บริหารข้อ (ตอนที่ 1)
ร่างกายของเรามีข้อต่อมากมายเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ลองนึกภาพดูว่าหากร่างกายเราไม่มีข้อต่อเลย มีแต่กระดูกแท่งตรงๆ เวลาเดินเราก็คงเดินเหมือนหุ่นยนต์ มือก็ใช้จับสิ่งของไม่ได้ ฯลฯ ดังนั้น ข้อ จึงเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญมากกับร่างกายของมนุษย์
ข้อ ที่ใช้มานานย่อมมีการเสื่อมตามอายุการใช้งาน หรือเกิดเจ็บปวดขึ้นได้เช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ เมื่อมีอาการปวดเมื่อยวิธีที่จะดูแลรักษามีทั้งใช้ยา(กิน ฉีด ทา) และไม่ใช้ยา (ประคบร้อน-เย็น นวด บริหาร ฝังเข็ม ฯลฯ)
แต่วิธีที่ดีกว่าการรักษาคือ การบริหารข้อให้แข็งแรงหรือการป้องกัน เพราะการบริหารจะเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พังผืดรอบข้อ และช่วยในการหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลือง นอกจากนี้การบริหารข้อยังใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดข้อที่เกิดขึ้นได้
ก่อนจะบริหารข้อควรรู้ถึงข้อบ่งชี้และข้อห้ามของการบริหาร
ข้อบ่งชี้ในการบริหาร
1. บริหารเพื่อเสริมความแข็งแรงทั่วไป โดยไม่มีอาการเจ็บปวดมาก่อน
2. บริหารหลังถอดเฝือก เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อต่อนั้นๆ และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและพังผืดรอบข้อ
3. บริหารร่วมกับการนวดในกรณีมีข้อแพลง เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง เร่งการสมานของพังผืดและเอ็น รวมทั้งป้องกันข้อติด
4. ในโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบจากโรคเกาต์ การบริหารจะป้องกันการเสื่อมของข้อ ลดการปวด อย่างไรก็ดี การบริหารในกลุ่มข้ออักเสบเรื้อรังเหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่หักโหม มิฉะนั้นอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนขึ้น
5. ข้ออักเสบติดเชื้อ หลังจากรักษาจนพ้นอาการเฉียบพลัน การบริหารจะช่วยการหมุนเวียนโลหิตให้ขจัดเชื้อได้เร็วขึ้น ป้องกันข้อติด
6. ปัญหาข้อติด ทั้งที่มาจากข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อแพลง ข้อเคลื่อนหรือกระดูกหัก การบริหารจะฟื้นฟูสมรรถภาพข้อให้เขาสู่สภาวะปกติ
ข้อห้ามสำหรับการบริหารข้อ
1. ในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่ข้อ มีอาการปวดบวมอย่างรุนแรง และยังไม่ได้หาหมอเพื่อตรวจและรักษา การบริหารอาจทำให้กระดูกที่หักหรือเคลื่อนไปทำอันตรายเนื้อเยื่อข้างเคียงได้
2. กรณีกระดูกหักหรือเคลื่อนขณะเข้าเฝือกอยู่ หรือรักษาด้วยวิธีอื่นที่ยังไม่ครบกำหนดตามที่หมอสั่ง การบริหารข้ออาจทำให้ข้อหรือกระดูกเคลื่อนไปจากเดิม
3. ข้ออักเสบเฉียบพลัน ปวดบวม ร้อนอย่างมากบริเวณข้อ การบริหารอาจทำให้การอักเสบยิ่งรุนแรงขึ้น
4. ผู้ป่วยที่กำลังมีไข้ ห้ามบริหาร
การปฏิบัติบริหารข้อเพื่อให้เกิดความแข็งแรงนั้นไม่ใช่วิธีที่จะได้ผลเร็วทันทีทันใด กว่าจะเห็นผลนั้นต้องผ่านการปฏิบัติไประยะหนึ่ง การบริหารเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยก็เช่นกัน ใช่ว่าบริหารปุ๊บจะหายปั๊บ
นอกจากนี้การปฏิบัติตามข้อห้ามข้อจำกัดต่างๆ จะเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับข้อได้
ข้อที่เราพบว่าเคลื่อนไหวบ่อยและมักจะพบปัญหาคือ ข้อต่อขากรรไกร คอ ไหล่ ข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อเข่า ฯลฯ
ฉบับนี้นำเสนอการบริหารข้อต่อขากรรไกร
ข้อต่อขากรรไกร เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้หลายทาง ช่วยในการอ้าปาก หุบปาก กัดอาหาร เคี้ยวอาหาร ปัญหาของข้อต่อขากรรไกรที่มักพบบ่อยคือ ข้อเคลื่อน ข้อหลุด หรือการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อต่อ การบริหารขากรรไกรจะเป็นการป้องกันและบำบัดอาการปวดได้
ก่อนบริหารควรทดสอบข้อต่อโดยการอ้าปากให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นให้เริ่มบริหารดังนี้
ท่าบริหาร
- ท่าที่ 1 ใช้ฟันคาบปากกา ค่อยๆออกแรงกัด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-5 แล้วปล่อย พักสัก 1-2 วินาที ปฏิบัติเช่นนี้ซ้ำอีก 5-1o ครั้ง คราวนี้ทดลองอ้าปากดูใหม่จะพบว่าอ้าปากได้กว้างกว่าเดิม
- ท่าที่ 2 อ้าปากแล้วค่อยๆหุบลง กัดฟันเบาๆ อ้าปากออกแล้วหุบลงกัดฟันให้แรงขึ้นเรื่อยๆ ปฏิบัติ 5-1o ครั้ง
ท่าบริหารขากรรไกรนี้สามารถปฏิบัติได้ทุกวัน อาจจะปฏิบัติก่อนนอนหรือตอนตื่นนอนก็ได้ ถ้ามีอาการปวดให้บริหารเริ่มแต่เบาๆ เมื่ออาการปวดลดลงจึงค่อยออกแรงกัดฟันมากขึ้นเป็นลำดับ
ข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่ข้อต่อขากรรไกรไม่แข็งแรงนัก
1. ไม่อ้าปากกว้างเกินไป เมื่อต้องการกัดอาหารหรือหาว
2. ไม่ขบกัดหรือเคี้ยวของแข็งมาก เช่น ผลฝรั่ง
3. ขณะเคี้ยวไม่โยกขากรรไกรไปมา
4. รักษาฟันให้อยู่ในสภาวะที่ดี ไม่ให้เกิดการอักเสบลุกลามไปถึงข้อต่อขากรรไกร
5. กินอาหารอ่อนขณะมีอาการปวดข้อต่อขากรรไกร
6. การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้อช่วยกระชับข้อต่อขากรรไกรได้วิธีหนึ่ง แต่ควรเคี้ยวในระยะสั้นๆ เพราะหากเคี้ยวนานเกินไปจะทำให้ข้อต่อขากรรไกรเมื่อยล้าและปวดได้
ฉบับหน้าพบกับการบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของคอ
(อ่านต่อฉบับหน้า)
************************************
- อ่าน 6,807 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้