หลังจากมีการประกาศผ่อนปรนเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เช่น กลางแจ้ง สถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ให้เป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน ตามนโยบายเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และกลับสู่การใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนกับที่หลายประเทศได้เริ่มไปก่อนหน้านี้แล้ว ปรากฏว่าสถานการณ์การติดเชื้อทั้งในกรุงเทพมหานครฯ และต่างจังหวัดมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่เริ่มกลับมาเรียนที่โรงเรียน แทนการเรียนออนไลน์จากที่บ้าน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจากนโยบายเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ข้อมูลจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบว่าปัจจุบัน สายพันธุ์ “โอมิครอน” ครอบคลุมทั่วประเทศ และมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าแบบ 100% แล้ว อ้างอิงจากการตรวจสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย พบว่า
- สายพันธุ์ B.1.1.1.529 จำนวน 2 ราย
- สายพันธุ์ BA.1 จำนวน 10 ราย คิดเป็น 1.1%
- สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 447 ราย คิดเป็น 47.3%
- สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 489 ราย คิดเป็น 51.7%
ซึ่งสาเหตุที่สายพันธุ์ย่อยทั้ง BA.4 / BA.5 สามารถเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าได้ เพราะสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 67-70del , L452R และ F486V ทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้ว่าจะเคยติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็สามารถติดเชื้อสายพันธุ๋นี้ได้
และหากดูจากสถิติผู้ป่วยอาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจ ย้อนหลัง 7 วัน ตั้งแต่ วันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2565 ก็พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของ กรุงเทพมหานครฯ ที่ระบุว่า กลุ่ม 608 ที่ติดเชื้อมีอัตราการครองเตียงผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มเด็กนักเรียนระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 4 กรกฎาคม 2565 พบติดเชื้อ 0.74% จากนักเรียนทั้งหมด 253,515 คน
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่การป้องกันตนเองจากโควิด-19 ยังคงต้องมีความเข้มงวด และปฏิบัติตนตามมาตรการต่างๆ เช่นเดิม ได้แก่
1.เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
2.สวมหน้ากากอนามัย
3.ล้างมือบ่อยๆ ด้วย สบู่ หรือ แอลกอฮอล์
4.ตรวจคัดกรองตนเองด้วยชุด ATK
5.หลีกเลี่ยงสถานที่ความแออัด
6.ทำความสะอาดเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า ของใช้ หรือบริเวณ
7.กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) ควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม 4 เพื่อลดความรุนแรงของโรค และงดการทำกิจกรรมนอกบ้านที่มีความเสี่ยง
8.แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้รวมกับผู้อื่น
9.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง
10.แยกตัวจากผู้อื่นหากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และตรวจ ATK เพื่อคัดกรองตนเอง
สำหรับคนที่กังวลว่าการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยต้องเดินถอยหลังกลับไปสู่การนับหนึ่งใหม่หรือไม่ จากข้อมูลล่าสุดที่เขียนโดย นายแพทย์มนูญ สีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้ความคิดเห็นไว้ว่า “การระบาดรอบนี้ น่าจะเป็นการระบาดรอบใหญ่ เหมือนช่วงเดือนมีนาคมที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1, BA.2 ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้กำลังเพิ่มเป็นทวีคูณ และจากนี้ไปไม่นานจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ เชื้อไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดขณะนี้ กำลังเปลี่ยนเป็น BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ติดต่อกันง่ายที่สุด และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าทุกสายพันธ์ุเดิม ไม่ว่าจากการได้รับวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้คนที่ได้รับวัคซีนไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ติดเชื้อรอบนี้ และคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วติดซ้ำอีก จำนวนคน 2 กลุ่มนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับคนเริ่มผ่อนคลาย เหนื่อยล้ากับการป้องกันตัวเอง มีกิจกรรมพบปะกันมากขึ้น มีการเดินทางมากขึ้น มีวันหยุดยาว ทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปทั่วประเทศได้เร็วขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดของกระทรวงสาธารณสุขต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะรายงานเฉพาะผลตรวจ RT-PCR ขอให้ดูตัวเลขของผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก แนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้นแน่นอน”
ตัวอย่างการแพร่ระบาดที่น่าสนใจ คือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่พบจำนวนเด็กนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ติดเชื้อสะสมสูงถึง 688 ราย ทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนไปเป็รการเรียนออนไลน์ทุกระดับชั้น ทุกหลักสูตรแทน เพื่อให้นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องได้สังเกตอาการ
(ข้อมูลอ้างอิง)
- นายแพทย์มนูญ สีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0SSdJFZ9hxYGpZGsGavkhfcFFhdV849MRMhVmZu8UeSZMaJzL2hHowigYS5eRPrPXl&id=100066692243273
- อ่าน 2,767 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้