• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาษาสุขภาพ

เมื่อกลางเดือนมีนาคมศกนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษของนางเอกชื่อดัง จารุณี สุขสวัสดิ์ ด้วยการกินน้ำแร่ไอโอดีน 131 แล้วเกิดผลข้างเคียงทำให้มีอาการบวม ซึ่งเป็นผลมาจากสารนี้กดการทำงานของต่อมธัยรอยด์มากเกินไป ทำให้ต่อมนี้ทำงานได้น้อยกว่าปกติ (ตรงกันข้ามกับโรคคอพอกเป็นพิษที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกินไป)

นางเอกของเราได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 26 มีนาคมนี้ว่า “แพทย์เมืองไทยยังคงรักษาคนไข้ในทางที่ตนถนัด ไม่ได้ร่วมมือกันรักษาเพื่อคนไข้อย่างจริงจัง อย่างหมอผ่าตัดก็จะพยายามให้คนไข้ผ่าอย่างเดียว ซึ่งจริงทานยาก็มีโอกาสหาย หรืออย่างแพทย์ที่ให้เปิ้ลกลืนรังสีนี้ก็มีความเชื่อในวิชาความสามารถ (ในทางถนัด) ของตนเอง จึงเกลี้ยกล่อมพูดถึงแต่สิ่งที่ดี บอกกับเปิ้ลว่าเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด หากบอกถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นว่ามีภัยอย่างนี้...เป็นตายก็ไม่ยอมกลืนหรอก”

นี่นับว่าเป็นอุทาหรณ์อันดีสำหรับเราทั้งแพทย์และคนไข้ว่า การรักษาโรคไม่ว่าวิธีใดก็ตามย่อมมีลักษณะสองด้าน (ทวิลักษณ์) คือมีทั้งคุณและโทษควบคู่กันไป โทษที่เกิดขึ้นเรานิยมเรียกว่า “โรคหมอทำ” “โรคยาทำ”

ฉบับนี้คุณหมอสาธิต วรรณแสงได้กล่าวถึงโรคคอพอกเป็นพิษและวิธีรักษาต่างๆ พร้อมทั้งแจกแจงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีรักษาแต่ละชนิดอย่างละเอียด ผลข้างเคียง (โรคหมอทำ โรคยาทำ) บางอย่างก็รุนแรงและถาวร บางอย่างก็เป็นเพียงเล็กน้อยและชั่วคราว
อย่างกรณีที่เกิดกับนางเอกชื่อดังของเราในครั้งนี้ ก็นับว่าโชคดีที่เป็นสิ่งที่สามารถปรับให้คืนสู่ภาวะปกติได้ไม่ยาก

แนวคิด(ปรัชญา)การสาธารณสุขมูลฐานข้อหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมของบุคคลหรือชุมชนในการแก้ไขปัญหาของตนเอง คือ ทำอย่างไรคนไข้ (ชาวบ้าน) จึงจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บทั้งในเรื่องของสาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน รวมทั้งรู้ถึงคุณค่าหรือประโยชน์และโทษหรือข้อจำกัดของเทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร (รวมทั้งปฏิเสธที่จะไม่รับการตรวจรักษาหากเห็นว่าอันตรายหรือไม่คุ้มค่า)
การสาธารณสุขมูลฐานจึงให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการให้การศึกษาแก่ประชาชนทั้งในด้านกว้าง(ผ่านทางสื่อมวลชน การโฆษณาเผยแพร่ต่างๆ) และด้านลึก (การอธิบายของแพทย์เมื่อตรวจคนไข้เป็นรายบุคคล การสอนในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน)

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสาธารณสุขนี้ ฝรั่งใช้คำว่า Health literacy ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำไทยๆว่า “ภาษาสุขภาพ” (ภาษามีคำแปลในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกความหมายหนึ่งว่า “มีความรู้ความเข้าใจ”)

การไม่รู้ภาษาสุขภาพทำให้ประชาชนไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ไม่ว่าคนมีหรือคนจนต่างได้รับความทุกข์ทั้งทางกายและใจอย่างมากมาย
จงมาร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด “ภาษาสุขภาพ” ในหมู่ประชาชนอย่างถ้วนหน้ากันเถอะครับ!

 

ข้อมูลสื่อ

98-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ