• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเชื่อและการใช้ยาในการรักษาการอักเสบให้ถูกต้องจากการใช้ยาแก้อักเสบ

ถาม  เมื่อมีการอักเสบควรใช้ยาแก้อักเสบอย่างไร

"ยาแก้อักเสบ" จากคำถามของท่านผู้นี้ คงหมายถึง "ยาฆ่าเชื้อ-ที่ใช้รักษาการติดเชื้อ" เช่น คออักเสบ เจ็บคอ แผลอักเสบ เหงือกอักเสบ ฝี หนอง เป็นต้น ที่ประชาชนเรียกกันติดปากว่าเกิดจากการอักเสบ และจะต้องรักษาด้วยยาแก้อักเสบ ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกว่า "ยาปฏิชีวนะ" หรือ "ยาต้านแบคทีเรีย" ที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ยาแก้อักเสบในความหมายของประชาชน จึงเป็นความหมายเดียวกันกับยาต้านแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ ในทางการแพทย์ ในที่นี้จึงขอใช้ทั้ง 3 คำนี้ในความหมายเดียวกันทั้งหมด (และไม่ได้หมายถึงยาต้านอักเสบ ที่ใช้รักษาการอักเสบชนิดที่มีอาการ "บวม แดง ร้อน" ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตัวอย่างเช่น โรคข้อของกระดูกอักเสบ   โรคกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งเป็นการอักเสบชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อ และใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล)
 
ยาแก้อักเสบควรใช้เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้นดังนั้น จึงควรใช้ยาแก้อักเสบเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เท่านั้น เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดการติดเชื้อก็จริง แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น
โรคไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อจากไวรัส มักมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน มีน้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอได้

ตัวอย่าง
การเจ็บคอหรือคออักเสบในโรคหวัดนี้เป็นตัวอย่างของการอักเสบที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก็ไม่ควรใช้ยาต้านแบคทีเรีย ในทางปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยเป็นไข้หวัดและเจ็บคอไม่มาก ซึ่งพบได้บ่อย และยังพอกินอาหารได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ ควรปฏิบัติตัวโดยรักษาและใช้ยาตามอาการ ดื่มน้ำบ่อยๆ
และพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเชื้อไวรัสไข้หวัด ที่ไม่มียาที่รักษาต้านเชื้อนี้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ ในกรณีที่เป็นไข้หวัดแล้วมีอาการเจ็บคออย่างมาก ชนิดที่กินอาหารได้ลำบาก ในกรณีนี้อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้น้อย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้

การรักษาที่ถูกต้อง
นอกจากโรคไข้หวัดแล้ว ยังมีโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิด อื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น แผลมีดบาดเล็กๆ น้อยๆ ท้องเสียชนิดที่อาการดีขึ้นแล้ว หยุดถ่ายเอง และไม่มีอาการปวดท้อง เป็นต้น ในกรณีเหล่านี้อาจมีการติดเชื้อแต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของคนปกติจะสามารถจัดการรักษาให้หายเองได้

ควรเลือกใช้ยาแก้อักเสบอย่างไร

เนื่องจากยาแก้อักเสบมีหลายชนิดหลายกลุ่ม และมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียได้แตกต่างกัน ในที่นี้จึงขอแนะนำว่าควรเลือกใช้ยาแก้อักเสบที่ได้ผลดีมีความจำเพาะต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อแต่ละชนิดหรืออาจกล่าวได้ว่า ยาแก้อักเสบชนิดเดียวอาจไม่ได้ผลในการรักษา การติดเชื้อทุกชนิด จริงอยู่มียาแก้อักเสบหลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เตตรา-
ไซคลีน เป็นต้น แต่เนื่องจากมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ทั้งในกรณีที่มีการติดเชื้อและไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้ในปัจจุบันเชื้อหลายชนิดดื้อต่อยานี้แล้วกลับมาที่การใช้ยาในโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น คออักเสบ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ จะแนะนำให้ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน ในผู้ใหญ่จะใช้ในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ควรใช้ติดต่อกัน 5-7 วัน


แต่ในกรณีที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จะแนะนำให้ใช้ยาอีริโทรไมซิน ในผู้ใหญ่จะใช้ในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ติดต่อกัน 5-7 วัน เช่นกัน พร้อมกับการปฏิบัติตัวดูแลตนเองที่ดีด้วยการใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเกลือกลั้วคอ ดื่มน้ำบ่อยๆ และพักผ่อนให้เต็มที่
ในกรณีที่มีการติดเชื้อตามผิวหนัง เช่น แผลอักเสบ ฝี หนอง จะแนะนำให้ใช้ยาคล็อกซาซิลลิน ในผู้ใหญ่จะใช้ในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกัน 5-7 วัน แต่ในกรณีที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จะแนะนำให้ใช้ยาอีริโทรไมซิน ในผู้ใหญ่จะใช้ในขนาด 500 มิลลิกรัม  วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ติดต่อกัน 5-7 วัน เช่นกัน และจะต้องปฏิบัติตัวดูแลรักษาแผลให้ดี ด้วยการล้างแผลและทายาวันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ ในกรณีที่เป็นฝีใกล้สุก ควรใช้เข็มสะอาดบ่งเอาหนองออก เพื่อช่วยให้หายเร็วยิ่งขึ้น อีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุภาพสตรีคือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่เราเรียกกันว่า "ขัดเบา" จะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ถี่ๆ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะออกทีละน้อย หรือปัสสาวะไม่ออกเลย และมีปวดท้องน้อยร่วมด้วย ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน ในผู้ใหญ่จะใช้ในขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร เช้า เย็น ติดต่อกัน 3-5 วัน และเมื่อหายดีแล้วพยายามอย่ากลั้นปัสสาวะอีก เพราะอาจมีอาการใหม่ได้
 
การใช้ยาแก้อักเสบควรใช้ติดต่อกันให้ครบตามจำนวนที่สั่งจ่ายเท่านั้น นอกจากนี้การใช้ยาแก้อักเสบเพื่อรักษาการติดเชื้อควร ใช้ติดต่อกันให้ครบตามจำนวน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการฆ่าเชื้อให้หมดหรือเหลือน้อยที่สุด ที่จะไม่กลับมาเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน และแสดงอาการได้ใหม่ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ ๕-๗ วัน แต่ในโรคติดเชื้อบางชนิด อาจใช้น้อยกว่าหรือมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่ากำหนดหรือติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดผลเสียคือ เชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้น และต่อไปจะใช้ยานี้ไม่ได้ผลในการรักษา

การแพ้ยาแก้อักเสบเป็นอย่างไร

การแพ้ยาแก้อักเสบเป็นอาการแพ้ยาที่พบได้บ่อยที่สุด ยากลุ่มที่มีการแพ้ได้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิ-
ซิลลิน (penicillins)เช่น โปรเคน เพนิซิลลิน, เพนิซิลลินจี, เพนิซิลลิน 5 แสน, เพนิซิลลินวี, แอมพิซิลลิน และอะม็อกซีซิลลิน เป็นต้น

ส่วนยาที่ติดอันดับสอง ได้แก่ กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เช่น ซัลฟาไดอาซีน ซัลฟากัวนีดีน โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น

ยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่มีการใช้กันบ่อยๆ ในการติดเชื้อทั่วๆ ไป เมื่อแพ้ยามักมีอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคันตามเนื้อตามตัวคล้ายลมพิษ เป็นตุ่มเป็นปื้น เป็นตุ่มน้ำเหลือง เป็นแผลคล้ายแผลไฟไหม้ ในบางรายอาจมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก และในรายที่เป็นมากอาจช็อกและเสียชีวิตได้
ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา จึงควรหยุดยาทันที พร้อมทั้งรีบนำยาที่สงสัยนั้นกลับไปพบผู้สั่งจ่ายยา เพื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่า เป็นการแพ้ยาหรือไม่ ถ้าเป็นการแพ้ยาจริง จะได้แก้ไขปัญหาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นของท่านทันที

ในส่วนของตัวท่านควรสอบถามถึง "ชื่อตัวยาที่แพ้" และชื่อการค้าของยาที่ท่านแพ้ และจดบันทึกพกติดตัวไว้ เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้ยาในครั้งต่อไปอีก หรือเมื่อมีการซักถาม จะได้แจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหลีกเลี่ยงจากการแพ้ยานี้อีก อย่างไรก็ตาม หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหลีกเลี่ยงจากการแพ้ยานี้อีก อย่างไรก็ตามหากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ
 

ข้อมูลสื่อ

304-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 304
สิงหาคม 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด