หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มต้นใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือธุรกิจท่องเที่ยว ที่ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งจำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศ ทำให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี ลดลงอย่างมหาศาล และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่งกลับมาได้เพียง 40% – 50% หลังจากรัฐบาลประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ที่ผ่านมา
ปีนี้ 2566 หลังจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศนโยบายเปิดประเทศผ่อนคลายการเดินทางเข้าและออกจากประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 8 มกรราคม 2566 เป็นต้นไป ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ขานรับข่าวดีการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในข่าวดีก็มีข่าวที่เราต้องควรระวัง และทำความเข้าใจเช่นกัน
และหนึ่งในข่าวที่ควรระวัง และทำความเข้าใจของการเปิดรับนักท่องเที่ยวครั้งใหญ่ในต้นปีนี้ ก็คือโอกาสที่จะกลับมาเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19 เพราะประเทศไทย ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ครองอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวในไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายจึงออกมาแสดงความกังวลถึงนโยบายการเปิดประเทศในครั้งนี้ จึงนำไปสู่มาตรการด้านสาธารณสุขที่ออกมาได้ ดังนี้
1.มาตรการด้านสาธารณสุข
1.1 นักท่องเที่ยวต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม ก่อนเดินทางเข้าประเทศ
1.2 หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทาง และรักษาให้หายก่อน
1.3 หากประเทศต้นทางมีข้อกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนกลับ เข้าประเทศ นักท่องเที่ยวต้องซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด-19
2.มาตรการขณะพำนักในประเทศไทย
2.1 นักท่องเที่ยวต้องป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ และระหว่างการเดินทางโดยการโดยสารขนส่งสาธารณะ
2.2 หากมีอาการป่วยที่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองตนเองด้วย ATK หากมีอาการรุนแรงต้องไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
2.3 เข้าพักในโรงแรมที่ผ่านการรับรอง และมีเครื่องหมาย SHA+ ที่มีบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำหรับคำแนะนำต่อประชาชนทั่วไป ในสถานการณ์ที่การท่องเที่ยวกำลังกลับมาในต้นปี 2566 คือ การเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบอย่างน้อย 4 เข็ม ห่างกัน 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว สตรีตั้งครรภ์ และเด็ก ซึ่งในปี 2566 มีจุดฉีดวัคซีนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งแบบจองผ่านระบบออนไลน์ และ Walk in ดังนี้
1) ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครน (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ให้บริการเฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
2) ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ให้บริการทุกวันพุธ และวันศุกร์ ระหว่างเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฯ 51 เขตจตุจักร, ศูนย์ฯ 38 เขตดุสิต, ศูนย์ฯ 21 เขตวัฒนา, ศูนย์ฯ 43 เขตมีนบุรี, ศูนย์ฯ 29 เขตจอมทอง และศูนย์ฯ 40 เขตบางแค
3) โรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ที่แผนกฉุกเฉิน (ER) ชั้น 1 ให้บริการทุกวันอังคาร เริ่มตั้งแต่วันอังคารที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ระหว่างเวลา 13.00 - 15.00 น.
4) ศูนย์ฉีดวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2566 ระหว่างเวลา 09.00 – 14.00 น. เป็นต้นไป
สุดท้ายนี้ เราต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ต้องกลับมา และหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือหาข้อมูลในการป้องกันตนเอง ไม่ตื่นตระหนกไปกับข่าวสาร และตระหนักไว้เสมอว่า ถึงแม้เราจะฉีดวัคซีนครบ 4 เข็มแล้ว แต่ก็ยังต้องระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ ดังนี้
1.ล้างมือบ่อย ๆ
2.สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
3.เว้นระยะห่าง
4.ไม่เอามือมาสัมผัสตา จมูก หรือปาก เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
5.สำหรับใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่าลืมหาเวลาว่าง เดินทางไปยังจุดฉีดวัคซีนเพื่อเข้ารับบริการทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง และบุคคลใกล้ชิดให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการรับเชื้อโควิด-19
- อ่าน 2,563 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้