• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันถาวรเก็บไว้ชั่วชีวิต

“หมอครับ ช่วยถอนฟันให้ผมที มันปวด ทรมานผมเหลือเกิน”
ท่านที่เคยมีอาการปวดฟันจากฟันผุ ฟันโยก หรือโรคและความผิดปกติอื่นๆในช่องปาก อาจจะเคยพูดเช่นนี้ หรือคิดเช่นนี้บ้างใช่ไหม?
ในฐานะของทันตแพทย์จะต้องได้พบกับผู้ป่วยจำนวนมากที่มีความประสงค์ให้ถอนฟันดังกล่าว แม้จะได้อธิบายถึงประโยชน์ของฟันถาวรและฟันนั้นยังสามารถเก็บไว้ได้ ถ้าได้รับการรักษา บูรณะ แก้ไขส่วนบกพร่องให้ถูกต้อง ผู้ป่วยหลายท่านยังคงยืนยัน ต้องการถอนฟันมากกว่า

“ฟันถาวร” ชื่อก็บอกไว้ชัดเจนแล้วว่า “ถาวร” ซึ่งหมายถึงว่าคงทนอยู่ได้ตลอดไป ดังปรากฏว่าแม้เมื่อตายไปแล้ว ฟันเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่สามารถคงทนอยู่ได้เช่นเดียวกับกระดูก โดยจะพบว่าโครงกระดูกหรือกะโหลกศีรษะของคนโบราณที่ขุดพบ และทราบว่ามีอายุเก่าแก่หลายพันปีนั้น ส่วนของกระดูกและฟันก็ยังคงไม่เน่าหรือแตกสลายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในทางด้านวิชาการเป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนประกอบทางเคมีของเคลือบฟัน ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของตัวฟัน มีสารประกอบอนินทรีย์ประเภทแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมฟอสเฟต เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ และมีมากถึง 96% ในขณะที่กระดูกและเนื้อฟันมีส่วนประกอบประเภทแร่ธาตุอยู่เพียง 70% แร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตเหล่านี้เป็นสาเหตุให้กระดูกและฟันแข็งแกร่งคงทนถาวรตลอดไป และเป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณแร่ธาตุนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความแข็งแรงของฟันยิ่งกว่ากระดูกอีกด้วย

เนื่องจากฟันธรรมชาติของคนเรามี 2 ชุด คือ ฟันน้ำนม และ “ฟันถาวร” และโดยคุณสมบัติเฉพาะของฟันน้ำนมจะต้องหลุดไป เมื่อเด็กเจริญเติบโตและอายุมากขึ้น โดยจะค่อยๆหลุดไปเมื่ออายุ 6-12 ขวบ โดยเริ่มจากฟันน้ำนมหน้าล่างจนถึงฟันกรามน้ำนม ตามลำดับ เพื่อให้เป็นที่อยู่สำหรับ “ฟันถาวร” ซึ่งจะขึ้นมาทดแทนต่อไป นอกจากนี้ยังมีฟันกราม “ถาวร” ที่ขึ้นถัดต่อไปด้านหลังอีกจำนวนหนึ่ง

จากการที่ฟันน้ำนมหลุดออกไปตามธรรมชาติดังกล่าว อาจทำให้เข้าใจผิดว่า “ฟันถาวร” ก็จะต้องหลุดหรือสูญเสียไปตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้นหรือแก่ตัวขึ้น เช่นเดียวกับฟันน้ำนม

แท้ที่จริงแล้ว “ฟันถาวร” สามารถคงอยู่ ใช้งานในหน้าที่ต่างๆของฟันได้ชั่วชีวิต ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง


ยกเว้นฟันที่มีรูปร่างหรือการงอกผิดปกติ เช่น ฟันคุด ฟันชน ซึ่งไม่มีประโยชน์และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะฟันกรามซี่ที่ 3 หรือที่เรียกว่าฟันกรามซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปข้างในสุดของขากรรไกร และส่วนมากไม่ได้ทำหน้าที่เท่าที่ควร จึงเป็นฟันที่อนุโลมให้ถอนออกได้เพื่อเป็นการป้องกัน

“ฟันถาวร” ที่เหลืออีก 28 ซี่ เป็นฟันที่มีประโยชน์ในการทำหน้าที่ต่างๆกัน จึงไม่สมควรที่จะถูกถอนออกไป และต้องพยายามเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆที่สำคัญของร่างกาย

อุปมาเหมือน ถ้าเรามีแผลหรือหนองที่นิ้วหรือขา เราคงไม่ไปขอให้หมอตัดนิ้วหรือขาออกใช่ไหม? “ฟันถาวร” ก็เฉกเดียวกัน ถ้าฟันผุเป็นหนองที่ปลายรากฟัน หรือแม้แต่ฟันโยก ก็สามารถเก็บไว้ได้ ด้วยวิธีการรักษาที่ทันสมัยในวิชาการทันตแพทยศาสตร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้โรคในช่องปากส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ

หลายท่านคงจะนึกถึงฟันชุดที่ 3 หรือฟันปลอม โดยเข้าใจว่าสามารถใช้งานหรือทำหน้าที่ทดแทน “ฟันถาวร” ได้ ซึ่งถ้าจะเปรียบกับแขนเทียมขาเทียมในรายที่ต้องตัดแขน ขาอกก็คงจะไม่ผิดนัก และถ้าจะนึกถึงภาพของคนพิการที่ใช้อวัยวะเทียม ซึ่งความสะดวกสบายและความคล่องตัวในการใช้งาน ไม่อาจเทียมได้เลยกับของธรรมชาติ “ฟันถาวร” ก็เช่นเดียวกัน ต้องดีกว่าฟันปลอมแน่นอน เหมือนกับที่เราท่านคงจะชื่นชอบดอกไม้จริง มากกว่าดอกไม้พลาสติก และไม่ชอบ “ของปลอม” อื่นๆ

ข้อเสียประการสำคัญของฟันปลอมก็คือ ค่าใช้จ่ายในการทำฟันปลอมค่อนข้างสูงและสิ้นเปลือง นอกเหนือไปจากผลข้างเคียงจากการใช้ฟันปลอมอีกหลายประการ เช่น ฟันข้างเคียงสูญเสียชั้นเคลือบฟันที่แข็งแรง หรืออาจผุต่อได้ง่าย หรือมีเศษอาหารติด หรือเหงือกอักเสบ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และนำไปสู่การสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การเก็บรักษา “ฟันถาวร” ไว้ชั่วชีวิต มีหลักการเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลก่อนที่จะมีโรคหรือมีอาการ ซึ่งได้แก่ แนวทางทันตกรรมป้องกันต่างๆเช่น การใช้ฟลูออไรด์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเคลือบฟัน การแปรงฟันที่ถูกวิธีเพื่อความสะอาดของฟันและกระตุ้นเหงือก การลดความถี่บ่อยของการกินหรืออมรสหวาน เพื่อลดอาหารสำหรับเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากในการสร้างกรดมาลำลายฟัน การทำความสะอาดช่องปากด้วยวิธีการต่างๆ เช่น บ้วนปาก เพื่อลดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก การใช้ฟันทำงานให้ถูกหน้าที่ เพื่อลดการสึกกร่อนที่ไม่จำเป็น ฯลฯ

ขั้นต่อไป ถ้าปล่อยให้ฟันหรืออวัยวะรอบฟัน เช่น เหงือกมีแผลหรือโรคลุกลามแล้วก็ต้องได้รับการรักษาให้เหมาะสม เช่น ฟันผุก็อุดฟัน ถ้าเป็นมากจนทะลุโพรงประสาทฟันก็ต้องรักษารากฟันเพื่อเก็บฟันไว้ การครอบฟันถ้าฟันผุไปถึงหลายๆด้าน การรักษาโรคเหงือกอักเสบ เพื่อให้ยึดฟันได้แน่นหนา ไม่โยกคลอน ฯลฯ

แม้จะมีอาการเจ็บปวด จากโรคฟันหรือโรคในช่องปากอื่นใดก็ตาม ก็ยังมีวิธีการรักษาบรรเทาอาการได้นอกเหนือไปจากการถอนฟัน

จงมาช่วยกันสร้างทัศนคติใหม่ในการดูแลรักษา “ประตูแห่งสุขภาพ” อันได้แก่ ปากและฟันให้ได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม โดยยึดหลักการ การเก็บฟันถาวรไว้ใช้ชั่วชีวิต

ในปัจจุบันนี้ อายุเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวขึ้น แสดงถึงการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยดีขึ้นเป็นลำดับ ขอให้เรามาช่วยกันดูแลสุขภาพในช่องปาก เพื่อให้ชีวิตของ “ฟันถาวร” ยืนยาวขึ้นด้วยควบคู่ไปกับสุขภาพของร่างกาย และให้สมกับความหมายของคำว่า “ถาวร” ที่แท้จริงด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

98-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
อื่น ๆ
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช