• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ไว้ปลอดภัยจาก COVID-19 ก่อนเดินทางไกลช่วงหยุดยาว

เดือนกรกฎาคม ปี 2565 ถือว่าเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องมากที่สุดของปีนี้ ทำให้มีการเดินทางออกไปต่างจังหวัดของประชาชนจำนวนมาก ภายใต้การกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 ที่ทั้งรุนแรง และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 BA.2 ที่เราเคยเจอมา แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐจะมีการผ่อนปรนมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แต่ตัวเลขที่มีการรายงานก็ยังถือว่าต่ำกว่าความเป็นจริงมากอยู่ดี
 
มูลนิธิหมอชาวบ้าน ในฐานะองค์กรด้านสุขภาพ ที่ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองใบเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาล ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้ทุกคนเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น
 
1.เตรียมความพร้อมก่อน และระหว่างเดินทาง แบ่งได้เป็น 3 กรณี            
1.1 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ควรปฏิบัติตน ดังนี้ 
ปัจจุบันการเดินทางข้ามจังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นกว่าเดิมทั่วประเทศแล้ว จากที่เมื่อก่อนต้องเตรียมเอกสารรับรองมากมาย เช่น เอกสารยืนยันการเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์, ผลตรวจ ATK หรือ ผลตรวจ RT-PCR ที่ได้รับการรับรองจากสถานพยาบาล ถึงจะเดินทางเข้าจังหวัดได้ แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มาตรการต่างๆที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้ ก็ปรับความมเข้มงวดลง เหลือเพียงแต่การเฝ้าระวัง และควบคุมการเปิดสถานประกอบการ ให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะตามสถานที่จัดกิจกรรมที่มีการรวกลุ่มของประชาชนอยู่หนาแน่น
 
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องเดินทางไกล ให้ปฏิบัติตน ดังนี้
1.ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ หรือสบู่เหลวสำหรับล้างมือ ทั้งก่อนและหลังแวะรับประทานอาหาร
2.เลี่ยงจุดสัมผัสร่วม
3.เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหารเท่านั้น เมื่อทานเสร็จแล้วให้สวมหน้ากากอนามัยกลับไปตามเดิม
4.สวมหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน้ากากผ้ารวมกันเป็นสองชั้น เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.หากรับประทานอาหารในรถยนต์ ควรเปิดกระจกรถยนต์เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
 
1.2 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
1.คัดกรองตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก ให้งดเดินทาง/กักตัวที่บ้าน ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ากระบวนการรักษาตามสิทธิของตัวเองต่อไป 
2.รักษาระยะห่างกับผู้อื่น 1 – 2 เมตร เสมอ 
3.ล้างมือด้วยสบู่ /เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บ่อยๆ
4.เลี่ยงจุดสัมผัสร่วมบนรถโดยสารสาธารณะ
5.สวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าร่วมกันสองชั้น
6.เมื่อรถจอดแวะยังจุดพักรับประทานอาหารให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อน และหลังรับประทานอาหาร
7.ไม่เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำบนรถโดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
8.ใช้กระดาษทิชชู่แทนการสัมผัสด้วยมือ เมื่อต้องสัมผัสราวบันได หรือตัวปรับพนักพิง อย่าลืมทิ้งกระดาษทิชชู่ทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จแล้ว
 
1.3 กรณีเดินทางผ่านสายการบิน ควรปฏิบัติตน ดังนี้
สำหรับนักเดินทางที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป มีการรับมาตรการเข้าประเทศ 5 ข้อ ดังนี้
13.1 ยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อเข้าประเทศไทย
1.3.2 ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีผลตรวจ COVID-19 เพิ่มเติม หากมีอาการป่วย แนะนำให้ตรวจด้วย rapid Antigen Test (PRO-ATK) ซึ่งเป็นชุดตรวจ ATK ที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทางการแพทย์ตรวจให้เท่านั้น เพราะไม้สว๊อปยาวกว่า และมีปริมาณน้ำยาที่มากกว่า
1.3.3 ผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ไม่ครบโดส คือ ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (Booster dose) หลังฉีดไป 2 เข็มแรก จะต้องมีผลตรวจ PRO-ATK หรือ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เพื่อที่จะสามารถเข้าประเทศได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน
1.3.4 สายการบินจะต้องตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารระหว่างประเทศว่ามีเอกสารการรับวัคซีน หรือผลการตรวจ PRO-ATK หรือผลการตรวจ RT-PCR หรือไม่ หากผู้โดยสารไม่มีเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค
1.3.5 สำหรับสายการบินต่างชาติ สามารถส่งเอกสารรับรองลูกเรือว่าเป็นไปตามข้อกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกเรือ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคอาจตรวจสอบเอกสารอีกครั้งหนึ่ง
 
ลำดับต่อไป คือ วิธีป้องกันตัวเองจาก COVID-19 บนเครื่องบิน สิ่งที่ต้องรู้คือจุดเสี่ยงบนเครื่องบินที่อาจจะเกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือเกิดการแพร่กระจายของโรคได้ ดังนี้
- ห้องน้ำบนเครื่องบิน หนึ่งในพื้นที่ ที่เกิดการสะสมของเชิ้อโรคมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นการเดินทางระยะสั้น ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ แต่ถึงตัวเราไม่ได้ใช้ก็อาจจำเป็นต้องพาคนในครอบครัวไปใช้บริการ เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ คำแนะนำ คือ ควรใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ที่เตรียมมาพ่นและเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนใช้งานทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาล้างมือ หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว
- ที่นั่งริมทางเดิน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงว่ามีความเสี่ยงอย่างไร แต่อย่าลืมว่าที่นั่งริมทางเดินนั้น มีโอกาสต้องเจอกับผู้โดยสารคนอื่น ทั้งก่อนขึ้นบิน และระหว่างทำการบินเช่นกัน ดังนั้น เมื่อต้องเลือกที่นั่ง หากทำได้ ควรเลี่ยงที่นั่งริมทางเดินไว้ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำให้สวม FaceShield อีกชั้นหนึ่ง และพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด
- เข็มขัดนิรภัย อีกหนึ่งจุดสัมผัสร่วมที่ต้องระวังการสัมผัส เมื่อต้องจับ หรือสัมผัสตามมาตรการความปลอดภัยทางอากาศยาน ควรล้างมือด้วยเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้ง
- ถาดอาหาร ถึงแม้ว่าการเดินทางในประเทศจะใช้เวลาไม่นาน และสายการบินอาจจะไม่ได้เสิร์จน้ำ หรืออาหาร ระหว่างการเดินทาง แต่หากเราหรือคนในครอบครัว สั่งอาหารหรือน้ำดื่มมารับประทาน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมผัสกับถาดวางอาหารคำแนะนำ คือ ฉีดพ่นด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
 
ข้อที่ควรระวังเกี่ยวกับของใช้ที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นเครื่องบิน ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรียนแห่งประเทศไทย ดังนี้
- กรณีกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง : การพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ขึ้นเครื่องบิน บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุ  ไม่เกิน 350 มิลลิลิตร (12 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
- กรณีกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง : บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุไม่เกิน 500 มิลลิลิตร (17 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 2,000 มิลลิลิตร
 
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับคนที่เดินทางกลับมาแล้ว ตรวจพบว่าติดเชื้อ 
1.สังเกตอาการของตนเอง เช่น อาการคัดจมูก เจ็บคอ ไอ รับประทานยารักษาตามอาการ
2.นำยาที่เตรียมไว้ หรือจัดหายามารักษาตามอาการ โดยเฉพาะยาฟ้าทะลายโจร ควรซื้อติดบ้านไว้ ระหว่างรอรับยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสถานพยาบาลที่ติดต่อได้
3.กักตัวในที่อยู่อาศัย เป็นระยะเวลา 10 วัน ไม่ออกไปทำกิจกรรมข้างนอก หากมีเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดอ็อกซิเจน ให้ใช้ตรวจวัดอาการของตัวเองอยู่สมอ 
4.แยกขยะของตัวเองใส่ไว้ในถุงขยะติดเชื้อ เขียนป้ายกำกับให้ชัดเจน และแจ้งหน่วยงานบริการใกล้บ้านให้นำขยะติดเชื้อไปกำจัดตามกระบวนการต่อไป
5.ตรวจคัดกรองด้วย ATK วันที่ 3,5,7 และ 10 เพื่อเช็คผลว่ายังเป็นบวกอยู่หรือไม่ ในกรณีที่กักตัวจนครบ 10 วัน แล้ว แต่ผลยังขึ้นบวกอยู่ ถือว่าเป็น “เชื้อตาย” ที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายของผู้ป่วย
 

ข้อมูลสื่อ

0702
นิตยสารหมอชาวบ้าน 08
กรกฎาคม 2565
รายงานพิเศษ