• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 8 หลัง (ต่อ)

หลังเป็นส่วนที่พ้นจากหัวไหล่ลงมาจนถึงบั้นเอว โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอนด้วยกัน คือช่วงบนนับจากหัวไหล่ลงมาถึงสะบัก เรียกว่าหลังตอนบน ส่วนหลังตอนล่างนับจากสะบักลงมาจนถึงเอวหรือกระดูกสันหลังข้อที่ 17 ซึ่งเป็นกระดูกข้อสุดท้ายซึ่งตั้งอยู่บนกระดูกเชิงกราน หรือที่เรียกว่ากระเบนเหน็บ

คนส่วนมากมักจะไม่ค่อยสนใจหลังของตนเท่าไร จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งท่านอาจจะร้องว่า
โอ๊ย!!! ปวดหลังจังเลย
ทำไมจึงต้องเป็นเรา?

การปวดหลังเป็นอาการของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่เลือกเพศเลือกชั้น คนรวยที่มีฐานะยิ่งดีเท่าไรก็จะพบว่าเป็นโรคปวดหลังตามฐานะได้ สาเหตุเกิดจากฐานะดีไม่ต้องทำงานอะไร ได้แต่กินแล้วนอน บางคนแทบจะไม่ต้องขยับตัวเสียด้วยซ้ำ ผิดกับคนที่มีฐานะปานกลางหรือต่ำที่ต้องขวนขวายหาอาชีพ ต้องทำงานเพื่อตนเองและครอบครัว ต้องทำงานทั้งวันมีการออกกำลัง ออกแรง ได้เปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลาและอย่างสม่ำเสมอจึงมีอาการปวดหลังบ้างแต่น้อยกว่าคนมีฐานะดี

การที่ท่านจะมีหลังหรือแผ่นหลังที่แข็งแรงปราศจากอาการเจ็บปวดทั้งปวงนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวของท่านเองเท่านั้น และท่านจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตัวโดยจะต้องรู้จักรักษาอิริยาบถหรือท่าของร่างกายในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียดที่หลัง ควรหมั่นออกกำลังกายทุกวันเพื่อบริหารกล้ามเนื้อที่ยึดและพยุงกระดูกสันหลังให้แข็งแรงอยู่เสมอ

คนอ้วนมักจะประสบกับปัญหาปวดหลังมากกว่าคนผอม เพราะคนอ้วนมีน้ำหนักมาก หลังจึงต้องรับน้ำหนักมาก การยืนในลักษณะท่าทางที่ไม่ดี เช่น เดินหลังค่อม หรือหลังแอ่น การแบกของหนักๆ ด้วยหลังเป็นการใช้หลังทำงานมากเกินไป อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นที่หลัง กระดูกสันหลังหรือบริเวณใกล้เคียง หรือสุขภาพทรุดโทรมตามสังขารที่ร่วงโรยลงไปตามวัย ถ้าหากเกิดอาการปวดหลังด้วยอาการปวดเล็กน้อยก็ควรจะทำการรักษาให้หาย อย่าปล่อยทิ้งไว้หรือซื้อยาชุดแก้ปวดหลังมากินเองเพราะจะทำให้อาการปวดหลังกลายเป็นเรื้อรังยากต่อการรักษา

สาเหตุของการปวดอาจจะเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้คือ
1. อิริยาบถหรือท่าที่ไม่ถูกต้องของการทำงาน การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คนที่มีร่างกายอ้วนเกินไปเหล่านี้ล้วนเป็นศัตรูที่สำคัญต่อหลังของท่าน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่อ้วนมากๆ พุงยื่น กล้ามเนื้อท้องอ่อนกำลังทำให้หลังต้องทำงานมากขึ้น อาการปวดหลังก็จะปวดมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตัวเองให้ถูกอิริยาบถในการทำงาน หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารร่างกายโดยเฉพาะหน้าท้อง

2. หลังเคล็ดหรือยอก
เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหลังหรือเอ็นข้อต่อถูกยืดหรือออกแรงมากเกินไป ส่วนมากจะพบได้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การก้มตัวลงยกของหนักๆ ในขณะที่ยกของหนักๆ แล้วหันหลังหรือเอี้ยวตัวอย่างกะทันหัน อันตรายจากการเล่นกีฬามากเกินไป หรืออุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ

3. อารมณ์ตึงเครียด ในชีวิตแต่ละวันของคนเรานั้นมักจะมีปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อยู่เสมอ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงกล้ามเนื้อหลัง ทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจะทำให้ปวดหลังได้

4. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักจะพบเสมอในผู้ที่ก้มตัวยกของหนักมากเกินไป

5. การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังเคลื่อน มักจะพบเสมอในผู้ที่ก้มตัวยกของหนัก

6. การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง สังขารร่างกายของคนเราเป็นสิ่งไม่แน่นอน จะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา ร่างกายของเราก็จะต้องเสื่อมสภาพไปตามวัยด้วย มักจะพบเห็นอยู่เสมอว่าคนที่มีอายุมากๆ มักจะเกิดอาการปวดหลังมากตามอายุ หากได้มีการนวดบีบกันบ้างก็จะทำให้อาการปวดหลังค่อยทุเลา แต่จะให้หายขาดนั้นย่อมจะเป็นไปไม่ได้

7. สาเหตุอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนน้อยของการปวดหลัง เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในบางอย่าง เช่น โรคไต โรคกระเพาะ มดลูกอักเสบ ต่อมลูกหมากโต หรือคนที่มีโครงสร้างกระดูกสันหลังพิการมาแต่กำเนิด

สาเหตุของการปวดหลัง มักจะพบเห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะพบได้จากบุคคลที่มีอาชีพในการแบกหาม หรือกรรมกร หรือคนที่ต้องทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งทำงาน การยืน การเดิน หรือนักกีฬา หรือคนที่ต้องทำงานใช้สมองมากๆก็จะเกิดความเครียด ซึ่งจะมีผลถึงกล้ามเนื้อหลังทำให้ปวดหลังได้ หรือเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยที่หลัง ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ จะทำให้ปวดหลังได้

การรักษาควรจะได้รับการนวดโดยหมอนวดที่ชำนาญ โดยให้นวดตามแนวกระดูกสันหลัง โดยการกดที่กล้ามเนื้อซึ่งอยู่ห่างจากกระดูกสันหลังประมาณ 1 นิ้วมือ โดยเริ่มกดที่จุดแรกตรงบริเวณบั้นเอว แล้วไล่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงสะบัก โดยให้กดจุดแต่ละจุดให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาที โดยกดจุดประมาณ 5-10 จุด ให้กดที่แนวกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลังทั้งซ้ายและขวาสลับกัน 3-5 ครั้ง หลังจากนวดแล้วควรจะหาผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นจัดๆ ประคบบริเวณที่นวดเพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวกและเป็นการคลายเครียดของกล้ามเนื้อ ทั้งยังช่วยลดอาการปวดหลังได้อีกด้วย

อาการปวดหลัง นอกจากจะให้ผู้อื่นนวดแก้ปวดแล้ว ท่านยังอาจจะปฏิบัติให้ตนเองเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง หรือคลายอาการปวดหลังด้วยตัวของท่านเองได้อีกด้วย โดยให้ท่านปฏิบัติดังนี้ ตามรูป
 


    ท่าที่ 1 เข่าจรดอก
    เพื่อยืดกล้ามเนื้อหลัง
    1. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง
    2. งอเข่าขวามาจรดอก (เอามือโน้มเข่ามาชิดอก)
    3. เกร็งไว้นับ 1 ถึง 5 ช้าๆ แล้วปล่อย
    4. ทำ 5 ครั้ง
    5. งอเข่าซ้ายมาชิดอก ทำเช่นเดียวกันกับเข่าขวา
    6. งอเข่าสองข้างมาจรดอกพร้อมกัน นับ 1 ถึง 5 ช้าๆแล้วปล่อย ทำซ้ำ 
         5 ครั้ง




ท่าที่ 2 กดสะโพก

เพื่อลดการแอ่นของหลังบริเวณบั้นเอว
1. นอนหงายชันเข่าสองข้าง
2. เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง และสะโพก (ขมิบก้น-แขม่วท้อง)        
กดหลังและสะโพกให้ติดพื้น
3. เกร็งไว้นับ 1 ถึง 5 ช้าๆ แล้วพัก
4. ทำซ้ำ 5 ครั้ง



    ท่าที่ 3 ยกขาข้างเดียว

    เพื่อยึดกล้ามเนื้อด้านหลังขา
    1.  นอนหลายชันเข่าซ้าย
    2. ค่อยๆยกขาขวาเข่าเหยียดตรงขึ้นอย่างช้าๆให้สูงที่สุด เท่าที่ท่าน
         จะยกได้
    3. เกร็งไว้นับ 1 ถึง 5 ช้าๆ แล้วปล่อยกลับที่เดิม
    4. ทำซ้ำ 5 ครั้ง
    5. ทำขาซ้ายเช่นเดียวกันกับขาขวา
    *อย่ายกขาโดยเหวี่ยงขึ้นมาเร็วๆหรือใช้มือช่วยยก


ท่าที่ 4 จมูกสัมผัสเข่า
เพื่อยึดกล้ามเนื้อสะโพกหลังและเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง
1. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง
2. ยกเข่าซ้ายขึ้นมาช้าๆ
3. ใช้มือทั้งสองดึงเข่ามาที่หน้าอก
4. ยกศรีาะและไหล่เพื่อเอาจมูกมาชนเข่า
5. เกร็งไว้ นับ 1 ถึง 5 ช้าๆ แล้วปล่อย
6. ทำ 5 ครั้ง
7. ทำขาขวาเช่นเดียวกันกับขาซ้าย



    ท่าที่ 5 ครึ่งนั่ง
    เพื่อเพิ่มกำลังกล้มเนื้อหน้าท้องและหลัง
    1. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง
    2. ยกศรีษะและไหล่ขึ้น ยื่นมือทั้งสองไปวางบนเข่า
    3. เกร็งไว้ นับ 1 ถึง 5 ช้าๆ แล้วปล่อยทำ 5 ครั้ง




ท่าที่ 6 ยืดกล้ามเนื้อ

เพื่อยืดกล้ามเนื้อด้านหลังขา
1. นั่งเหยียดเข่าซ้าย พับเข่าขวา
2. โน้มตัวเอาปลายนิ้วมือไปแตะปลายนิ้วเท้าชิดๆ ค้างไว้ นับ 1 ถึง 5 พักทำ 5 ครั้งแล้วสลับทำขาอีกข้าง





    ท่าที่ 7 ไขว้ขา

    ท่านี้เป็นท่าที่ก้าวหน้า ต้องระมัดระวังอาจทำให้เกิดปวดหลังได้
    1. นอนหงายงอเข่ายกขาสองข้างขึ้นสูงหลังแนบพื้น
    2. สลับขาที่เหยียดตรงไขว้กันไปมา 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นยก
         ขาขึ้นลงตรงๆ สลับกัน 10 ครั้ง
    3. จากนั้นค่อยๆงอเข่าทั้งสอง เอาเท้าวางที่พื้น ระวังอย่าให้หลัง
         แอ่นแล้วทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง



ท่าที่ 8 ยกขาไปข้างหลัง

ต้องระวังเหมือนท่าที่ 7 เป็นการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อสะโพก และหลัง
1. นอนคว่ำ
2. ยกขาซ้าย ที่เข่าเหยียดตรงขึ้นลงอย่างช้าๆ
3. ทำ 5 ครั้ง สลับทำขาขวา (ระวังอย่ายกสะโพก หรือไม่ยกขาสูงเกินไปจนหลังแอ่น) 

ข้อมูลสื่อ

97-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์