
- ถาดอาหาร ถึงแม้ว่าการเดินทางในประเทศจะใช้เวลาไม่นาน และสายการบินอาจจะไม่ได้เสิร์จน้ำ หรืออาหาร ระหว่างการเดินทาง แต่หากเราหรือคนในครอบครัว สั่งอาหารหรือน้ำดื่ม มารับประทาน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมผัสกับถาดวางอาหารคำแนะนำ คือ ฉีดพ่นด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
 
ข้อที่ควรระวังเกี่ยวกับของใช้ที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นเครื่องบิน ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรียนแห่งประเทศไทย ดังนี้
- กรณีกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง : การพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ขึ้นเครื่องบิน บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุ  ไม่เกิน 350 มิลลิลิตร (12 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
- กรณีกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง : บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุไม่เกิน 500 มิลลิลิตร (17 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 2,000 มิลลิลิตร
 
2.ถึงที่หมายแล้วต้องทำอะไร? เที่ยวอย่างปลอดภัยต้องระวังอะไรบ้าง?
เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย หรือด่านตรวจ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด ตามที่จังหวัดได้ประกาศหลักเกณฑ์ไว้ หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ และเดินทางถึงบ้านแล้ว ควรเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุ และตรวจตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK อีกครั้ง ก่อนออกไปทำกิจกรรม หรือท่องเที่ยวตามสถานที่ ที่มีผู้คนหนาแน่น 
 
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้กำหนดกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ และกิจกรรมที่ควรงด ดังนี้
2.1 การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำ หรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้
2.2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม
2.3 ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่
2.4 ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรม
2.5 ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรมเกณฑ์ ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน
2.6 ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม
 
สำหรับกิจกรรมภายในครอบครัว ทางกรมอนามัย ได้ออกแนวปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การรับประทานอาหารร่วมกัน ว่าสามารถทำได้ แต่ให้จัดพื้นที่ระบายอากาศที่ดี โล่ง และไม่คับแคบ ผู้ร่วมกิจกรรมต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกันให้เวลาในการจัดกิจกรรมให้น้อยที่สุด หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม สำหรับกิจกรรมขนาดเล็กในชุมชน ผู้ร่วมไม่เกิน 200 คน ให้แจ้ง ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (คปก.ต.) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) รับทราบ เพื่อกำกับ ติดตามอย่างเหมาะสม การสรงน้ำพระ ให้นำอุปกรณ์ส่วนตัวไปเอง งดนำน้ำที่สรงแล้วไปใช้ต่อ การทำบุญ ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด ให้ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัส การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา การเล่นน้ำภายในบ้าน หรือครอบครัวเล่นได้ แต่การเล่นน้ำในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้เล่น เนื่องจากไม่มีการควบคุม และมีความสุ่มเสี่ยงต่อโรค COVID-19
 
3.เดินทางกลับแบบวิถีใหม่ อุ่นใจทั้งครอบครัว
- สำหรับการเดินทางกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ 2565 ก่อนเดินทางกลับ ควรตรวจตนเองด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงปลอดเชื้อ ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวก่อนเดินทางกลับบ้าน รักษาระยะห่าง 1 – 2 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเดินทางกลับบ้านด้วยความระมัดระวัง ป้องกันตนเองอยู่เสมอ
- เมื่อเดินทางถึงบ้านแล้ว ให้สังเกตอาการ หากมีอาการที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือได้รับทราบว่าตัวเองสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในช่วงที่เดินทางกลับบ้าน ควรตรวจตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK เป็นระยะๆ งดการเดินทางไปยังสำนักงาน หรืออาคารต่างๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดเชื้อ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรค COVID-19 และเป็นการจำกัดความเสี่ยงของผู้อื่นอีกด้วย
 
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ อุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางในสถานการณ์ COVID-19 มีดังนี้
1. เจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือ และฉีดพ่นบริเวณจุดสัมผัสที่มีการสะสมของเชื้อโรค
2. ชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยตนเอง เตรียมให้พอดีกับความต้องการ และจำนวนคนที่ร่วมเดินทาง
3. หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า ควรเตรียมไว้สำรองให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนใช้งานวันต่อวัน
4. ทิชชู่สำหรับใช้แล้วทิ้ง เมื่อต้องใช้หยิบจับ หรือสัมผัสจุดสัมผัสร่วมในที่สาธารณะ
5. ถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ โดยต้องติดป้ายกำกับว่าเป็นขยะติดเชื้อ เช่น ทิชชู่ที่ใช้แล้ว หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 06
เมษายน 2565
อื่น ๆ